วิธีการ เคาะปอดขับเสมหะ ให้ลูกน้อย เพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น เพราะเสมหะเกิดจากการระคายเคืองหรืออักเสบของทางเดินหายใจและปอด ทำให้เยื่อบุผิวภายในของทางเดินหายใจและปอดผลิตน้ำคัดหลั่ง มีลักษณะเหลวใส ถ้าสั่งออกมาได้ทางจมูกเราก็มักเรียกว่าน้ำมูก ถ้าออกผ่านทางปากก็มักเรียกว่าเสมหะ
เคาะปอดช่วยขับเสมหะ ได้อย่างไร?
น้ำมูกที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงจมูกจะกระตุ้นปลายประสาทที่อยู่ในโพรงจมูก ทำให้เกิดการจาม
ส่วนเสมหะที่เกิดในคอ หลอดลม และถุงลมนั้น ถ้ามีการไหลมายังหลอดลมใหญ่ก็จะกระตุ้นปลายประสาทให้มีการไอ
การจามและไอนี้เป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจและปอด เพื่อให้อากาศที่หายใจผ่านเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้อย่างสะดวก ก๊าซออกซิเจนจะซึมผ่านผนังถุงลมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปใช้เลี้ยงทั่วร่างกายและสมอง
หากเสมหะถ้าขังอยู่ในปอดก็จะทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าไปถึงผนังถุงลมและมีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ ร่างกายและสมองจะมีภาวะออกซิเจนต่ำและคาร์บอนไดออกไซด์สูง เกิดอาการเหนื่อยง่าย หน้ามืด ตัวเขียว และถ้าเสมหะขังอยู่นานผนังถุงลมจะเสื่อมสภาพ
นอกจากนั้นเสมหะถือว่าเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อโรค ถ้าเสมหะมีการติดเชื้อก็จะเปลี่ยนจากของเหลวใสเป็นข้นขุ่นสีเหลืองหรือเขียว และอาจมีไข้ได้
การขจัดเสมหะ
ถ้าไม่บ้วนเสมหะทิ้ง เสมหะจะถูกกลืนเข้ากระเพาะอาหารในเด็กเล็กที่กระเพาะอาหารยังเล็กอยู่ เมื่อมีเสมหะเต็มกระเพาะอาหาร จะทำให้เด็กเบื่ออาหาร เมื่อให้อาหาร เด็กจะกินเข้าไปได้เล็กน้อยแล้วจะอาเจียนเอาเสมหะออกมามาก
เสมหะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าเสมหะมากควรขจัดออกให้ได้วันละ 3 ครั้ง คือ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ตอนกลางวัน และก่อนนอนตอนกลางคืน การจัดท่าทาง เคาะหรือสั่นปอดควรทำก่อนกินอาหาร น้ำ นม หรือของขบเคี้ยวอื่นๆ หรือภายหลังกินไปแล้ว 2 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะเกิดการไอ และสำลักเอาเศษอาหารเข้าหลอดลมอุดตันทางเดินหายใจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
การ เคาะปอดขับเสมหะ
การเคาะปอดจะช่วยให้เสมหะที่ติดค้างอยู่ตามถุงลมเกิดการสั่นสะเทือนและหลุดล่อนออกจากถุงลมโดยจะทำร่วมกับการจัดท่า หรือทำการเคาะปอดก่อนแล้วค่อยจัดท่า เพื่อให้เสมหะที่หลุดออกจากถุงลมไหลออกไปตามแขนงปอด
อ่านต่อ >> “หลักการการเคาะปอดเพื่อระบายเสมหะให้ลูกน้อย” คลิกหน้า 2
การเคาะปอดเพื่อระบายเสมหะในเด็กเล็ก
การเคาะปอดเป็นเทคนิคการรักษาอย่างหนึ่ง โดยเป็นการเคาะบริเวณทรวงอก เพื่อทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปยังปอด ช่วยร่อนระบายเสมหะที่ติดอยู่ตามเนื้อปอดและหลอดลม ให้หลุดออกและระบายออกไปได้ง่ายขึ้นโดยการไอ หรือ กรณีที่ไม่สามารถไอขับเสมหะออกมาได้ สามารถใช้ลูกยางแดงหรือเครื่องดูดเสมหะดูดเสมหะออกมาได้ เช่นกัน
หลักการการเคาะปอดเพื่อระบายเสมหะให้ลูกน้อย
- การจัดท่า เพื่ออาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เสมหะไหลออกจากหลอดลมเล็กส่วนปลายเข้าสู่หลอดลมใหญ่ตรงกลาง เมื่อเด็กไอเสมหะจะถูกขับออกมาได้มากขึ้น
- การเคาะใช้อุ้งมือ (ดังรูป) ไม่ควรใช้ฝ่ามือ ควรทำมือให้เป็นลักษณะคุ้ม นิ้วชิดกัน ที่เรียกว่า cupped hand เคาะบริเวณทรวงอกส่วนที่ต้องการระบายเสมหะ
- ใช้ผ้ารองบนส่วนที่จะเคาะ
- การเคาะแต่ละท่าควรใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมา1-3 นาที หรือนานกว่านั้นถ้ายังมีเสียงเสมหะมากอยู่
- ขณะเคาะหากเด็กไอ ควรใช้การสั่นสะเทือนช่วย โดยใช้มือวางราบ พร้อมทั้งเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนและหัวไหล่ทำให้มือสั่น ในระหว่างที่กำลังไอหรือช่วงที่เด็กหายใจออก
- ฝึกการไอให้มีประสิทธิภาพ (ทำได้เฉพาะเด็กที่ รู้เรื่อง สามารถเข้าใจและทำตามคำอธิบายได้) ฝึกได้โดยให้เด็กหายใจเข้าเต็มที่ช้า ๆ กลั้นไว้สักครู่ และไอออกมาโดยเร็วและแรง
- ควรทำการระบายเสมหะก่อนมื้อนมหรืออาหาร หรือขณะท้องว่าง หรืออย่างน้อย 2 ชั่วโมง หลังอาหาร เพื่อป้องกันการสำลักและอาเจียน
การจัดท่าเคาะปอด
ท่าที่ 1 ปอดกลีบซ้ายบนส่วนยอด จัดให้เด็กอยู่ในท่านั่งเอนตัวมาข้างหลังประมาณ 30°เคาะบริเวณด้านบน เหนือทรวงอกด้านซ้าย ระหว่างกระดูกไหปลาร้าและกระดูกสะบัก
ท่าที่ 2 ปอดกลีบซ้ายบนด้านหลัง จัดท่าให้เด็กนั่งคร่อมตัวมาทางด้านหน้าเล็กน้อย (30°) บนแขนของผู้ให้การบำบัด เคาะบริเวณด้านหลังตอนบนเหนือกระดูกสะบัก ระหว่างกระดูกต้นคอและหัวไหล่
ท่าที่ 3 ปอดกลีบซ้ายบนด้านหน้า จัดท่านอนหงายราบ เคาะบริเวณเหนือราวนมต่ำจากกระดูกไหปลาร้าเล็กน้อย
อ่านต่อ >> “การจัดท่าเคาะปอด ท่าที่ 4 – 7
และชมคลิปวีดีโอสาธิตวิธีการเคาะปอดให้ลูกน้อย คลิกหน้า 3
ท่าที่ 4 ปอดกลีบซ้ายส่วนกลาง จัดท่าให้ศีรษะต่ำลงประมาณ 15° และตะแคงด้านซ้ายขึ้นมาประมาณ ¼ จากแนวราบ และเคาะบริเวณราวนมด้านซ้าย
ท่าที่ 5 ปอดกลีบซ้ายล่างส่วนชายปอดด้านหน้า จัดให้เด็กนอนตะแคงกึ่งคว่ำหน้า ศีรษะต่ำ 30° ประคองทรวงอกบริเวณชายโครงด้านซ้ายหงายขึ้นมาเล็กน้อย เคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้างตอนหน้าต่ำจากราวนมลงมาเล็กน้อย
ท่าที่ 6 ปอดกลีบซ้ายล่างส่วนชายปอดด้านข้าง จัดท่าศีรษะต่ำ 30° นอนตะแคงเกือบคว่ำ เคาะบริเวณด้านข้างเหนือชายโครงระดับเดียวกับท่าที่ 5 ใต้ต่อรักแร้ของเด็ก
ท่าที่ 7 ปอดกลีบซ้ายด้านล่างส่วนหลัง จัดท่าศีรษะต่ำ 30° นอนคว่ำ เคาะบริเวณด้านหลังต่ำจากกระดูกสะบักลงมาในระดับเดียวกับชายโครงด้านหน้า
หมายเหตุ : ในภาพเป็นการแสดงท่าระบายเสมหะจากปอดด้านซ้าย สำหรับการระบายเสมหะจากปอดด้านขวาให้จัดท่าแบบเดียวกันแต่สลับข้างจากซ้ายเป็นขวาถ้าทราบว่า พยาธิสภาพอยู่ที่ปอดส่วนไหนให้เน้นเคาะที่ตำแหน่งนั้นเป็นพิเศษ
หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่เข้าใจวิธีทำข้างต้น เรามีคลิปวีดีโอการเคาะปอดลูกน้อยมาฝากค่
ไปชมคลิปกันเลย
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก Thirathat Thongkaew
และขอขอบคุณข้อมุลจาก : โครงการส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเด็ก www.thaipedlung.org
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
อยากให้ลูกเป็น เด็กฉลาด-หัวไว พ่อแม่ต้องทำ 5 สิ่งนี้!!
วิจัยเผยข้อดี! ลูกติดตุ๊กตา ติดผ้าเน่า มีผลต่อพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจ
วิธีบอกรักลูก ฉบับง่าย! แม้ไม่มีคำว่า “รัก” แต่ลูกรับรู้ได้!!