คุณพ่อคุณแม่ทุกครอบครัวย่อมต้องการให้ลูกมีอนาคตที่ดี จึงมองหาสารพัดวิธีที่จะช่วยในการพัฒนาสมองลูกน้อย ให้ฉลาดเฉลียว ซึ่งวิธีที่ได้ผลอย่างมาก นั่นคือการอ่าน โดยคุณแม่คุณแม่จะต้องปลูกฝัง ฝึกลูกรักการอ่าน ตั้งแต่แรกเกิด แม้อาจต้องคอยหยิบหนังสือออกจากปากลูกทารกอยู่บ่อยๆ ใจก็คิดไปว่าจะ ฝึกลูกรักการอ่าน ตั้งแต่เด็กตัวแค่นี้ได้จริงหรือ? คำตอบคือ ได้แน่นอน! เรามีหลายวิธีง่ายๆ ช่วยให้คุณและลูกทารกสนุกกับหนังสือ เกิดนิสัยรักการอ่าน ซึ่งการอ่านนี้เองที่จะช่วยเสริมสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูกน้อยได้
เทคนิคดี๊ดีเสริมอนาคตลูก ฝึกลูกรักการอ่าน ตั้งแต่วัยทารก!
1. ทำเป็นกิจวัตร
หาจังหวะที่เขาอารมณ์ดี เลือกมุมเงียบๆ เปิดหนังสือ อ่านให้เขาฟังสัก 2 – 3 นาที วันละ 2 – 3 ครั้ง ถ้าทำได้สม่ำเสมออย่างนี้ คอยดูนะ ไม่นานพอถึงเวลานัดหมาย เขาจะเริ่มหันซ้ายหันขวามองหาหนังสือเลยล่ะค่ะ!
2. เล่าด้วยการคุย
วัยนี้ยังไม่ต้องเน้นการเข้าใจเนื้อเรื่อง ควรคุยกับเขาจะดีกว่า แต่เมื่อต้องการให้เขารู้จักคำใดในเรื่องนั้นก็พูดออกเสียงให้ฟังช้าๆ หน่อย เช่น หอมอ อา…หมา วิธีนี้จะช่วยทารกจับเสียงของคำต่างๆ ได้ง่ายขึ้น พอถึงอายุ 9 เดือน ถึง 1 ขวบ เวลามีคำใหม่ๆ มาสอน ลูกจะเข้าใจได้เร็วขึ้นด้วย
3. อย่าปล่อยคำน้อยๆ ของลูกให้ผ่านไป
ขณะที่อ่าน (ดู) หนังสือไปด้วยกัน เมื่อไรที่ลูกออกเสียง คุณควรตอบรับเขาว่า จ้า ใช่แล้ว นั่นแม่ไก่ และตั้งแต่ 4 – 8 เดือน พัฒนาการทางสายตาลูกจะดีขึ้น คราวนี้เริ่มชี้รูปและเล่าเรื่องให้ฟัง ถ้าให้ดีแทรกชื่อของเขาเข้าไปเอี่ยวกับเรื่องด้วย เป็นการช่วยจับความสนใจของลูก พอเล่าได้ลื่นไหลดี ค่อยเพิ่มการบรรยายว่าคุณกำลังทำอากัปกิริยาอะไรระหว่างเล่าก็ได้ เช่น เอาละ…แม่จะเปิดหน้าต่อไปนะ
อ่านต่อ เทคนิคดี๊ดี ฝึกให้ลูกรักการอ่าน ตั้งแต่ยังแบเบาะ คลิกหน้า 2
4. ใช้ร่างกายช่วย
เพราะแอ๊คชั่นประกอบนี่แหละทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าหนังสือเป็นเพื่อนแสนสนุก จะให้เขานั่งตักคุณ แล้วโยกเป็นจังหวะหรือ ถ้าอ่านหนังสือแบบมีตัวอย่าง ให้แตะต้องสัมผัสได้ (touch-and-feel) ก็จับนิ้วเขาให้สัมผัส ลูบคลำตัวอย่างของจำลองในหนังสือนั้น แม้แต่ช่วยจับมืออ้วนกลมของเขามาตบให้มีเสียง ก็เร้าใจเด็กน้อยสุดๆ แล้ว!
5. ค่อยเป็นค่อยไป
ลูกวัยนี้ยังเล็กเกินกว่าจะติดตามสนใจเรื่องราวได้ตลอด เขาอาจเปิดหนังสือข้ามหน้า หรือปิดเล่มก่อนจบก็ได้ ในเมื่อเขาอยากจบเรื่องแล้ว ก็จบ ยังมีอะไรให้เขาทำอีกมาก ไว้เขาอยากอ่านอีกเมื่อไรค่อยอ่านต่อ ดีกว่าบังคับกันตั้งเยอะเลยค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ