AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกติดเชื้อในกระแสเลือดอันตราย แต่ป้องกันได้

ลูกติดเชื้อในกระแสเลือดอันตราย

คุณพ่อ คุณแม่คงรู้จักกันดีกับคำว่าติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งพบได้ในข่าวโรคภัย และประสบการณ์ของคุณแม่หลายคน แม่น้องเล็กเองก็เกิดความวิตกกังวลว่าลูกของเราจะมีโอกาสเป็นด้วยหรือไม่ เรามาอ่านความรู้จากคุณหมอว่า ติดเชื้อในกระแสเลือดอันตราย แค่ไหน?

ติดเชื้อในกระแสเลือดอันตราย แต่ป้องกันได้!

พญ.วิริยาภรณ์ จันทร์รัชชกูล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช สาขาศรีนครินทร์ ได้ให้ความรู้ไว้ในนิตยสาร Amarin Baby & Kids เอาไว้ว่า การติดเชื้อในกระแสเลือด คือการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ภายในกระแสเลือด โดยเชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ทุกฤดูกาล เรียกง่ายๆ คือพบได้บ่อยตลอดทั้งปี

ความรุนแรงของการติดเชื้อขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตัวเชื้อโรค ความแข็งแรงของเด็กน้อยที่ติดเชื้อแต่ละคน ถ้าเกิดความรุนแรง ก็อาจทำให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะช็อก หรืออวัยวะสำคัญต่างๆ ล้มเหลวได้ เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด ซึ่งถือว่าอันตรายมากๆ ค่ะ

ติดเชื้อในกระแสเลือดอันตรายไหม

ทำไมลูกน้อยต้องติดเชื้อในกระแสเลือด?

1.เด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 7 วัน

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อระหว่างคลอด ความเสี่ยงได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด ตัวอย่างเช่น คุณแม่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ถุงน้ำคร่ำที่แตก และเข้าไปในตัวลูกน้อยได้ หรือคุณแม่มีไข้ หรือมีการติดเชื้ออื่นๆ ที่สามารถส่งผลไปถึงลูกน้อยได้

2.เด็กทารกที่มีอายุ 7 วัน – 3 เดือน

การใช้สายสวนหลอดเลือด การทำหัตถการกับเด็กทารก หรือการติดเชื้อเฉพาะที่ และไม่สามารถกำจัดเชื้อนั้นออกไปได้หมด อาจทำให้ลุกลามกลายเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยเด็กๆ กลุ่มนี้จะมีอาการป่วยอย่างอื่นมาก่อนแล้ว เช่น มีแผล มีฝีหนอง หรือเป็นไข้ ปอดบวม หรือปอดอักเสบ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “วิธีสังเกตลูกเมื่อติดเชื้อในกระแสเลือด” คลิกหน้า 2

วิธีสังเกตลูกเมื่อติดเชื้อในกระแสเลือด

อาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดจะไม่จำเพาะเจาะจง เช่น มีไข้สูง หรือบางคนตัวเย็นกว่าปกติ มีอาการซึมลง เบื่ออาหาร ไม่ยอมดูดนม ท้องอืด อาเจียน หรือหายใจผิดปกติ บางคนหยุดหายใจเป็นพักๆ หรือมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ อาการเหล่านี้ไม่ได้ชี้ชัดว่าลูกติดเชื้อในกระแสเลือด 100% เพื่อความไม่ประมาท คุณพ่อ คุณแม่รีบสังเกต และพาลูกน้อยไปพบแพทย์จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดค่ะ

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความกังวลว่า การรับประทานยาระหว่างตั้งครรภ์จะมีผลต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด จริงๆ แล้วยาไม่ได้มีผลกับการติดเชื้อในกระแสเลือด แต่อาจมีผลต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ของลูกน้อยมากกว่า ถ้าคุณแม่มีอาการเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง  เพียงใส่ใจดูแลลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงคลอด แค่นี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของลูกน้อยได้แล้วค่ะ

ลูกติดเชื้อในกระแสเลือด

การตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษา

คุณหมอซักถามประวัติ และตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของระบบต่างๆ แล้วเจาะเลือดไปวินิจฉัย ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อเยื้อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย อาจจะมีการเจาะกรวดน้ำไขสันหลังด้วยค่ะ

ถ้าคุณหมอตรวจแล้วพบว่าอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ โดยให้ยาทางหลอดเลือดดำ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการแทรกซ้อนจะได้รักษาได้ทันท่วงที ซึ่งส่วนใหญ่จะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 10 – 14 วัน

เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กทารก และเด็กเล็กยังทำงานได้ไม่ดี จึงทำให้มีโอกาสในการหายได้เองน้อยมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้อาการแย่ลง และเสียชีวิตได้ ถ้าอย่างคุณพ่อ คุณแม่พาลูกน้อยไปหาคุณหมอช้า

นอกจากนี้ หลังจากรักษาจนหายแล้วยังมีผลกระทบซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อน เช่น ถ้าติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็อาจจะทำให้มีปัญหาด้านระบบประสาทตามมา หรือมีอาการชัก หรือพัฒนาการช้ากว่าปกติ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “7 ข้อป้องกันลูกน้อยติดเชื้อในกระแสเลือด” คลิกหน้า 3

7 ข้อป้องกันลูกน้อยติดเชื้อในกระแสเลือด

1.ป้องกันตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ โดยการไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตตัวเอง ว่าคุณแม่มีอาการผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีควรรีบแจ้งคุณหมอ เพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ค่ะ

2.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสลูกน้อย ไม่ใช่เพียงแค่คุณแม่ แต่ผู้ใหญ่ทุกคน ก่อนจะสัมผัสเด็กทารก หรือเด็กเล็ก ควรล้างมือให้สะอาด เพราะมือที่ไม่สะอาด อาจทำให้ลูกน้อยได้รับเชื้อโรคได้

3.หลีกเลี่ยงในการพาลูกน้อยไปในที่ชุมชน โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนหนาแน่น เพราะเราไม่ทราบว่ามีใครป่วย เป็นโรคติดต่อบ้าง และเชื้อโรคค่อนข้างมาก

ข้อป้องกันลูกน้อยติดเชื้อในกระแสเลือด

4.ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ไม่สบาย ควรอยู่ให้ห่างลูก หรือญาติผู้ใหญ่ที่มีอาการไอ จาม หรือเป็นไข้เล็กน้อยก็ควรอยู่ให้ห่าง พร้อมทั้งล้างมือ และใส่หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรค

5.ไม่ควรให้ใครหอมแก้มลูกน้อย ผู้ใหญ่บางคนอาจเป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในโพรงจมูก เมื่อหอมแก้มลูกน้อยอาจทำให้ติดเชื้อได้ ยิ่งถ้าคุณแม่แต่งหน้าก็อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองจากการสัมผัสเครื่องสำอาง

6.เมื่อลูกน้อยถึงวัยที่ควรฉีดวัคซีน ก็ควรพาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนจนครบ วัคซีนบางชนิดสามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เช่น วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดี วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ-ฮิบ เป็นต้น

7.ให้ลูกน้อยกินนมแม่ เพราะนมแม่ดีที่สุด ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย แข็งแรง สมวัย

นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือนมิถุนายน 2559

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก!!

ทิชชูเปียก เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดจริงหรือ?

ลูกติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะแม่ล้างมือไม่สะอาด

ลูกติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะถูกคนอื่นหอม

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

Save