การ อ่านนิทานให้ลูกฟัง ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ทำให้ลูกรู้สึกสนุกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การที่พ่อแม่ใช้เวลาอ่านนิทานกับลูก นั้นช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ สติปัญญา อารมณ์ การสื่อสารทางภาษา และเพิ่มความผูกพันในครอบครัวอีกด้วย
กรมอนามัยชี้! อ่านนิทานให้ลูกฟัง ช่วยเสริมพัฒนาการและสติปัญญา
“หนังสือนิทานเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการเปิดจินตนาการอันไม่รู้จบให้กับลูกน้อย เพิ่มคลังศัพท์และเปิดโลกแห่งภาษา ช่วยให้ลูกพัฒนาการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว และเป็นตัวเชื่อมพ่อแม่กับลูกไว้ด้วยกัน”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการ อ่านนิทานให้ลูกฟัง โดยพ่อแม่สามารถ อ่านนิทานให้ลูกฟัง ได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง เพื่อเป็นการกระตุ้นการได้ยินและเกิดความคุ้นเคยกับเสียงของพ่อแม่ (อ่านต่อ อ่านนิทานให้ลูกในท้องฟัง ดีอย่างไร?) โดยใช้นิทานเป็นสื่อพัฒนาทักษะการฟัง การพูด ให้ความรู้ ความสนุกสนาน และจินตนาการแก่เด็ก อีกทั้งฝึกสมาธิให้เด็กจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง เตรียมความพร้อมด้านการอ่านหนังสือ และปลูกฝังคุณธรรม รวมทั้งนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไปพร้อมกัน โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการวางรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะการอ่านนิทานไม่เหมือนการให้ลูกดูทีวี สมาร์ทโฟน หรือแทบเล็ต เพราะภาพในหนังสือนิทานจะหยุดนิ่ง มีเวลาให้ลูกเก็บรายละเอียด พ่อแม่และลูกสามารถกำหนดจังหวะการพลิกหนังสือให้สอดคล้องตามการรับรู้ของลูกได้ รวมถึงลูกอาจมีการถามความหมายของสิ่ต่าง ๆ หรือขอให้พ่อแม่ เล่าบางส่วนซ้ำ เป็นการสื่อสารสองทางระหว่างกัน ซึ่งเทคนิคการเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็กให้เน้นหนังสือ ที่มีรูปภาพ มีสีสันสวยงามน่าสนใจ มีตัวอักษรที่เห็นได้ชัดเจน และมีเนื้อหาที่ไม่มาก
จากปัญหาที่กรมอนามัยพบว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปี 2561 จำนวน 1,807,337 คน พบเด็กมีพัฒนาการล่าช้าในการเข้าใจภาษา จำนวน 2,298 คน คิดเป็นร้อยละ 51.60 และการพูด จำนวน 2,673 คิดเป็นร้อยละ 60.10 พ่อแม่จึงต้องเป็นบุคคลที่รับบทบาทสำคัญที่สุดเพื่อจะสร้างเสริมเชาว์ปัญญาของเด็กตั้งแต่เด็กเล็ก และสำหรับเด็กทารก อาจเริ่มจากนิทานคำกลอนกล่อมเด็กของไทย เมื่อเด็กโตขึ้น อาจเลือกเนื้อหาประเภทสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน สิ่งรอบตัว ไปจนถึงคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งสามารถให้เด็กเลือกหนังสือที่ชอบเองได้ โดยช่วงเวลาในการอ่านนิทานแล้วแต่ว่าพ่อกับแม่สะดวกตอนไหนก็อ่านตอนนั้น หรืออาจจัดช่วงเวลาให้ชัดเจนในแต่ละวัน เพื่อให้สมดุลกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น อ่านช่วงก่อนนอน ช่วยให้จิตใจผ่อนคลายพร้อมกับการนอนหลับ ทั้งนี้ “นิทานไม่ว่าจะดีแค่ไหนจะไม่เกิดประโยชน์เลยถ้าไม่มีคนอ่านให้เด็กฟัง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/106438
นอกจากการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์จากการอ่านนิทานแล้ว สสส. ยังได้จัดโครงการ “สิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างลูก” โดยร่วมกับ 5 ภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนและเชิญชวนให้คุณพ่อคุณแม่หยิบหนังสือนิทานมาอ่านให้ลูกฟังกันเป็นประจำ มีเคล็ดลับในการอ่านนิทานให้ลูกฟังมาฝากกัน ดังนี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ 7 เคล็ดลับ “อ่านนิทานให้ลูกฟัง” ยิ่งอ่าน ลูกยิ่งได้
7 เคล็ดลับ “อ่านนิทานให้ลูกฟัง” ยิ่งอ่าน ลูกยิ่งได้
1. เริ่มอ่าน… ยิ่งไว ยิ่งดี
อย่างที่เคยกล่าวไว้ในหน้าที่แล้วว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง และเมื่อแรกคลอด ถึงแม้ว่าลูกจะยังไม่เข้าใจความหมายของภาษาหรือคำในหนังสือ แต่สมองของลูกจะเริ่มเรียนรู้และพัฒนาผ่านน้ำเสียงของพ่อแม่ จากเสียงสูงต่ำในคำต่าง ๆ รวมถึงสัมผัสอ่อนโยนหรืออ้อมกอดของพ่อแม่ขณะอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกพูดได้ หรือเข้าใจภาษาก่อนถึงจะเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
2. อ่านอย่างสม่ำเสมอ
การอ่านอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้หมายถึงการใช้เสียงสม่ำเสมอในการอ่านนะคะ แต่เราควรอ่านหนังสือเป็นประจำ หรือทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันได้ยิ่งดี นอกจากนี้การอ่านในเวลาเดิม ๆ ใกล้เคียงกันทุกวัน เช่น หลังมื้อเช้า หลังจากนอนกลางวัน หรือก่อนเข้านอนตอนกลางคืน จะทำให้เกิดความเคยชินของทุกคนในครอบครัว เพื่อให้ลูกรู้จักแบ่งเวลาสำหรับการอ่าน
3. ใส่อารมณ์ให้สมจริง
การเล่านิทานด้วยน้ำเสียงที่สมจริงไปตามตัวละครในเนื้อเรื่องจะช่วยให้ลูกสนใจและสนุกสนานตามไปด้วย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าใจความหมายของภาษามากนัก แต่น้ำเสียงสูงต่ำและลีลาท่าทางของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้เขาเพลิดเพลินและติดตามฟังได้จนจบ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่ไม่ถนัดในส่วนของการใส่อารมณ์ให้เร้าใจ แนะนำให้เลือกหนังสือที่เป็นกลอนหรือคำคล้องจอง การอ่านภาษาที่ถูกแต่งมาอย่างสละสลวย ก็จะช่วยให้ลูกเพลิดเพลินได้เช่นกัน
4. เลือกหนังสือที่ใช่
เด็ก ๆ จะรู้สึกมั่นใจและสนุกสนานไปกับหนังสือที่ตัวเองรู้สึก “ใช่” ซึ่งในที่นี้ก็คือหนังสือที่เหมาะสมกับวัย พัฒนาการ พื้นนิสัย และประสบการณ์ชีวิตของเขานั่นเอง ซึ่งเด็กแต่ละคนแต่ละวัยนั้นไม่เหมือนกัน พ่อแม่นี่ล่ะคือผู้ใกล้ชิดที่สุด และรู้จักลูกของเราได้ดีที่สุด การเลือกหนังสือที่เนื้อหายากและซับซ้อนเกินไปสำหรับเด็กเล็ก อาจทำให้ลูกไม่อยากอ่านต่อและเสียความมั่นใจ ในขณะเดียวกันหนังสือที่คาดเดาได้ง่าย เนื้อหาเบสิคเกินไป ก็อาจไม่ถูกใจสำหรับเด็กโต อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าลูกไม่ชอบอ่านหนังสือ เขาอาจแค่ยังไม่เจอหนังสือที่ใช่ ! ก็เป็นได้
5. กระตุ้นให้คิดตาม
เมื่อหนังสือจบแต่ความสนุกยังไม่จบแค่เพียงเท่านั้น ในระหว่างการอ่าน หรือเมื่ออ่านจบแล้ว อย่าลืมชวนลูกถามตอบ เช่น “เจ้าหมาอยู่ไหนน้า ?” “อันไหนสีแดง ?” “นี่ตัวอะไรจ๊ะ ?” “ลูกชอบตัวละครไหนที่สุด ?” “ถ้าเป็นลูก จะทำอย่างไร ?” อาจชวนคุยเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน หรือให้ลูกเป็นฝ่ายตั้งคำถามกับเราบ้าง นิทานบางเรื่องสอดแทรกบทเรียนที่เป็นประโยชน์กับชีวิตจริง เช่น การเล่นกับเพื่อน การไปโรงเรียน การดูแลตัวเอง บ่อยครั้งที่เจ้าหนูจอมซนของเราเชื่อหนังสือมากกว่าเชื่อคุณพ่อคุณแม่เสียอีก การเลือกหนังสือประเภทนี้มาอ่านให้ลูกฟังก็นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่ช่วยให้ลูกซึมซับกับเรื่องราวดี ๆ
6. จำนวนไม่ใช่ปัญหา
ถึงแม้การอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังเยอะ ๆ บ่อย ๆ จะเป็นเรื่องดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องลงทุนซื้อหนังสือจนเต็มบ้าน เพราะจำนวนหนังสือไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของลูกแต่อย่างใด สิ่งสำคัญคือ “เวลาคุณภาพ” ที่คุณพ่อคุณแม่นั่งอ่านหนังสือกับลูกต่างหาก และนั่นอาจหมายถึงการหยิบหนังสือเล่มเดิมมาอ่านซ้ำ ๆ หรือหากทุนทรัพย์ไม่อำนวยคุณพ่อคุณแม่สามารถทำหนังสือนิทานทำมือขึ้นมาเองก็ได้ เพิ่มความสนุกสนานและเสริมจินตนาการยิ่งขึ้นไปอีก
7. อ่านได้ทุกที่
ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่า ตัวอักษร ตัวเลข และคำต่าง ๆ นั้นอยู่รายล้อมตัวเรามากมายเต็มไปหมด นั่นหมายความว่า การอ่านไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ในหนังสือเท่านั้น นอกจากหนังสือนิทานเป็นเล่มแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจชี้ชวนให้ลูกอ่านหรือสังเกตคำต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกทาง ป้ายฉลากสินค้า ชื่อร้านและสถานที่ต่าง ๆ เริ่มต้นจากสัญลักษณ์ง่าย ๆ และเพิ่มความยากตามระดับความสามารถของลูก หรืออาจเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่อ่านจากในหนังสือก็ได้ เช่น หาคำที่เหมือนกับในหนังสือนิทานที่เพิ่งอ่านกันไป
จากการเปิดเผยจากกรมอนามัย จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการ อ่านนิทานให้ลูกฟัง นั้นมีมากมายมหาศาล โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านนิทานต่าง ๆ ให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง ไปจนถึง 6 ขวบ และเมื่อลูกสามารถอ่านหนังสือได้เองแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ได้ปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านจะทำให้ลูกรักในการอ่านหนังสือ และหาหนังสือมาอ่านได้เองค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
อ่าน นิทานก่อนนอน เสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย เริ่มได้ตั้งแต่แรกเกิด
เผย! “5 โอกาสทอง” พัฒนา สมองลูก ให้ถูกเวลา..ฉลาดสมวัย
REM Sleep ช่วง “การนอนของทารก” ที่ทำให้ลูกโตช้า
ขอบคุณข้อมูลจาก : สสส., www.amarinbooks.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่