การพลิกคว่ำพลิกหงายเป็นอีกพัฒนาการสำคัญของทารก เมื่อเบบี๋พลิกตัวได้เอง เขาจึงจะยันตัวขึ้นนั่งและการคลานได้ในขั้นต่อๆ ไป ดังนั้น เรามา ฝึกลูกพลิกคว่ำ พลิกหงายกันค่ะ
เบบี๋ตัวน้อยอยู่ๆ จะคว่ำหรือคืบเลยคงไม่ไหว ขั้นแรกขอเริ่มจากท่าพลิกตัวก่อน พอย่างเข้าเดือนที่ 2-3 จะเริ่มพลิกตัวจากท่านอนหงายเป็นตะแคงได้ แต่ต้องเป็นช่วงที่แม่มาเล่นหรือหอมที่ท้องลูก ซึ่งลูกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการขยับทำท่าเหมือนจะพลิกตัว และเริ่มโยกตัวไปมาพลางถีบเท้าแต่ยังไม่คว่ำ ต่อเมื่อลูกแข็งแรงพอ ท่าทางต่างๆ ที่ว่ามา จึงเป็นแรงส่งให้ลูกพลิกกายมาอยู่ในท่าคว่ำได้
ส่วนการพลิกตัวจากคว่ำมาหงาย ลูกจะทำได้เมื่ออายุราว 5 เดือน เพราะจำเป็นต้องใช้การประสานงานและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากขึ้น พอลูกทำได้อย่างนั้น ลูกจะรู้ว่าการพลิกหรือกลิ้งตัวเป็นวิธีทำให้เคลื่อนที่เร็วขึ้นและชอบทำบ่อยขึ้น
ทารกที่พลิกคว่ำพลิกหงายได้เอง กล้ามเนื้อหลังและแขนต้องแข็งแรงพอ เมื่อเขาพลิกตัวไปมาได้เพราะแขนและกล้ามเนื้อหลังแข็งแรงพอ เขาจึงจะยันตัวขึ้นนั่งและการคลานได้ในขั้นต่อๆ ไป ดังนั้น ถ้าลูกไม่พลิกคว่ำพลิกหงาย เขาก็จะไม่นั่งไม่คลาน!!
ลูกไม่พลิกคว่ำพลิกหงาย ทำไงดี?
แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด แนะนำการกระตุ้นพัฒนาการของลูก ทำได้โดยให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ การมอง การฟัง การดมกลิ่น การชิม และการสัมผัสทางผิวหนัง ผ่านการเล่น การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยง และการเลียนแบบ
การกระตุ้นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวอาจทำได้หลายอย่าง เช่น
-
จับลูกนอนคว่ำบนพื้น
โดยให้ลงน้ำหนักที่แขนวางม้วนผ้าเล็กๆ ไว้ใต้หน้าอกเพื่อช่วยหนุนให้ลูกแอ่นหน้าอกขึ้นได้ แล้วหาของเล่นมาเขย่าหรือล่อให้ลูกพยายามเอื้อมหยิบ หรือหากไม่ยอมนอนคว่ำเอง อาจให้นอนคว่ำบนตัวผู้ใหญ่ ลูกจะได้พยายามยกคอขึ้นเพื่อสบตาหรือคุยเล่นด้วย หรือกระตุ้นให้ลูกยกคอโดยลูบเบาๆ ที่คอและหลัง
-
ฝึกลูกพลิกคว่ำ
โดยเอาของเล่นมาล่อให้ลูกพยายามเอื้อมหยิบ แล้วช่วยจับแขนหรือขาไขว้ไปด้านข้าง การกลิ้งตัวลูกเล่นหรือโยกตัวลูกไปมาโดยจับที่แขนหรือขาลูก จะช่วยให้เขารับรู้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับการพลิกคว่ำ
-
เปลี่ยนตำแหน่งที่ใช้แขวนโมบายหรือของเล่น
ให้ลูกฝึกหันคอเพื่อมองหา หรือเปลี่ยนตำแหน่งการนอน ให้ลูกได้มีทัศนวิสัยที่แตกต่างกันไปบ้าง
-
ฝึกลูกนั่ง
โดยให้ลูกนั่งเล่นของเล่นที่อยู่ในถาดของเก้าอี้แบบมีที่กั้น ใช้หมอนหรือม้วนผ้าช่วยพยุงตัวให้นั่ง หรือให้นั่งบนตักของผู้ใหญ่แล้วเอาของเล่นมาล่อ และฝึกให้มองตามของเล่นในทุกทิศทาง
-
ฝึกลูกคลาน
โดยวางม้วนผ้าไว้ใต้ท้อง เพื่อให้ลูกงอสะโพกและขาเพื่อคลาน แล้วเอาของเล่นมาล่อหรือใช้มือลูบเบาๆ ที่หลังเพื่อให้เด็กขยับตัว
(บทความแนะนำ ช่วยฝึกลูกนั่ง คลาน ยืน เดิน อย่างถูกวิธี และไม่เร่งลูก)
สำหรับคุณแม่ที่เบบี๋เริ่มจะพลิกคว่ำพลิกหงายเองได้แล้ว คุณแม่อาจพบว่า เบบี๋หลายคนก็ร้องไห้โวยวาย เวลาอยู่ในท่านอนคว่ำ เพราะรู้สึกอึดอัด ขยับตัวก็ยาก ต้องใช้กำลังมากในการพยายามเคลื่อนไหว และที่สำคัญแทบมองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากพื้นตรงหน้า แต่ก็ไม่ต้องกังวลเกินไปค่ะ เพราะคุณช่วยให้การกระตุ้นพัฒนาการนี้สนุกได้จนลูกน้อยลืมความอึดอัด ไม่ชอบใจทั้งหลายทั้งปวงไปได้ ด้วย 5 เทคนิคต่อไปนี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “5 เทคนิคดี๊ดี…ช่วยให้เบบี๋สนุกกับการฝึกพลิกตัว” คลิกหน้า 2
5 วิธีช่วยให้เบบี๋สนุกกับการฝึกพลิกตัว
1. จัดที่ปลอดภัยเมื่อจะพลิกตัว และไม่ปล่อยเบบี๋ไว้คนเดียวเด็ดขาด เพราะอันตรายมากๆ แม้จะเป็นเบาะที่วางบนพื้น แต่เพราะเขายังไม่คล่องกับทักษะนี้ พอพลิกคว่ำไปแล้ว เกิดหน้าคว่ำไปกับฟูกแล้วพลิกหงายไม่ถูก ก็เกิดอันตรายได้ การพลิกคว่ำกันบนพื้นหรือบนเตียงที่มีพ่อแม่อยู่ด้วยถือว่าเหมาะที่สุด พ่อแม่จะคอยช่วยเชียร์ ทำหน้าตาตลกๆ หรือเล่นจ๊ะเอ๋ทำให้เบบี๋รู้สึกผ่อนคลายและไม่รู้สึกเหนื่อยอยู่คนเดียว ยิ่งถ้าพ่อแม่ทำท่าทางตามไปด้วย เบบี๋จะแฮปปี้มาก!
2. มา…หัดคว่ำบนพุงพ่อ พุงแม่นี่แหละให้ได้มองหน้ากันแบบชัดๆ หรือจะเล่นท่าขับเครื่องบิน พ่อแม่พับเข่าขึ้นมา แล้วให้เบบี๋นอนบนขาของคุณ รับรองเบบี๋ต้องเอิ๊กอ๊ากเพราะชอบมุมมองใหม่ตอนกำลังบินอยู่นั่นละ สบายตัวจัง!
3. หาของเล่นมาไว้ใกล้ตัวเบบี๋ เพื่อให้เขาอยากขยับตัวไปคว้ามาของเล่นนั้นมาให้ได้ จะเป็นกระจกเงา ผ้าหลากสี ของเล่นมีเสียง ของเล่นชิ้นโปรด ฯลฯ ช่วยให้การเคลื่อนไหวตัวมีจุดมุ่งหมายและสนุกมากขึ้น จนลืมว่าตัวเองกำลังนอนคว่ำที่แสนอึดอัด
(บทความแนะนำ กระจก … ช่วยกระตุ้นพัฒนาการสมองลูกน้อยได้!)
4. หัดคว่ำ หัดหงายให้ถูกเวลา เวลาที่อิ่มใหม่ๆ หิวมากเกินไป ตอนเหนื่อยล้า จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกอึดอัดมากกว่าเดิม พ่อแม่บางคนแนะนำว่าหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมเสร็จเป็นเวลาที่เหมาะเพราะลูกกำลังสบายตัว ยอมให้จับพลิกไปพลิกมาง่าย
5. มั่นใจว่าเบบี๋พลิกคว่ำพลิกหงายได้อย่างสบายตัว ทั้งผ้าปูพื้น ผ้าห่ม หรือหมอนที่พาลูกนอนคว่ำควรนิ่มสบายและสะอาด รวมถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย คุณแม่ท่านหนึ่งสังเกตว่าลูกจะไม่ร้องโวยวายเลยสักนิดตอนจับคว่ำจับหงาย ถ้าเขาไม่ต้องใส่ผ้าอ้อมที่รัดแน่น จุดสังเกตเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละ ที่คุณเท่านั้นจะช่วยเบบี๋ให้รู้สึกสนุกกับการพลิกตัวได้!
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
หุ่นมือถุงเท้า ของเล่นเด็กทารก ฝึกลูกทั้งฉลาดทั้งสนุก
14 วิธีทดสอบพัฒนาการลูก 1 เดือน – 5 ปี ว่าตรงตามวัยหรือไม่?
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่