สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก ๆ เวลาที่ลูกเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบาย คนเป็นพ่อเป็นแม่แทบอยากจะป่วยแทนลูก ยิ่งเป็นลูกคนแรกด้วยแล้ว คุณพ่อคุณแม่บางคนถึงกับทำอะไรไม่ถูก ซึ่งหากรู้ว่าลูกเริ่มมีอาการเจ็บป่วย ไม่สบายตัว หากพ่อแม่ได้เลี้ยงลูกเองจะเป็นผู้สังเกตอาการได้ดีที่สุด และอาจให้ยาเพื่อรักษาอาการเบื้องต้นของลูกได้ ก่อนที่จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรที่จะหายาพื้นฐานสำหรับโรคที่ไม่ร้ายแรงติดตู้ยาไว้ให้ลูก ก็จะทำให้อุ่นใจได้ยามที่ลูกน้อยเจ็บป่วย…การให้ยากับลูกเองนั้น มีข้อควรระมัดระวังอยู่หลายอย่าง ได้แก่ เรื่องการแพ้ยาคุณพ่อคุณแม่ต้องทราบว่าลูกเราแพ้ยาตัวไหนบ้าง หรือตัวคุณพ่อคุณแม่เองมีประวัติแพ้ยาตัวใด ก็ต้องระมัดระวังการให้ยากลุ่มนั้นกับลูกน้อยเป็นพิเศษ เพราะอาจมีโอกาสแพ้ได้เหมือนกับพ่อแม่ อีกอย่างคือโรคประจำตัวของลูก ซึ่งโรคประจำตัวบางโรค เช่น G6PD ต้องหลีกเลี่ยงยาบางกลุ่มที่จะกระตุ้นให้แสดงอาการของโรค เป็นต้น
ซึ่งในท้องตลาดทุกวันนี้ มียาบรรจุเป็นซองบ้าง ขวดบ้าง ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกซื้อกันหลายร้อยยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็โฆษณาสรรพคุณใช้เป็นยาให้เด็กกินแก้อาการปวดหัวตัวร้อน เป็นหวัด ไอ ปวดท้อง ท้องเสีย และไข้ต่างๆ ที่พบกันเป็นประจำในครอบครัว ยาเหล่านี้ ถ้าเรารู้จักวิธีการใช้ที่ถูกต้องก็จะได้ประโยชน์มากทีเดียว แต่ถ้าไม่รู้จักสรรพคุณอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำยังไม่รู้ว่ามีโทษอะไร หลงซื้อให้เด็กกิน ก็อาจเป็นโทษถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะยาที่โฆษณาว่าแก้ได้สารพัดโรค ซึ่งลงท้ายด้วย “มัยซิน” บ้าง “แรมติน” บ้าง “อูลิน” บ้าง หรือ “คลอริน” บ้าง มักจะเข้ายาประเภทคลอแรมเฟนิคอล และเตตร้าซัยคลีน ซึ่งเป็นยาที่ต้องระมัดระวังในการที่จะให้เด็กกินเป็นอย่างมาก
ดังนั้น ถ้าหากพ่อแม่จำเป็นจะต้องซื้อยาให้ลูกกิน ก็ควรจะไต่ถามให้รู้ถึงคุณและโทษ ตลอดจนวิธีการใช้ให้ถูกต้องเสียก่อนเป็นดีที่สุด Amarin Baby & Kids จึงขอแนะนำยาที่สามารถซื้อใช้เองได้ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่จำเป็นต้องเป็นหมอของลูกหลาน
ยาสำหรับเด็กที่ควรมีไว้ประจำบ้าน
1. เมื่อเด็กมีไข้ ตัวร้อนหรือปวดหัวควรใช้ยาแอสไพริน หรือ พาราเซตามอลสำหรับเด็ก ขณะให้ยาลดไข้ ควรให้ดื่มน้ำตามมากๆ ด้วย น้ำนอกจากจะช่วยให้ยากระจายตัวได้ดี ละลายและออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น ลดความเป็นกรดของแอสไพริน จะได้ไม่ระคายเคืองกระเพาะแล้ว น้ำยังช่วยให้มีการระบายความร้อน ทำให้ไข้ลดเร็วยิ่งขึ้นด้วย ยิ่งถ้าเด็กตัวร้อนจัด ต้องใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้ทั่วตัว เช็ดมากๆ ตามคอ รักแร้ และข้อพับต่างๆ และอย่าไปห่มผ้า หรือสวมเสื้อหนาๆ จนกว่าไข้จะลดลงแล้ว ถ้าเด็กหนาวด้วย ให้เริ่มใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเล็กน้อยเช็ดก่อนแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นน้ำเย็น เช็ดจนไข้ลด จึงห่มผ้าให้
ขนาดที่ใช้
- แอสไพริน
ใช้ชนิดสำหรับเด็ก (เบบี้แอสไพริน) ราคาร้อยละ 4-5 บาท
เราสามารถกำหนดขนาดที่จะให้แอสไพรินเด็ก โดยประมาณได้ง่ายๆ คือ ให้แต่ละครั้งเป็นจำนวนเม็ด เท่ากับจำนวนอายุของเด็ก เช่น
เด็ก 1 ขวบ ให้ครั้งละ 1 เม็ด
เด็ก 2 ขวบ ” 2 เม็ด
เด็ก 3 ขวบ ” 3 เม็ด
เด็ก 4 ขวบ ” 4 เม็ด
เด็ก 5-10 ขวบ ครั้งละ 5 เม็ด ก็พอ
โดยให้กินซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ควรให้หลังอาหารทันที และอย่าลืมให้ดื่มน้ำตามมากๆ โดยเฉพาะเมื่อจำเป็นต้องให้เวลาท้องว่าง
***นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวังอีกอย่าง คือ ห้ามให้ยาลดไข้ แอสไพริน ในเด็กที่สงสัยว่าจะป่วยเป็นไข้เลือดออก (เด็กมีอาการตัวร้อนจัดตลอดเวลา และไม่มีน้ำมูกให้เห็น) เพราะจะทำให้เกิดอาการเลือดออกได้ง่ายขึ้น ให้ใช้พาราเซตามอลน้ำเชื่อมแทน
- พาราเซตามอลน้ำเชื่อม
ใช้ขนาด 120 ถึง 125 มิลลิกรัม ต่อ 1 ช้อนชา (5 ซี.ซี.) ราคาออนซ์ละ 3-5 บาท โดยให้ประมาณตามอายุ ดังนี้
เด็กแรกเกิด ถึง 3 เดือน ให้ครั้งละ 1/4 ช้อนชา (ครึ่งของครึ่งช้อนชา)
เด็ก 3-6 เดือน ให้ครั้งละ 1/2 ช้อนชา (ครึ่งช้อนชา)
เด็ก 2-5 ขวบ ให้ครั้งละ 1 ½ ช้อนชา
เด็ก 5-8 ขวบ ให้ครั้งละ 2 ช้อนชา
เด็ก 8-14 ขวบ ให้ครั้งละ 3 ช้อนชา
ทั้งหมดนี้ให้วันละ 3-4 ครั้ง ห่างกัน 4-6 ชั่วโมง
2. ถ้าเด็กมีอาการไข้ และมีอาการหวัดคือ คัดจมูก น้ำมูกไหลด้วย ให้ใช้ยา พาราเซตามอล คอมปาวนด์น้ำเชื่อม ขององค์การเภสัชกรรม ขวดละ 7-8 บาท (2 ออนซ์) แทนพาราเซตามอลธรรมดาโดยให้ขนาดเท่ากัน
3. ถ้าเด็กมีอาการไอควรใช้ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ขององค์การเภสัชกรรม โดยให้ขนาด ดังนี้
เด็กแรกเกิด ถึง 2 ขวบ ให้ครั้งละ 1/ 4 ช้อนชา
เด็กแรกเกิด 2-6 ขวบ ให้ครั้งละ 1/2 ข้อนชา
เด็ก 6-12 ขวบ ให้ครั้งละ 1 ช้อนชา
ทั้งหมดนี้ให้วันละ 4-6 ครั้ง ห่างกัน 3-4 ชั่วโมง
อ่านต่อ >> “ยาสำหรับเด็กที่ควรมีไว้ประจำบ้าน” คลิกหน้า 2
4. ถ้าเด็กเป็นหวัดลงคอคือ น้ำมูก หรือเสมหะข้นเขียว หรือเหลือง เจ็บคอ ให้ใช้ เพพนนิซิลโลน ชนิดน้ำเชื่อมแห้ง (ขนาด 2 แสนยูนิตหรือ 125 มิลลิกรัม ต่อ 1 ช้อนชา ราคา 8-10 บาทต่อ 2 ออนซ์ หรือใช้แอมซิลลิน ชนิดน้ำเชื่อมแห้ง ขนาด 125 มิลลิกรัม ต่อ 1 ช้อนชา ราคา 13-15 บาทต่อ 2 ออนซ์ (ฆ่าเชื้อหวัดลงคอได้มากชนิดกว่าแต่แพงหน่อย) เวลาซื้อควรเลือกยาที่เป็นผงร่วน ไม่ควรซื้อยาที่เกาะกันเป็นก้อนแข็ง หรือหรือยาที่หมดอายุแล้ว
ยาทั้งสองชนิดนี้เป็นยาปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ไปฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นเชื้อที่มาแทรกซ้อนโรคหวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส (ซึ่งหายได้เอง) ทำให้คอหรือหลอดลม หรือ ปอดอักเสบที่เราเรียกกันว่า หวัดลงคอ หรือ ลงปอดนั่นเอง ดังนั้น การจะใช้ยานี้ให้ได้ผล จะต้องกินตามขนาดอย่างเคร่งครัด และต้องกินให้ติดต่อจนอาการหายสนิทจริงๆ ไม่เช่นนั้น นอกจากเชื้อจะไม่ตายแล้ว ยังอาจจะดื้อยา รักษายากขึ้นไปอีก ประกอบกับยาที่เป็นน้ำเชื่อมแห้งนี้ เมื่อเติมน้ำลงไปผสมเป็นน้ำเชื่อมแล้ว (ต้องใช้น้ำต้มสุกเย็นแล้ว หรือถ้าไม่มีก็ใช้น้ำที่สะอาดจริงๆ เติมให้ถึงขีดที่เขากำหนดไว้ เขย่าจนเข้ากันดี บางชนิดอาจละลายเป็นน้ำใส บางชนิดอาจเป็นยาน้ำแขวนตะกอน ดูขุ่นแต่ก็ต้องเขย่าให้เข้ากันอย่างทั่วถึงทุกครั้งก่อนกินยา) ควรเก็บไว้ในที่เย็น เช่น ตู้เย็น (ไม่ต้องใส่ช่องที่เย็นจัด) หรือห่อถุงพลาสติกให้แน่น แช่ไว้ในตุ่มหรือโอ่งน้ำ ก็ได้ และไม่ควรเก็บไว้เกิน 7 วัน เพราะยาจะเสื่อมคุณภาพใช้รักษาไม่ได้ผล และยาบางชนิดที่เสีย อาจจะมีอันตรายด้วย ดังนั้น เมื่อเติมน้ำแล้ว ต้องกินตามขนาดให้ติดต่อจนหมดขวดทุกครั้ง
ขนาดที่ใช้
เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน กินแอมพิซิลลิน ครั้งละ 1/ 4 – 1/ 2 ช้อนชา หรือ เพนนิซิลลิน ครั้งละ 1/ 4 ช้อนชา
เด็กอายุ 1-2 ขวบ กินแอมพิซิลลิน ครั้งละ 1 ช้อนชา หรือ ยาเพนนิซิลลิน ครั้งละ 1 ช้อนชา
เด็กอายุ 3-4 ขวบ กินแอมพิซิลลิน ครั้งละ ช้อนชาครึ่ง หรือ ยาเพนนิซิลลิน ครั้งละ ช้อนชาครึ่ง
เด็กอายุ 5-7 ขวบ กินแอมพิซิลลิน ครั้งละ 2 ช้อนชา หรือ ยาเพนนิซิลลิน ครั้งละ ช้อนชาครึ่ง
เด็กอายุ 7-10 ขวบ กินแอมพิซิลลิน ครั้งละ 3 ช้อนชา หรือ ยาเพนนิซิลลิน ครั้งละ 2 ช้อนชา
ทั้งหมดนี้ให้กินวันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนเข้านอน สำหรับเด็กโตที่พอกลืนยาเม็ดได้ อาจจะใช้ชนิดเม็ดของเพนนิซิลลินวี หรือ แอมพิซิลลิน ขนาด 2 แสนยูนิตหรือ 125 มิลลิกรัม ซึ่ง 1 เม็ด เท่ากับ 11 ช้อนชา ของชนิดน้ำเชื่อมแห้ง โดยใช้ขนาดเท่ากัน ราคาเพนนิซิลลิน ราคาประมาณ 2-3 เม็ด ต่อ1 บาท แอมพิซิลลิน เม็ดละ 1 บาท
ทั้งเพนนิซิลลินและแอมพิซิลลิน นอกจากจะรักษาหวัดลงคอ ดังกล่าวมาแล้วนี้ยังใช้รักษา แผล ฝี หนอง ตาแดง และหูอักเสบ (มีน้ำหนวก ปวดหู) ได้อีกด้วย โดยใช้ขนาดเท่ากัน และต้องกินให้ติดต่อจนอาการหายสนิทเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังต้องระวัง เพราะบางคนอาจแพ้ยาเพนนิซิลลิน และแอมพิซิลลิน โดยจะมีผื่นแดงคันคล้ายเป็นลมพิษ แน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย ใจสั่น ถ้ามีอาการแพ้ยาต้องหยุดยาทันที แล้วไปหาหมอ
5. เด็กที่มีอาการท้องอืดแน่นท้องควรใช้ทิงค์เจอร์มหาหิงคุ์ หรือ เหล้าสะระแหน่ ขององค์การเภสัชกรรม ขวดละ 2-2.50 บาท เท่านั้น ใช้ได้ผลดี และปลอดภัยกว่ายาแก้เด็กท้องเฟ้อ ที่เขาโฆษณาขายกันด้วย โดยใช้ทาบางๆ บริเวณหน้าท้องมีอาการ ถ้ายังไม่หาย อาจใช้เหล้าสะระแหน่ หยดใส่น้ำให้กินก็ได้ (ทิงค์เจอร์มหาหิงคุ์ ไม่ควรให้กิน) โดยให้ขนาด ดังนี้
เด็กแรกเกิด ถึง 2 ขวบ ให้ครั้งละ 2 หยด
เด็ก 6 เดือน – 2 ขวบ ให้ครั้งละ 4 หยด
เด็ก 2-5 ขวบ ให้ครั้งละ 8 หยด
เด็ก 5-10 ขวบ ให้ครั้งละ 12 หยด
ทั้งหมดนี้ ใช้หยดใส่น้ำจำนวนเท่าที่ประมาณว่า เด็กจะกินได้หมดผสมให้เข้ากัน ให้กินวันละ 3 ครั้ง ห่างกันสัก 4-6 ชั่วโมง จนอาการหาย
6. เมื่อเด็กมีอาการท้องเสียต้องสังเกตดูว่า เด็กถ่ายอย่างไร ถ้าถ่ายเหลวๆ หรือเป็นน้ำบ้าง แต่วันหนึ่งไม่ถึง 10 ครั้ง แต่ละครั้งไม่มากผิดปกติ ไม่อาเจียนมากมายอะไรนัก ควรให้งดนมและอาหารทุกชนิด อย่าสงสารลูกในทางที่ผิด เพราะนมหรืออาหารที่กินเข้าไปตอนนี้ มันไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเด็กเลย กินเข้าไปเท่าไหร่ก็ถ่ายออกหมด เพราะกระเพาะลำไส้ตอนนี้ มันไม่ยอมรับอาหารแล้ว เราควรจะหายาแก้ท้องเสีย ขององค์การเภสัชกรรม ชื่อโอ.อาร์.เอส. (O.R.S.) ติดตู้ยาประจำบ้านเอาไว้ เมื่อเด็ก (ผู้ใหญ่ก็ใช้ได้) ท้องเสีย ก็ผสมยานี้ตามวิธี ซึ่งมีไว้ละเอียดแล้วบนซองให้กินแทนนมและอาหาร ควรจะกินน้ำที่ผสมนี้ ขนาดพอๆ กับปริมาณของน้ำที่เสียออกไป ทั้งจากการถ่ายและอาเจียน ถ้าปฏิบัติอย่างที่ว่านี้แล้วภายใน 2 วัน ยังไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบพาไปหาหมอ หากไม่มี โอ.อาร์.เอส. ก็ใช้น้ำสุก 1 ขวดแม่โขงกลม ผสมกับเกลือแกง ครึ่งช้อนกาแฟ (ช้อนคาว) และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ (ช้อนชา) แทนก็ได้
- ถ้าเด็กถ่ายมากถึงขนาดวันหนึ่งเป็น 10 ครั้งขึ้นไป และถ่ายออกครั้งละมากๆ โดยเฉพาะถ้าถ่ายออกมาลักษณะเหมือนน้ำซาวข้าว หรือถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้สูง อาเจียนมาก ต้องรีบพาไปหาหมอทันที แต่ถ้าถ่ายเป็นมูกกะปริดกะปรอย ปวดเบ่งเวลาถ่าย (อาจร้องเวลาถ่าย) และไม่สะดวกที่จะพาไปหาหมอทันที ก็ให้กินยาแอมพิซิลลิน ตามขนาดและวิธีที่กล่าวมาแล้วดูสัก 2-3 วัน ถ้าดีขึ้นก็ให้กินติดต่อจนหายขาด (ประมาณ 7-10 วัน) ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องรีบพาไปหาหมอเหมือนกัน
อ่านต่อ >> “ยาสำหรับเด็กที่ควรมีไว้ประจำบ้าน” คลิกหน้า 3
7. ถ้าเด็กมีอาการเป็นลมพิษ ผื่นคัน มีน้ำมูกมีอาการเป็นหวัด คัดจมูก จาม จากการแพ้อากาศหรือแพ้สารอะไรก็ได้ เช่น ขนสัตว์ ผ้าห่ม แพ้ยา ฝุ่นละออง อาหารทะเล ฯลฯ ให้ใช้ ยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน ชนิดน้ำเชื่อม ซึ่งมีตัวยาคลอร์เฟนิรามีน 2 มิลลิกรัม ต่อช้อนชา (5 ซี.ซี.)
ขนาดที่ใช้
อายุต่ำกว่า 6 เดือน ให้ครั้งละ 1/ 4 ช้อนชา
อายุ 1 ปี ให้ครั้งละ 1/ 2 ช้อนชา
อายุ 2-5 ปี ให้ครั้งละ 1 ช้อนชา
อายุ 5-9 ปี ให้ครั้งละ ช้อนชาครึ่ง
ให้กินวันละ 3 ครั้ง ทุก 6 ชั่วโมง
การให้เด็กกินยาแก้แพ้ ต้องระวังอย่าให้มากเกินไป และต้องระวังอย่าให้เด็กแอบหยิบมากินเองเพราะถ้าได้ยาเกินขนาด จะทำให้มีอาการกระวนกระวาย ในบางคนอาจมีอาการชักได้
- ในเด็กโต อาจให้กินยา คลอร์เฟนิรามีนชนิดเม็ด (4 มิลลิกรัม) ครั้งละครึ่งเม็ดก็ได้
- ในเด็กที่มีอาการผด ผื่นคัน ขึ้นมากตามตัว ไม่ว่าจะเป็นผื่นลมพิษ ยุงกัดแผลมีน้ำเหลือ ตุ่มคันจากอีสุกอีใส หัด ควรทายาแก้ผด ผื่นคัน หรือคาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) บางทีก็เรียกว่า แป้งน้ำสีชมพู มีลักษณะคล้ายแป้งน้ำที่ใช้ทาหน้าต้องเขย่าขวดก่อน แล้วทาให้ทั่ว วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
8. เด็กบางคน หรือในบางระยะ อาจมีอาการเบื่ออาหาร กินข้าวไม่ได้ ทำให้น้ำหนักลดไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร พ่อ แม่ หรือญาติผู้ใหญ่ ก็อาจหายาช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากกินอาหาร โดยปกติ ถ้าเด็กกินได้ และอาหารที่ให้เด็กกินเป็นอาหารที่มีคุณค่า เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้พวกวิตามิน ยกเว้นในเด็กที่ไม่แข็งแรง หรือขาดอาหารเท่านั้น ยาที่ทำให้เด็กเจริญอาหารขึ้น ที่พอหาซื้อได้ใช้เอง
- ยาธาตุน้ำแดงให้เด็กกินครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จะช่วยกระตุ้นน้ำย่อย ทำให้เด็กเจริญอาหารได้ นอกจากนี้ยังใช้กินแก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง ได้อย่างดีโดยให้กินเมื่อมีอาการดังกล่าว
- ธัยโปรเฮปตาดีน หรือ เปอริแอคติน ชนิดน้ำเชื่อม จะมีตัวยา 2 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งช้อนชา (5 ซี.ซี.) ถ้าเป็นชนิดเม็ด จะมีตัวยาเม็ดละ 4 มิลลิกรัม ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ใช้ ดังนี้
เด็ก 2-6 ขวบ ให้กินชนิดน้ำเชื่อม 1-2 ช้อนชา หรือชนิดเม็ด 1/2 เม็ด ถึง 1 เม็ด
เด็ก 6 ขวบขึ้นไป ให้กินชนิดน้ำเชื่อม 2 ช้อนชา หรือชนิดเม็ด 1 เม็ด วันละครั้งก่อนนอน
ตัวยานี้นอกจากจะกระตุ้นให้อยากกินยาแล้ว ยังมีฤทธิ์เป็นยาแก้แพ้ คือ ใช้กินแก้อาการแพ้ต่างๆ ลมพิษ ผด ผื่น คัน ฯลฯ ได้ด้วย และระยะที่กินยาใหม่ๆ อาจมีอาการง่วงได้
9. ในเด็กที่เคยมีประวัติชักและไข้สูงเวลามีไข้ นอกจากจะต้องให้ยาลดไข้ เช็ดตัวบ่อยๆ ด้วยผ้าชุบน้ำ หรือแอลกอฮอล์แล้ว พ่อแม่ควรเตรียมยากันชัก ฟิโนบาร์ปิซอล ไว้ด้วย ยากันชักชนิดนี้ ความจริงเป็นยานอนหลับ แต่เราใช้ในขนาดต่ำ ซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดอาการชัก ยานี้มีทั้งชนิดน้ำเชื่อม เช่น ฟีโนซอล อิลิคเซอร์ และ ชนิดเม็ดในเด็กให้ใช้ ยาเม็ด ฟีโนบาร์ปิทอล ขนาด 15 มิลลิกรัม หรือ 1/ 4 เกรน ให้กินกันชัก เวลามีไข้ เด็กเล็กครั้งละ 1 เม็ด เด็กโตครั้งละ 2 เม็ด ถ้าใช้ชนิดน้ำเชื่อมเด็กเล็กให้กินครั้งละ 1-2 ช้อนชา เด็กโตครั้งละ 2 ช้อนชา วันละ 2-3 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม เราต้องระมัดระวังการให้ยาตัวนี้ในเด็ก เพราะถ้าให้เกินขนาดนอกจากจะทำให้หลับ ยังอาจทำให้การหายใจหยุดได้ ซึ่งเป็นอันตรายได้
10. ถ้าเด็กมีอาการปากเปื่อยเป็นแผลเป็นฝ้าขาวในปาก ให้ใช้ยา กลีเซอรีนบอแร็กซ์ ขององค์การเภสัชกรรม หรือใช้เจนเชี่ยนไวโอเล็ต ทาแก้ปากเปื่อย เป็นแผลลิ้นแตก เป็นฝ้าขาวได้ ย้ำยาเจนเชี่ยนไวโอเล็ต มีสีม่วง เวลาทาอาจเปรอะเปื้อนเล็กน้อย แต่ก็ใช้ได้ผลดีมาก ข้อสำคัญ เวลาใช้ยาทั้ง 2 ชนิด ไม่ควรกลืนเข้าไปใช้ทาแผลข้างในปากเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีตัวยาอื่นๆ และเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับเรื่องยาของลูกน้อยที่พ่อแม่ควรซื้อติดบ้านไว้บ้าง ดังนี้ค่ะ
อ่านต่อ >> “เครื่องใช้และยาสามัญประจำบ้านสำหรับเด็ก” คลิกหน้า 4
- ครีมทากันผื่นผ้าอ้อม เด็กบางคนอาจมีผื่นขึ้นที่ก้นและบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องมาจากการแพ้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป การใช้ครีมทากันผื่นผ้าอ้อมเป็นการรักษาเบื้องต้นที่พ่อแม่สามารถช่วยลดและบรรเทาอาการได้จนหาย ซึ่งครีมทากันผื่นผ้าอ้อม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องและดูแลผิวก้นหนู ๆ เสมือนเป็นเกราะป้องกันภายนอกจากสารระคายเคืองและความเปียกชื้นได้ยาวนาน ให้ใช้ทาบาง ๆ บริเวณก้นลูกหลังทำความสะอาดและซับให้แห้งแล้ว หรือทาทุกครั้งก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อม เพื่อปกป้องและบำรุงผิว
- ครีมทาแก้คันอักเสบบวมเอาไว้ใช้สำหรับทาลดอาการคัน อาการอักเสบจากยุงกัด มดและแมลงอื่น ๆ รวมถึงอาการแสบคันจากแดดและฝุ่นละออง อ่อนโยนไม่ระคายเคืองต่อผิวลูก ใช้ได้ตั้งแต่น้องมีอายุ 1 เดือนขึ้นไป
- ยาทากันยุงและยาทาแก้รอยดำจากยุงกัดเช่น ควรเลือกใช้นาเหล่านี้ที่มีข้อมูลฉลากยาบอกว่าใช้ได้สำหรับเด็กอายุกี่เดือนขึ้นไปเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย (อ่านต่อบทความน่าสนใจ >> “เมื่อลูกโดนยุงกัด ทำอย่างไรดี!” คลิก)
- ปรอทวัดไข้ในปัจจุบันมีให้เลือกหลายชนิด โดยมีทั้งแบบดิจิทัลที่ใช้งานง่าย แม่นยำ และปลอดภัย ส่วนชนิดที่วัดทางหูจะมีราคาแพงกว่า แต่มีความแม่นยำน้อย ส่วนปรอทแก้วไม่ควรใช้ เพราะอาจเกิดอันตรายได้หากแตกหัก
- เจลแปะลดไข้โดยส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นเท่าไหร่ครับ และแพทย์เองก็ไม่แนะนำให้ใช้ด้วย ถ้าลูกมีไข้ต่ำ ๆ (เกิน 37.5 องศาเซลเซียส) ให้คุณแม่สามารถเช็ดตัวให้ลูกโดยใช้ผ้าเปียกแทนจะดีกว่าครับ ซึ่งจะช่วยทำให้ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าลูกมีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ให้รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่หมอแนะนำ
- ลูกยางแดง(อุปกรณ์ดูดน้ำมูก) ในกรณีที่เด็กมีปัญหาน้ำมูกคั่ง ทำให้ดูดนมหรือหายใจลำบาก คุณแม่สามารถใช้ลูกยางแดงหรืออุปกรณ์ดูดน้ำมูกที่ขายในแผนกขายของใช้สำหรับเด็กหรือตามร้านขายยาได้
- น้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์ มีความเข้มข้น 9% เป็นน้ำเกลือสำหรับล้างจมูกที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ใช่เอาน้ำกับเกลือที่มาผสมเองนะคะ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แนะนำให้ซื้อขนาดเล็กก็เพียงพอแล้ว เพื่อใช้ทำความสะอาดโพรงจมูก ลดปริมาณน้ำมูกที่คั่งค้างๆภายในรูจมูกให้ลูกหายใจได้สะดวกมีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนที่ดี และป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจ เสี่ยงต่อภาวะพร่องออกซิเจนในทารก โดยมีวิธีล้างจมูกเเบ่งเป็น 3 ช่วงวัย (อ่านต่อ >> วิธีล้างจมูกลูกอย่างไรให้ปลอดภัย ถูกต้องแต่ละช่วงวัย คลิก!)
- 8. ชุดป้อนยาทารกแนะนำแบบที่เป็นจุกเหมือนขวดนม ใช้ได้ตั้งแต่วัยแรกเกิด จะช่วยทำให้ป้อนยาลูกได้สะดวก มีปริมาณยาที่ถูกต้อง และป้องกันการหกเลอะเทอะในระหว่างการป้อนยาได้ ส่วนหลอดฉีดยา (Syinge) ก็สามารถนำมาใช้แทนได้ครับ แต่ลูกอาจจะสำลักหรือบ้วนยาออกมาและทำให้ได้รับยาในปริมาณน้อยกว่าโดสที่ควรจะเป็นได้
- สำลีแบบต่างๆ ทั้งสำลีก้าน (คอตตอนบัด) ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ สะอาด และปลอดภัย ควรมีไว้หลาย ๆ แบบ สำลีก้านเล็กเอาไว้เช็ดรูจมูก สำลีก้านใหญ่เอาไว้เช็ดรูหู ส่วนสำลีก้านธรรมดาเอาไว้เช็ดสะดือลูกและอื่น ๆ สำลีแผ่นแบบรีดข้าง เอาไว้ใช้สำหรับเช็ดตาลูก สำลีแบบก้อนหรือแบบแผ่น เอาไว้ใช้เช็ดก้นลูก ถ้าอยากประหยัดให้ซื้อแบบม้วนแล้วมาตัดเอาครับ มีขายตามร้านขายยาทั่วไป รวมถึงผ้าก๊อซ เอาไว้ชุบน้ำอุ่นใช้เช็ดปาก เช็ดเหงือก
และที่สำคัญ *ก่อนจะซื้อยานี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนนะคะ เพื่อให้ลูกได้รับตัวยาที่ถูกต้องกับโรค และเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาค่ะ*
นอกจากยาต่างๆ ที่แนะนำให้ใช้ข้างบนแล้ว อย่าลืมนำลูกเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทารกที่เพิ่งเกิดไป ฉีดวัคซีคุ้มกันโรคต่างๆ ตามกำหนดระยะเวลา เพราะการฉีดวัคซีน ดี.พี.ที. กินวัคซีน โปลิโอ ฉีดวัคซีน บี.ซี.จี. จะช่วยป้องกันลูกของคุณจากโรคร้ายร้ายหลายชนิด คือ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ วัณโรค…จะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลังว่า ลูกของเราไม่น่าจะมาเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากโรคที่ไม่น่าจะเป็นเหล่านี้
อ่านต่อบทความน่าสนใจ
คลิก >> ยาอมแก้เจ็บคอ และบรรเทาอาการไอที่ถูกจัดให้เป็นยาอันตราย
คลิก >> การใช้ยาในเด็ก ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยตามวัย
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.doctor.or.th