AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เบบี๋สะอึก อันตรายไหม? แก้อย่างไรดี?


“ทารกสะอึก” จะเกิดตอนไหนไม่มีการบอกล่วงหน้า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่มีใครชอบอาการสะอึกหรอก ในเด็กเล็ก พอสะอึกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีอาการคล้ายสะดุ้ง หรือรู้สึกไม่สบายตัว  แต่ความเป็นจริง อาการสะอึกไม่ค่อยมีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ถ้าเกิดเขาหงุดหงิดจนต้องร้องไห้ไปสะอึกไป จะปล่อยทิ้งไว้ก็น่าสงสารอยู่ใช่ไหมล่ะคะ

สะอึก” เกิดจากอะไร?

อาการสะอึกเกิดจากการหดตัวแบบผิดจังหวะของกล้ามเนื้อกระบังลม (คืออวัยวะที่กั้นอยู่ระหว่างปอดกับช่องท้อง ทำหน้าที่ช่วยในการหายใจ) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เด็กทารกมักสะอึกบ่อยซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และมักเป็นหลังกินนมอิ่ม เนื่องจากกระเพาะอาหารของเด็กทารกอยู่ชิดกับกล้ามเนื้อกระบังลม เมื่อกระเพาะขยายขนาดจึงไปรบกวนการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อกระบังลมจนทำให้เกิดอาการสะอึก หรือเกิดตอนเด็กๆ กลืนนมเร็วเกินไปเพราะหิวจัด เลยได้อากาศเข้าไปเต็มๆ เป็นของแถมด้วย

อ่านต่อ “ลูกจะหายสะอึกเองได้ไหม” คลิกหน้า 2

ลูกจะหายสะอึกเองได้ไหม?

อาการสะอึกของลูกทารกส่วนใหญ่จะหายเอง (เหมือนการสะอึกตอนที่ยังอยู่ในท้องของคุณแม่) เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นหรืออายุเกิน 4-5 เดือนไปแล้ว จะไม่สะอึกบ่อยเท่ากับตอนแรกเกิด ดังนั้น หากลูกยังสะอึกบ่อย สะอึกนานผิดสังเกตและหยุดสะอึกยาก ควรพาลูกไปตรวจ เพราะอาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง เช่น

1. กล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ปกติ

2. ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลม เนื่องจากสมองอักเสบ มีเนื้องอกในสมอง หรือได้รับบาดเจ็บที่สมอง

3. ความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่ใกล้กล้ามเนื้อกระบังลม ซึ่งรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลม เช่น อวัยวะนั้นมีเนื้องอก ภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ การไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารไปที่หลอดอาหาร และภาวะหลอดอาหารอักเสบ

4. ความผิดปกติของเคมีในร่างกาย เช่น ได้รับแอลกอฮอล์เกินขนาด และภาวะไตวาย

5. มีสิ่งแปลกปลอมหรือแมลงอุดตันในช่องหู

อ่านต่อ “วิธีแก้สะอึกให้ลูกทารกแบบง่ายๆ” คลิกหน้า 3

วิธีการแก้สะอึกให้ลูกแบบง่ายๆ

1. ถ้าลูกเริ่มมีอาการตอนที่กำลังกินอยู่ คุณอาจลองป้อนอาหารให้เร็วขึ้นสักหน่อย จะได้ไม่มีลมเข้าท้องลูกมากนักขณะกำลังกินอาหาร

2. อุ้มลูกพาดบ่าเดินไปเดินมา เพื่อเร่งให้น้ำนมไหลออกจากกระเพาะอาหารเร็วขึ้น

3. ให้ลูกดูดนมแม่ต่ออีกนิดหรือให้ดูดน้ำ เพราะการดูดจะไปตัดวงจรการสะอึก ทำให้หยุดสะอึกเร็วขึ้น

4. แต่ถ้าสะอึกติดลมไปแล้ว มีวิธีบรรเทาอารมณ์หงุดหงิดรำคาญขณะรอให้หายสะอึกที่คุณอาจคิดไม่ถึงว่าจะช่วยได้ นั่นคือ การทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงลูกด้วยความอบอุ่นอ่อนโยน เช่น โอบกอด ลูบหลัง ค่อยๆ พูดคุย หรือไม่ก็พาเขาไปอาบน้ำอุ่นให้สบาย

 

เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ: Shutterstock