เพราะลูกทารกยังพูด ยังบอกไม่ได้ ดังนั้นถ้าพ่อกับแม่ได้รู้ทัน อารมณ์ของเด็กทารก ว่าหน้าตา ท่าทางแบบไหนแปลว่าลูกกำลังมีสุขหรือมีปัญหาอะไร จะทำให้คุณช่วยเหลือลูกน้อยได้ถูกจุดมากขึ้น
ถอดรหัส อารมณ์เบบี๋
• แรกเกิด – 6 เดือน
ส่วนใหญ่ลูกน้อยจะใช้การร้องไห้เป็นการส่งสัญญาณบอกความต้องการต่างๆ กว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของทารกจะเริ่มทำงานก็เมื่อเขาอายุ 6-8 เดือน นั่นแปลว่าถึงจะมีสีหน้าที่ดูมีความสุข แต่ลูกวัยต่ำกว่า 6 เดือนก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขจริงๆ การตอบสนองต่อเสียงร้องของทารกให้เร็วเท่าที่จะทำได้ จึงเป็นวิธีรักษาสมดุลของอารมณ์ทารกได้ดีที่สุด
• 6 เดือนขึ้นไป
ลูกน้อยจะรู้จักโต้ตอบมากกว่าตอนแรกเกิด และแสดงท่าทีให้คุณรู้เมื่อมีสิ่งที่ทำให้พอใจหรือไม่พอใจเช่นยิ้มกว้างเมื่อคุณเดินเข้ามาในห้องหรือร้องไห้เมื่อมีคนแย่งของเล่นชิ้นโปรดไป ถึงสมองส่วนอารมณ์จะทำงานแล้ว แต่อารมณ์ของลูกวัยนี้ก็ยังแปรปรวนมาก นั่นเพราะเปลือกสมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ต่อเมื่อเปลือกสมองพัฒนาไปตามวัย เขาจึงจะค่อยๆ ควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ได้ดีขึ้น วัยนี้ยังร้องไห้บ่อยกว่าหัวเราะ เพราะเสียงร้องไห้และสีหน้าที่แสดงถึงความทุกข์ ยังเป็นวิธีส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่ดีที่สุด ให้คุณรีบจัดการกับปัญหา
อ่านต่อ “วิธีอ่านสีหน้า ท่าทาง ลูกทารก” หน้า 2
หัดอ่านสีหน้า ท่าทาง
ถ้าหัดสังเกตที่ลักษณะของคิ้ว ปากและเสียงร้องไห้ พ่อแม่ก็น่าจะบอกได้ว่าปัญหาของลูกน้อย คือหิว ไม่สบายตัว เจ็บปวด ไม่สบายใจ ไปจนโกรธหรือแค่ความเบื่อหน่าย
- หิว เบบี๋มักดันลิ้นมาใกล้ริมฝีปาก และส่งเสียงร้องจากเบาแล้วค่อย ๆ ดังขึ้น
- เจ็บปวด หรือตกใจ มักจะส่งเสียงร้องไห้จ้าทันที คิ้วขมวด
- ไม่สบายตัว เบบี๋มักจะร้องไห้แบบมุมปากบิดลงและกลางคิ้วโก่งขึ้น
- อยู่ในที่ที่เสียงดัง ๆ หรือมีแสงจ้า ๆ เบบี๋อาจเริ่มไม่สบายใจ เขามักจะขมวดคิ้ว หรือเบ้ปากและถ้าเสียงยิ่งดังขึ้นหรือแสงยิ่งจ้าขึ้น ความรู้สึกไม่สบายใจก็จะเปลี่ยนเป็นความโกรธ
- โกรธ เขาจะหน้าแดง คิ้วหลุบลง กรามขบแน่นและแผดเสียงร้อง ขณะที่ทารกบางคนโกรธจะติดพ่อแม่แจแบบแกะกันไม่ได้เลย
- เริ่มเบื่อ มักจะเอามือป่ายหรือปิดที่ใบหน้า ส่งเสียงร้องสั้น ๆ ในลำคอ กระสับกระส่าย
ข้อควรระวัง!
พ่อแม่มักจะอ่านอารมณ์ลูกโดยตีความเกินจากสิ่งที่เห็นมากเกินไป ควรมองว่าลูกพอใจหรือไม่พอใจโดยดูจากสิ่งใกล้ตัวหรือสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะอยู่ตรงหน้าคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock