จะลดการเกิดปัญหานี้อย่างไรดี ไปดูกันดีกว่า
ปรับเบาะนอนให้สูงขึ้น
รั้วกั้นสูงๆ อาจเป็นอุปสรรคต่อการวางลูกลงในเตียงคอกให้นุ่มนวล ดังนั้นถ้าคุณปรับระดับรั้วกั้นให้ต่ำลงก่อนได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าบังเอิญเตียงคอกที่คุณซื้อมาเลื่อนขึ้น – ลงไม่ได้ เราขอแนะนำให้คุณหาเบาะนอนมาซ้อนๆ กันให้สูงเข้าไว้ คุณจะได้ไม่ต้องเอื้อมสุดมือ (หรือไม่ก็ทำลูกหลุดมือเพราะแขนยื่นไม่ถึงเบาะ) เมื่อลูกโตพอที่จะลุกขึ้นมานั่งได้ ก็ค่อยลดระดับเบาะนอนลงไป เพื่อกันไม่ให้เขาตกลงมา
ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกที่กลับมาจากโรงพยาบาล คุณอาจใช้อย่างอื่นแทนเตียงคอกก่อนได้ เช่น เปลผ้า ซึ่งอุ้มลูกเข้า – ออกได้ง่ายกว่า แถมยังส่งต่อการเคลื่อนไหวจากแรงมือของคุณสู่แรงไกวของเปลแบบไม่ให้ลูกต้องสะดุดได้อีกด้วย
เคลียร์ทางเดิน
จริงอยู่ที่ว่า การให้ลูกนอนในห้องที่ไม่มีแสงรบกวนเป็นสิ่งดี แต่คุณต้องไม่ลืมว่า ความมืดสนิทก็อาจทำให้คุณสะดุดล้มได้เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าพื้นห้องมีของเล่นของลูกวางเกลื่อนกลาดอยู่ ฉะนั้นขอให้แน่ใจว่าละแวกนั้นมีไฟส่องสว่างพอที่จะให้คุณเดินไปถึงเตียงของลูกได้อย่างราบรื่น
ย่นระยะทาง
ยิ่งคุณให้นมหรือกล่อมลูกในบริเวณที่ไกลจากเตียงมากเท่าไร โอกาสที่เขาจะตื่นกลางคันยิ่งมากขึ้นเท่านั้น อยู่ใกล้ๆ เข้าไว้จึงปลอดภัยกว่า
เลือกเก้าอี้ที่ลุกนั่งง่ายๆ
ถ้าคุณให้นมหรือกล่อมลูกด้วยท่านั่ง ให้เลือกเก้าอี้หรือโซฟาที่ลุกง่ายๆ (ไม่ใช่เบาะจม จนต้องยกก้นสุดแรงเกิดจึงจะลุกขึ้นได้)
ใช้แขนข้างที่ถนัด
ถ้าคุณใช้แขนข้างที่ไม่ถนัดอุ้มลูกและเขากำลังเคลิ้มหลับ ให้ค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้แขนข้างที่ถนัด แล้วอุ้มหรือให้นมต่อไปอีกสักครู่ก่อนที่จะวางเขาลงบนเตียง เพราะความขลุกขลักจากการเปลี่ยนมือปุ๊บวางลูกปั๊บ อาจรบกวนการหลับของเขาได้
อย่าเพิ่งละสัมผัสในทันที
ขณะที่ลูกกำลังรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยในอ้อมแขนของคุณ เขาอาจตื่นขึ้นเมื่อรู้สึกได้ว่า สัมผัสที่แผ่นหลังไม่ใช่มืออุ่นๆ ของแม่อีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นเบาะนอนแทน ฉะนั้น เวลาวางลูกลงให้ยังคงสัมผัสนั้นไว้สักครู่ อาจจะตบก้นลูกเบาๆ หากเขาทำท่าจะตื่นขึ้นมา
ร้องเพลงกล่อม
คุณอาจจะร้องเพลงหรือด้นสดเป็นทำนองอะไรก็ว่ากันไป แต่ให้ร้องต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มอุ้มเขา เรื่อยไปจนถึงตอนวางลง และร้องต่อไปอีกสักครู่จนแน่ใจว่าหนูน้อยหลับสนิทแล้ว
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง