AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เบบี๋จะเริ่ม “มองตาม” เมื่อไหร่นะ?

ทารกวัยแรกเกิด-6 สัปดาห์ (1 เดือนครึ่ง) จะมองสิ่งรอบตัวโดยหันทั้งศีรษะ และชอบมองก็คือวัตถุที่มีสีสันสดใสหรือแสงจ้าๆ แต่พอถึงช่วงสัปดาห์ที่ 8-24 (2-6 เดือน) ทารกจะมองไปรอบๆ ห้องโดยกวาดตาจากซ้ายไปขวาและขยับศีรษะเล็กน้อย ดังนั้นในช่วงนี้ ถ้าคุณเอาเชือกมาผูกของเล่นและแกว่งไปมาช้าๆ ลูกวัยนี้ก็จะกวาดตามองตามได้โดยไม่ต้องขยับศีรษะเลย เพราะเขารู้จักมองตามคุณแล้วด้วย นั่นแปลว่าถ้าแอบเข้าไปดูในช่วงที่นอนกลางวันอยู่ เขาก็อาจจะตื่นมามองคุณและไม่ยอมนอนต่อ

อีกหนึ่งทักษะที่น่าทึ่งของลูกวัยนี้คือ การปกป้องตัวเองด้วยการหลับตา คือถ้าพี่วัยอนุบาลเผลอโยนตุ๊กตาใส่หน้า น้องวัยทารกจะป้องกันไม่ให้ตาเจ็บด้วยการรีบหลับตา เพราะเขายังไม่โตพอที่จะรู้จักเบนศีรษะหลบ

มองตามได้ ก็จดจำสิ่งต่างๆ ได้

เพราะลูกน้อยทารกยังไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามใจชอบ เขาจึงเรียนรู้จากสิ่งที่เคลื่อนเข้าหาหรือเคลื่อนออกจากตัว และทักษะในการมองตามช่วยให้เขาจดจำสิ่งต่างๆ ได้

ผลวิจัยชี้ว่าในระยะแรก ทารกจะไม่ค่อยมีทักษะในการมองตาม คือถึงเป้าหมายจะเคลื่อนไหวช้ามาก แต่ทารกวัยต่ำกว่า 2 เดือนก็มองตามแค่ชั่วครู่และมองตามได้สัก 90 องศาเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตอนอายุ 12 สัปดาห์ (3 เดือน) เป็นช่วงที่ทารกพัฒนาทักษะในการมองตามได้ค่อนข้างเร็ว จึงมองตามสิ่งที่อยู่เหนือศีรษะได้ถึง 180 องศา

ทักษะในการมองตามช่วยให้ทารกได้เรียนรู้ว่ากระทั่งตอนที่แสง ระยะห่างและมุมภาพเปลี่ยนไป รูปทรง ขนาดและสีของสิ่งต่างๆ ก็ยังคงเหมือนเดิม

นักวิจัยอยากรู้ด้วยว่าทารกจะมีปฏิกิริยาต่อวัตถุที่เคลื่อนมาตรงหน้าอย่างไร จึงสังเกตพฤติกรรมการหลับตาของทารกวัย 3-4 เดือน ต่อการเคลื่อนที่ 3 ลักษณะ (ทารก 1 คนต่อการเคลื่อนที่ 1 แบบ) ได้แก่ 1. วัตถุที่เคลื่อนเข้าหาตัวด้วยความเร็วคงที่ จากนั้นก็เคลื่อนมาตรงหน้าแบบทันทีทันใด 2. วัตถุที่เคลื่อนเข้าหาตัวอย่างรวดเร็ว แต่ชะลอเมื่อเคลื่อนมาตรงหน้า และ 3. วัตถุที่ปรับเปลี่ยนระดับความสว่างเมื่อเคลื่อนมาตรงหน้า

พฤติกรรมที่สังเกตได้คือ ทารกรีบหลับตาและขยับศีรษะก่อนที่วัตถุจะเคลื่อนมาชนหน้าเฉพาะในกรณีแรกเท่านั้น นั่นคือกรณีของวัตถุที่เคลื่อนเข้าหาตัวด้วยความเร็วคงที่ จากนั้นก็เคลื่อนมาตรงหน้าแบบทันทีทันใด นักวิจัยจึงสรุปว่านี่คือลักษณะการเคลื่อนไหวเดียวที่ทำให้ทารกรู้สึกว่าต้องป้องกันไม่ให้ตาเจ็บด้วยการรีบหลับตา

ส่งเสริมการมองต่อไป

ให้คุณกลิ้งลูกบอลไปในระยะที่ลูกมองเห็นและลาก/ไถของเล่นให้เคลื่อนไปช้าๆ พอที่ลูกจะมองเห็น แล้วคอยดูเขามองตาม และถึงคุณจะง่วนอยู่กับการทำอาหารเย็นจนเล่นด้วยไม่ได้ ลูกวัย 12-16 สัปดาห์ (3-4 เดือน) ก็สร้างความเพลิดเพลินได้ด้วยการมองมือและนิ้วที่ขยับไปมาของตัวเอง เพราะนี่คือช่วงวัยที่ทารกจะเริ่มพินิจพิจารณามือตัวเองแบบจริงๆ จังๆ

ลูกจะพัฒนาทักษะในการกะความลึกและระยะห่างระหว่างตัวเขาเองกับสิ่งของ (และคน) รอบตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวัย 4-6 เดือน เขาจึงคว้าของในระยะที่เอื้อมถึงได้

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง