AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคเริมในเด็กอันตราย ลูกเสี่ยงเสียชีวิต เพราะจูบ

โรคเริมในเด็กอันตราย

อุทาหรณ์เตือนใจ ไม่ควรให้ผู้ใหญ่ที่ป่วย สัมผัสเด็กทารกแรกเกิด เมื่อครอบครัวชาวอังกฤษครอบครัวหนึ่งต้องสูญเสียลูกน้อยเพราะความประมาท เมื่อคุณพ่อผู้ป่วยเป็นโรคเริมจูบลูกน้อยด้วยความรักโดยไม่รู้ว่า โรคเริมในเด็กอันตราย เพราะเชื้อไวรัสได้แพร่จากพ่อสู่ลูกผ่านจูบนั้น

หนูน้อยต้องอยู่ในเครื่องช่วยหายใจนาน 6 สัปดาห์ก่อนที่จะเสียชีวิต หลังจากที่คุณพ่อ คุณแม่พบว่าเมื่อคลอดและกลับมาบ้านได้ 2 สัปดาห์ ลูกน้อยมีอาการผิดปกติรุนแรง ถึงกับหยุดหายใจ คุณพ่อ คุณแม่จึงรีบพามาส่งที่โรงพยาบาล เมื่อไปถึงก็พบว่าลูกไม่สามารถหายใจเองได้แล้ว หลังจากนอนอยู่ที่โรงพยาบาลได้ 6 สัปดาห์ด้วยเครื่องหายใจ คุณหมอต้องแจ้งทางเลือกที่เจ็บปวดที่สุด คือการถอดเครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้ลูกจากไปอย่างสงบ คุณแม่เล่าว่าวินาทีสุดท้ายนั้น ลูกน้อยได้วางมือของตัวเองลงบนมือคุณแม่คล้ายเป็นคำบอกลา ก่อนจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

คุณพ่อหัวใจสลาย และเฝ้าโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุทำให้ลูกเสียชีวิต ถ้าเขาไม่เข้ามาใกล้ลูก ไม่มาจูบลูก วันนี้ลูกก็คงจะยังมีชีวิตอยู่ ส่วนคุณแม่ก็เศร้าเสียใจเป็นทวีคูณเมื่อต้องสูญเสียลูกน้อย และเห็นสามีเฝ้าโทษตัวเองตลอดเวลา

การติดเชื้อเริมในทารกแรกเกิด

อ่านต่อ “โรคเริมในเด็กอันตรายที่พ่อแม่ควรรู้” คลิกหน้า 2

โรคเริมในเด็กอันตรายที่พ่อแม่ควรรู้

เชื้อไวรัสเริมสามารถติดต่อกันได้ผ่านการจูบ หรือการให้นม ในผู้ใหญ่อาจมีเชื้อได้โดยไม่ทำอันตรายกับร่างกาย แต่สำหรับเด็กทารกที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เป็นอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะ 6 สัปดาห์แรกของชีวิตยิ่งอันตรายที่สุด สัญญาณแรกที่สังเกตได้ คือ ทารกไม่ยอมดูดนม ซึม มีไข้ ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ ถ้าพบว่ามีอาการแบบนี้ให้รีบพาไปหาคุณหมอ

อาการของโรคเริมพบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการของโรค ไปจนถึงเสียชีวิต สามารถติดต่อได้ทางผิวหนัง หรือเยื่อบุที่เปิด เช่น ทางตา เพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูก โดยมีอาการต่างๆ กันตามการติดเชื้อ เช่น ที่ตามีอาการตาแดง มีลักษณะตุ่มน้ำใสบริเวณที่ติดเชื้อ เป็นต้น ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันปกติจะไม่แสดงอาการ แต่จะแสดงอาการในคนที่ภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กทารก ผู้ได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อสามารถแพร่กระจายในเลือดและอวัยวะต่างๆ ได้

เริมในช่องปากเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของการติดเชื้อครั้งแรก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กช่วงอายุ 10 เดือน – 3 ขวบ เมื่อหายแล้วเชื้อมักหลบซ่อนที่ปมประสาท ถ้ามีปัจจัยกระตุ้น เช่น เป็นไข้ โดนแดดจัด ร่างกายอ่อนแอ เชื้อที่แฝงอยู่ก็จะกำเริบขึ้นมาอีก

การรักษาและการป้องกันโรคเริมในเด็ก

เภสัชกร ภญ.วรพา คุณาวุฒินันท์กร กล่าวว่า การรักษามีวิธีการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งมีทั้งรูปแบบทั้งยาฉีด ยารับประทาน และยาทาภายนอก ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่คุณหมอแนะนำ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ถ้าสัมผัสบริเวณแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เยื่อบุบริเวณอื่น และหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คุณพ่อ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือจูบเด็กทารกแรกคลอด ถ้ายังไม่แน่ใจว่าตัวเองมีเชื้อดังกล่าว หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยเอง ควรตรวจสุขภาพร่างกายให้พร้อมก่อนที่จะมีลูกนะคะ

เครดิต: ผู้จัดการออนไลน์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Save

Save