AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

น้ำหนักเด็กแรกเกิด ลูกน้ำหนักตัวน้อยเป็นอะไรไหม?

น้ำหนักเด็กแรกเกิด เป็นสิ่งที่คุณหมอให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อลูกคลอดออกมา นั่นเป็นเพราะ น้ำหนักเด็กแรกเกิด สามารถเป็นข้อมูลที่ชี้วัดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความไวต่อการเจ็บป่วย การพิการ และการตายในระยะปริกำเนิด ดังนั้น น้ำหนักลูกในท้องเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ใกล้คลอด

น้ำหนักเด็กแรกเกิด ลูกน้ำหนักตัวน้อยเป็นอะไรไหม?

น้ำหนักเด็กแรกเกิดหนักแค่ไหนเรียกปกติ?

การดู น้ำหนักเด็กแรกเกิด จะจำแนกตามปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. จำแนกตามน้ำหนักเมื่อแรกคลอด
    • เด็กทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนัก 2,500 กรัม – 4,000 กรัม เรียกว่าน้ำหนักปกติ
    • เด็กทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม เรียกว่าน้ำหนักมากผิดปกติ
    • ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักระหว่าง 1,501-2,499 กรัม เรียกว่า น้ำหนักน้อย (Low Birth Weight)
    • ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักร่ะหว่าง 1,000-1,500 กรัม เรียกว่า น้ำหนักน้อยมาก (Very Low Birth Weight)
    • เด็กทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1,000 กรัม เรียกว่า น้ำหนักน้อยมาก ๆ (Extremely Low Birth Weight)
  2. จำแนกตามอายุครรภ์
    • ทารกที่เกิดก่อน 37 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ เรียกว่า ทารกเกิดก่อนกำหนด
    • ทารกที่เกิดระหว่าง 37-42 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ เรียกว่า ทารกเกิดครบกำหนด
    • ทารกที่เกิดหลัง 42 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ เรียกว่า ทารกเกิดหลังกำหนด
  3. คำนวณตามน้ำหนักแรกเกิดและอายุในครรภ์ โดยนำน้ำหนักแรกเกิดและอายุในครรภ์มาเปรียบเทียบกัน สามารถกำหนดได้ดังนี้
    • ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าอายุในครรภ์ (SGA) หมายถึง ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 10 เมื่อเทียบกับทารกปกติที่มีอายุในครรภ์เท่ากัน หรือเรียกว่า ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่าอายุครรภ์
    • ทารกแรกเกิดน้ำหนักเหมาะสมกับอายุในครรภ์ (AGA) หมายถึง ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักอยู่ระหว่างเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 10 ถึง 90 เมื่อเทียบกับทารกปกติที่มีอายุในครรภ์เท่ากัน หรือเรียกว่า ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักเหมาะสมกับอายุครรภ์
    • ทารกแรกเกิดน้ำหนักมากกว่าอายุในครรภ์ (LGA) หมายถึง ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมากกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 90 เมื่อเทียบกับทารกปกติที่มีอายุในครรภ์เท่ากัน หรือเรียกว่า ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมากกว่าอายุครรภ์

สำหรับเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเด็กทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย จะนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์สูญเปล่า นำพาไปสู่ความโศกเศร้าของครอบครัวได้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เสี่ยงต่ออะไรบ้าง?

เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เสี่ยงต่ออะไรได้บ้าง?

การจะกล่าวว่า น้ำหนักเด็กทารกแรกเกิด เพียงอย่างเดียวมีผลโดยตรงกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูก คงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะอย่างที่ได้กล่าวข้างต้นว่านอกจากจะดู น้ำหนักเด็กแรกเกิด แล้ว ยังต้องดูถึงกำหนดคลอดและอายุในครรภ์ประกอบอีกด้วย ดังนั้นเด็กที่เกิดครบกำหนดคลอด แต่มีน้ำหนักตัวน้อย ก็อาจจะไม่มีปัญหาหรือเสี่ยงต่ออาการต่าง ๆ ที่เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม อาการต่อไปนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อย

  1. ความเสี่ยงในการเสียชีวิตในระยะปริกำเนิด (ปริกำเนิด คือ การเสียชีวิตของตัวอ่อนหรือทารกแรกเกิดในช่วงของการคลอด ก่อนการคลอด และหลังการคลอดที่น้อยกว่า 28 วัน)
  2. ความเสี่ยงในการเสียชีวิตในขวบปีแรก
  3. มีความไวต่อการเจ็บป่วยและติดเชื้อต่าง ๆ
  4. มีปัญหาทางด้านการหายใจที่เรียกว่า ภาวะกดการหายใจในทารกแรกคลอด (Respiratory Distress Syndrome, RDS)
  5. เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างผิดปกติและเป็นอันตราย มักทำให้เกิดอาการสั่นและอ่อนเพลีย
  6. มีปัญหากับการดูดนม หรือ ปัญหาทุพโภชนาการ
  7. เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดข้น (Polycythemia) คือ ภาวะที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดในจำนวนที่มากผิดปกติ ทำให้เลือดข้นขึ้น ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย และทำให้เด็กแรกเกิดหน้าแดง มือและเท้าแดง ความดันโลหิตสูง เลือดกำเดาไหล ฟกช้ำ เป็นต้น
  8. มีพัฒนาการช้า

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ น้ำหนักเด็กแรกเกิด อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีน้ำหนักน้อย?

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักน้อย?

สาเหตุนี้ไม่ได้นับรวมถึงเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยจากกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและเกิดโรค และสาเหตุต่อไปนี้เป็นสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

  1. การคลอดก่อนกำหนด
  2. แม่ท้องที่ตั้งครรภ์แฝด ที่ต้องแบ่งอาหารและพื้นที่ในครรภ์คุณแม่
  3. เด็กแรกเกิดเป็นโรคทางพันธุกรรม
  4. ปัญหารกเสี่อม รกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงเด็กในท้องได้
  5. แม่ท้องที่เป็นโรคความดันในเลือดสูง
  6. แม่ท้องที่มีอายุน้อย  หากท้องไม่พร้อม จะทำให้ได้รับการบำรุงครรภ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  7. แม่ท้องที่ติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์
  8. ควันบุหรี่มือสองที่ลูกในท้องได้รับ
  9. แม่ท้องที่อารมณ์อ่อนไหว

หากลูกเกิดมาแล้วมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ คุณพ่อคุณแม่ช่วยอะไรได้บ้าง?

นอกจากการดูแลรักษาเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยจากแพทย์แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยให้ลูกกลับมามีน้ำหนักตามเกณฑ์และมีสุขภาพที่แข็งแรงเหมือนเด็กทั่วไปได้ ดังนี้

  1. ให้ลูกได้ทานนมแม่ เด็กแรกคลอดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ มักจะมีความต้องการสารอาหารต่าง ๆ เช่น  แคลเซียม  โปรตีน  เกลือแร่  วิตามินสูงกว่าเด็กปกติทั่วไป นมแม่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และจะช่วยให้ลูกกลับมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้
  2. คอยตรวจเช็คน้ำหนักและการเจริญเติบโตของลูกน้อยอยู่เสมอ (อ่านต่อ ไขข้อสงสัย! ทารกแรกเกิดควรมีน้ำหนักเท่าไหร่?) และพาลูกได้ฉีดวัคซีนเมื่อถึงเวลานัด
  3. เมื่อลูกโตขึ้น คอยตรวจเช็คน้ำหนักลูกเพื่อไม่ให้น้ำหนักขึ้นเร็วจนเกินไป เพราะอาจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในอนาคตได้ การทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้ลูกเติบโตสมวัย

เมื่อทราบแล้วว่าสาเหตุใดบ้างที่อาจทำให้ลูกในท้องเกิดมาแล้วมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ แม่ท้องทุกคน ก็ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุเหล่านั้น และควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้แพทย์ได้คอยติดตามสุขภาพของลูกในท้องอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะคลอดออกมาแล้วมีน้ำหนักน้อยได้เช่นกันค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ทารกในครรภ์เติบโตช้า ภาวะน่าเป็นห่วง

ตารางน้ำหนักทารกในครรภ์ กับวิธีการตรวจดูขนาดของลูกในท้องว่าตัวเล็กหรือใหญ่!

พบกับทารก คลอดก่อนกำหนด น้ำหนัก 400 ก. ต่อสู้ชีวิตจนรอด

ขอบคุณข้อมูลจาก : baby center

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids