ลูกวัยทารกยังไม่มีภูมิต้านทานที่จะช่วยต่อสู้กับโรคอย่างไข้หวัดและการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และนั่นก็จะทำให้ทารกป่วยง่ายและหายช้า โดยในช่วงขวบปีแรก เขาจะป่วยประมาณ 6-12 ครั้งและป่วยนานประมาณ 7-10 วัน ซึ่งแปลว่าในปีนั้น เขาอาจจะป่วยถึง 120 วันเลยทีเดียว! ดังนั้น ในเมื่อลูกของเราเลี่ยงการป่วยไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้เพื่อรับมือเบบี๋ยามป่วย โดยเฉพาะป่วยครั้งแรกด้วยแล้ว การเตรียมให้พร้อมไว้ย่อมดีกว่าด้นสดเป็นแน่!
10 ข้อควรรู้ เพิ่มภูมิคุ้มกันเบบี๋ โอกาสป่วยน้อย
ในช่วง 2-3 เดือนแรก ถ้าลูกป่วยและอุณหภูมิร่างกายที่วัดทางทวารหนักสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส พ่อแม่ก็ควรจะรีบพาไปพบแพทย์ และถ้าอายุยังไม่ถึง 1 เดือน เขาก็อาจจะต้องกลับมานอนโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา พ่อแม่ทุกคนจึงไม่อยากให้ลูกวัยนี้ป่วย ซึ่งถึงจะเป็นไปไม่ได้…แต่แนวปฏิบัติต่อไปนี้ก็จะทำให้เขาไม่ป่วยบ่อย หรืออย่างน้อยก็ทำให้อาการป่วยรุนแรงน้อยลงจนช่วยให้ทั้งทารกน้อยที่ป่วยและผู้ดูแลรับมือได้ง่ายขึ้นค่ะ
1. เน้นที่ 2 เดือนแรก
ก่อนที่ลูกจะได้รับวัคซีนตอนอายุ 2 เดือน คุณควรระวังให้มากเป็นพิเศษ โดยพยายามให้เขาอยู่ที่บ้านและไม่พาเขาไปในที่ที่มีคนเยอะๆ
2. ให้ลูกอยู่ใกล้ตัว
ถ้าต้องพาเขาไปนอกบ้านด้วย คุณก็ควรจะใช้เป้อุ้มหรือดึงหลังคารถเข็นลงมา ซึ่งจะทำให้คนแปลกหน้าไม่กล้าเข้ามาจับไม้จับมือหรือบีบแก้มเขาเล่น และควรจะให้เขาอยู่ห่างจากคนที่ไอหรือจามสัก 6 ฟุต
3. ระวังเรื่องคนเยี่ยม
บอกคนที่ไม่สบายว่าถ้าจะมาเยี่ยมลูก ก็ควรจะรอจนไม่มีอาการและไม่มีไข้มาไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมงแล้วเสียก่อน (โดยไม่ต้องกินยาลดไข้) และบอกเด็กเล็กๆ ที่มากับพ่อแม่ตัวเองว่า “ดูน้องได้ แต่อย่าจับตัวน้องนะจ๊ะ”
อ่านต่อ “10 ข้อควรรู้ ลดความเสี่ยงลูกทารกป่วย” คลิกหน้า 2
4. หมั่นล้างมือฟอกสบู่
เพื่อขจัดเชื้อโรค โดยฟอกสบู่นานไม่ต่ำกว่า 20 วินาทีทุกครั้งที่คุณกลับมาจากข้างนอก ใช้ห้องน้ำ กินอาหารหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก เพราะในอุจจาระมีแต่เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งถ้าเล็ดลอดเข้าไปในปากลูก ก็จะทำให้เกิดอาการท้องร่วงและอาเจียน
5. ให้นมแม่นานที่สุด
เพราะมีผลวิจัยที่ชี้ว่าถ้าคุณให้นมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน โอกาสที่ลูกจะเป็นไข้หวัดและติดเชื้อที่หูและคออย่างรุนแรงก็จะลดลงถึง 63 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งการกินนมแม่ยังทำให้โอกาสที่เขาจะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและเป็นหวัดลงกระเพาะลดลงอีกด้วย
6. ใช้เจลฆ่าเชื้อ
ในกรณีที่คุณล้างมือฟอกสบู่ไม่สะดวก การใช้เจลฆ่าเชื้อสูตรแอลกอฮอล์ก็เป็นวิธีที่ใช้ทำความสะอาดมือได้ดีพอๆ กัน อย่าลืมเตรียมไว้ให้คนเยี่ยมใช้ด้วยนะ
7. ใช้ทิชชูเปียก
เชื้อโรคมีชีวิตอยู่บนของใช้อย่างรถเข็นในซูเปอร์มาร์เก็ตได้นานหลายชั่วโมง คุณจึงควรจะพกทิชชูเปียกสูตรฆ่าเชื้อไว้ในถุงสัมภาระสักห่อ
8. เลี่ยงเชื้อโรคที่โรงพยาบาล
ถึงจะมีห้องแยกสำหรับเด็กป่วยกับเด็กที่มาตรวจร่างกายตามปกติ แต่ห้องรอตรวจก็ยังเป็นสถานที่อุดมไปด้วยเชื้อโรคอยู่ดี คุณจึงควรเลี่ยงเด็กป่วยที่ไอหรือจามโดยขอนัดแพทย์ให้ลูกเป็นคิวแรกๆ หรือท้ายๆ หรือจะขอพาเขาไปนั่งรอในห้องตรวจที่ว่างอยู่ก็ได้
อ่านต่อ “10 ข้อควรรู้ ลดความเสี่ยงลูกทารกป่วย” คลิกหน้า 3
9. พาลูกไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด
ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันไม่ให้เขาเป็นโรคอย่างหัด เยื่อหุ้มสมองอักเสบและอีสุกอีใสได้ดีที่สุด ผลวิจัยยังชี้ว่าการได้รับวัคซีนหลายชนิดในเวลาใกล้ๆ กันไม่ได้เป็นอันตรายต่อทารกอย่างที่กลัวกันด้วย
10. คนใกล้ตัวลูกควรได้รับวัคซีนด้วย
โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไอกรน เพราะถ้าว่าที่คุณแม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ภูมิต้านทานก็จะถูกส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ และน่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เขาเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ประมาณ 6 เดือน (แพทย์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ทารกได้ตอนอายุ 6 เดือนพอดี) ซึ่งในทารกแรกเกิด ไข้หวัดใหญ่ก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน (อย่างมีไข้ต่ำๆ และคลื่นไส้) จึงดูเล็กน้อยไปเลย ในช่วงที่มีอายุครรภ์ประมาณ 27-36 สัปดาห์ ว่าที่คุณแม่ยังควรจะได้รับวัคซีนไอกรนด้วย จะได้ไม่แพร่เชื้อให้ลูกวัยแรกเกิดซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน คนใกล้ตัวลูก (อย่างพี่เลี้ยงเด็ก) ก็ควรจะได้รับวัคซีนเหล่านี้เช่นกัน
อย่าลืมดูแลตัวเองนะคุณแม่!
ใส่ใจดูแลลูกน้อยอย่างรอบคอบแล้ว สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวคุณแม่เองด้วย ถึงลูกอ่อนจะตื่นทุกๆ 2 ชั่วโมง คุณก็ควรจะพยายามนอนให้พอ (จะงีบในช่วงที่ลูกนอนกลางวันก็ได้) และต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะช่วยป้องกันไม่ให้คุณเป็นโรคที่แพร่สู่ลูกได้
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock