ถ้าลูกของคุณอายุเกือบ 6 เดือนแล้ว แต่ยังมีท่าทีกลัวหรือถึงขนาดร้องไห้ เวลาเพื่อนแม่หรือญาติๆ ที่ไม่คุ้นหน้าจะมาขออุ้ม ขอกอดแสดงความเอ็นดู ทั้งที่ลูกของเพื่อนๆ เจอะเจอคนใหม่ๆ ที่ไม่รู้จักเข้ามาหาก็ไม่กลัว ไม่ร้องไห้
คุณสเตฟานี่ พาวเวอร์ส นักพัฒนาการเด็ก จากมูลนิธิซีโรทูทรี ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาการอย่างมีคุณภาพแก่เด็กทารกจนถึงวัยเตาะแตะ อธิบายว่า “อาการอย่างนี้เรียกว่าความกังวลต่อคนแปลกหน้า ทารกส่วนใหญ่จะเริ่มเรียนรู้การมีอยู่ของผู้คน ตอนอายุราว 4-6 เดือนเริ่มจากคนไม่กี่คนที่ดูแลเขานั่นเอง”
ดังนั้น อาการเบะหน้า ตั้งท่าจะร้องไห้ ไปจนถึงโวยวายของลูกน้อย เวลาคนไม่คุ้นเคยจะเข้ามากอดมาอุ้มหรือแสดงความเป็นมิตรจึงเป็นเรื่องธรรมดา ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกน้อยได้เริ่มเรียนรู้ การรู้จักคนใหม่ๆ รวมทั้งเรียนรู้การไว้วางใจคนที่ใกล้ชิดเขาที่สุดด้วย
จริงอยู่เวลาที่ลูกปฏิเสธการแสดงความรักหรือการชื่นชมของผู้อื่น อาจทำให้คุณรู้สึกกระอักกระอ่วนใจบ้าง ทว่าลูกน้อยก็ยังใหม่กับการเรียนรู้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีเทคนิคช่วยลูกบ้าง จะช่วยบรรเทาความกังวลของหนูน้อยได้ดีทีเดียว
1. ให้ลูกได้อยู่ใกล้ๆ คุณเพื่อความอุ่นใจ
ยามพ่อแม่คุยกับเพื่อนหรือญาติที่ลูกน้อยยังไม่คุ้น หากเขายังได้อยู่ใกล้พ่อแม่ ถือเป็นการเสริมความรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย จะช่วยให้เขายอมรับคู่สนทนาของพ่อแม่ได้มากขึ้น
2. ค่อยๆ รู้จักกันไป
สละเวลาสักนิดกระซิบเหล่าญาติ และมวลมิตร ให้อดใจอย่าเข้ามากอดหรืออุ้มแบบจู่โจม แต่ควรเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการทักทาย พูดคุย (ด้วยเสียงไม่ดังจนเกินไป) หรือหยิบยื่นของเล่นให้เขาบ้าง ขณะที่เขานั่งอยู่บนตักพ่อแม่ พอเขาเริ่มคุ้นแล้วจึงค่อยแสดงออกมากขึ้น
3. ให้เวลาลูกสร้างความคุ้นเคยกันบ้าง
เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว บางโอกาสคุณต้องฝากลูกน้อยไว้กับคนที่ลูกไม่คุ้นเคยชั่วครู่ ชั่วยาม ควรให้เวลาทั้งคู่ได้รู้จักกันพอสมควร โดยมีคุณอยู่ด้วยก่อนจะแยกออกไป
4. อย่าแอบหายไปเฉยๆ
แม้จะเห็นว่าลูกกำลังเข้ากันได้ดีกับคนใหม่ที่คุณกำลังจะฝากไว้ ถ้าคุณต้องแยกไปเดี๋ยวนั้นก็ควรบอกให้ลูกรู้ด้วย อย่าปล่อยให้เขามารู้สึกว่าคุณหายไปแล้วต้องร้องไห้หา เพราะลูกจะรู้สึกไม่วางใจและจะยิ่งติดคุณมากขึ้น
5. ต่างคนก็ต่างเวลา
เด็กแต่ละคนจะเผยให้เห็นอาการกังวล/กลัวคนแปลกหน้า ในช่วงวัยที่ต่างกันไปได้ อย่างมากที่สุด คือที่อายุประมาณขวบครึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่ให้โอกาสลูกได้เป็นอิสระ และเสริมความรู้สึกอุ่นใจยามจำเป็นด้วย หากทารกได้รับปัจจัยดังกล่าวอย่างพอเหมาะ ก็หวังใจได้ว่าลูกจะโตเป็นเจ้าหนูวัยเตาะแตะที่ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ได้อย่างมั่นใจ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง