AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ล้างจมูกลูก อย่างไรให้ปลอดภัย ถูกต้องแต่ละช่วงวัย

เคล็ดลับล้างจมูกลูกน้อยอย่างปลอดภัย

เหตุผลที่ควร ล้างจมูกลูก เพราะน้ำมูกเป็นสิ่งอุดตันประเภทหนึ่งที่สร้างความรำคาญให้แก่ลูกน้อย เพราะในช่วงเด็กวัยไม่ถึงขวบจะยังสั่งน้ำมูกออกเองไม่เป็น ซึ่งมีผลทำให้เขาหายใจไม่สะดวก รู้สึกอึดอัดรวมทั้งนอนหลับไม่สนิท อยากให้เรานึกถึงตอนเราเป็นหวัดคัดจมูก มีน้ำมูกมาก ๆ ในรูจมูก ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถออกแรงสั่งดังปี้ดป๊าดออกมาในกระดาษทิชชูได้ แต่เด็กทารกไม่สามารถทำได้อย่างนั้น เขาต้องอาศัยการดูแลจากคุณพ่อคุณแม่ ล้างจมูกลูก ดูดน้ำมูกออกให้

และเมื่อเข้าฤดูฝน ด้วยแล้วก็มักพาโรคภัยหลายๆ อย่างตามมาด้วย การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนี้ได้แก่ หวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน ความรุนแรงแตกต่างกันออกไป อย่างที่ทราบไม่มียาชนิดไหน กำจัดเชื้อหวัดได้ทุกสายพันธุ์

อาการหวัดมักทำให้เด็กๆ มีน้ำมูก น้ำมูกหากอัดแน่นในโพรงจมูกลูกโดยไม่ได้ระบายออกลูกรักอาจเสียชีวิตจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้น อย่ากลัวที่จะล้างจมูกให้ลูก คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องมั่นใจล้างจมูกลูกให้เป็น

ประโยชน์ของการล้างจมูก

• ช่วยล้างน้ำมูกที่เหนียวข้นให้ออกจากโพรงจมูก
• ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก
• ทำให้อาการหวัดเรื้อรังดีขึ้น ลดน้ำมูกและเสมหะที่จะไหลลงคอ
• ลดจำนวนเชื้อโรค มลพิษ และสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก
• ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกไปยังหูชั้นกลาง หรือลงไปสู่ปอด
• บรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ระคายเคือง และลดการอักเสบในจมูก โดยทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้หายใจโล่งขึ้น

วิธีล้างจมูก

ก่อนอื่นควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ โดยให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก การใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกหลังการล้างได้ การอุ่นน้ำเกลือสามารถทำได้โดยต้มน้ำประปาให้เดือดในหม้อต้ม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่สามารถใส่ขวดน้ำเกลือเพื่อลงไปอุ่นได้ หลังจากนั้นปิดไฟ แล้วนำขวดน้ำเกลือใส่ลงไปแช่ในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที (ขวดน้ำเกลือที่ซื้อมาจากโรงพยาบาลหรือร้านขายยา สามารถทนความร้อนได้) แล้วนำขวดน้ำเกลือนั้นขึ้นมาเทน้ำเกลือใส่ถ้วย หรือภาชนะสะอาด หรือเทน้ำเกลือจากขวดน้ำเกลือใส่ถ้วย หรือภาชนะสะอาดแล้วนำไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ ก่อนนำน้ำเกลือที่อุ่นแล้วนั้นมาล้างจมูก ควรทดสอบกับหลังมือเสียก่อน น้ำเกลือควรจะอุ่นในขนาดที่หลังมือทนได้ โดยวิธีล้างจมูกของเด็กแต่ละช่วงวัยมีดังต่อไปนี้

อ่านต่อ >> “วิธีล้างจมูกสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย (มีคลิป)” คลิกหน้า 2


สำหรับเด็กอ่อน 0-6 เดือน

จะใช้วิธีการเช็ดจมูกมากกว่าการสวนล้าง หากมีน้ำมูกมากต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและให้พยาบาลเป็นผู้ดูดด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อลดการระคายเคืองของเยื่อบุโพรงจมูก ในเด็กเล็กที่มีน้ำมูกไม่มากคุณแม่สามารถกำจัดน้ำมูกให้ลูกได้เองดังนี้

1. ห่อตัวทารก เพื่อป้องกันการขยับไปมา
2. อุ้มในท่าศีรษะสูงเล็กน้อย หยดน้ำเกลือ 2-3 หยด ในจมูกข้างที่มีน้ำมูกหรือทั้ง 2 ข้าง ปล่อยไว้นาน 5 – 10 นาที จนน้ำมูกอ่อนตัว
3. ใช้ลูกยาง ดูดน้ำมูกในโพรงจมูกออกให้หมด
4. ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือแล้วเช็ดในรูจมุกอีกครั้งหลังดูดน้ำมูกเสร็จ
5. หลังดูดน้ำมูกเสร็จ สิ่งสำคัญคือ ต้องล้างทำความสะอาดลูกยางแล้วตากให้แห้ง เพื่อป้องกันการสระสมของเชื้อโรค และเข้าสู่ร่างกายลูกหากต้องใช้เป็นประจำ ควรดูดน้ำมูกลูกวันละ 1-2 ครั้ง หากพบว่าปริมาณน้ำมูกมีมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

ชมคลิปสาธิตวิธีการล้างจมูกให้ลูกน้อยวัยแรกเกิด – 6 เดือน

สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้หรือ อายุ 6 เดือนขึ้นไป

เด็กวัยนี้กระดูกคอเริ่มแข็งแรงเด็กคว่ำได้เองแล้ว คุณแม่สามารถอุ้มลูกในท่าคว่ำได้โดยไม่อันตราย การล้างจมูกจึงแตกต่างจากวัยทารก มีวิธีการดังนี้

1. ล้างมือคุณแม่ให้สะอาด
2. ใช้ผ้าห่อตัวลูกในกรณีที่ดิ้นมากๆ ซึ่งการห่อตัวเด็กจะช่วยให้ผู้ล้างจมูกสามารถล้างจมูกได้สะดวก นุ่มนวลและไม่เกิดการบาดเจ็บ
3. อุ้มลูกในท่าอุ้มลูกฟุตบอลหรือท่ารักบี้หนีบไว้ด้านข้างคว่ำหน้าลง มือประคองที่ใต้คางไว้ให้มั่นคง
4. ดูดน้ำเกลือให้เต็มไซริงต์หรือลูกยาง (เตรียมไว้ก่อนจะดีกว่า)
5. ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกลูกข้างใดข้างหนึ่งก่อน การฉีดให้ฉีดต่อเนื่องครั้งเดียว น้ำเกลือและน้ำมูกจะไหลออกมาจากโพรงจมูก ปล่อยให้ลูกได้พักหายใจแล้วทำซ้ำจนกว่าจะสะอาด
6. ทำซ้ำหลายๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก
7. ในกรณีที่รู้สึกว่ามีเสมหะในลำคอ ให้สอดลูกยางแดงเข้าทางปากเพื่อดูดเสมหะในคอออก ถ้าต้องการให้เด็กไอเอาเสมหะออก ให้สอดลูกยางแดงลึกถึงประมาณโคนลิ้นเพื่อกระตุ้นให้ไอ และทำการดูดเสมหะเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยระหว่างดูดเสมหะ ให้จับหน้าเด็กหันไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก

อ่านต่อ >> “วิธีล้างจมูกสำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป (มีคลิป)” คลิกหน้า 3


สำหรับเด็กโตที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้ อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

ซึ่งเราจะไม่ใช้ลูกยางดูดน้ำนมูกแล้ว เพราะมีวิธีที่ดีกว่า สามารถลดน้ำมูกได้ดีกว่าคือ การล้างจมูก การล้างจมูกทำได้ไม่ยาก ดูครั้งแรกอาจจะดูหวาดเสียวสำหรับคุณแม่มือใหม่ อยากรู้ว่าลุกจะรู้สึกอย่างไร แนะนำให้ทำกับคุณแม่ก่อนค่อยไปทำกับลูกนะคะ ขั้นตอนมีดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ให้ลูกนั่งหรือยืน และก้มหน้าเล็กน้อยเพื่อให้น้ำเกลือ และน้ำมูกไหลออกมาจากจมูกได้สะดวก แนะนำนั่งในห้องน้ำ เพื่อไม่ให้เลอะเปียก
2. ค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น และค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5 – 1 ซีซีหรือเท่าที่เด็กทนได้ พร้อมกับสั่งให้เด็กกลั้นหายใจ หรือกลืนน้ำเกลือที่ไหลลงคอเป็นระยะ ๆ ระหว่างฉีดน้ำเกลือ หรือให้บ้วนทิ้งก็ได้
3. สั่งน้ำมูกพร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง (ไม่ควรอุดรูจมูกอีกข้าง)
4. ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก

ชมคลิปสาธิตวิธีการล้างจมูกให้ลูกโตวัย 1 ปีขึ้นไป

วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก
ให้ล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโตและเพิ่มปริมาณโดย
• ให้ล้างกระบอกฉีดยาและภาชนะที่ใส่น้ำเกลือ ด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนหมดน้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน แล้วผึ่งให้แห้ง
• ล้างลูกยางแดงด้วยน้ำสบู่ทั้งภายนอกและภายใน และล้างตามด้วยน้ำประปาจนสะอาด และควรนำไปต้มในน้ำเดือดวันละครั้งโดยดูดน้ำเดือดเข้ามาในลูกยางแดง ต้มประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วบีบน้ำที่ค้างในลูกยางออกจนหมด วางคว่ำในภาชนะที่สะอาด โดยคว่ำปลายลูกยางแดงลง

ควรล้างจมูกบ่อยเพียงใด

ควรล้างจมูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งช่วงตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน หรือเมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกมาก แน่นจมูก หรือก่อนใช้ยาพ่นจมูก หรือยาหยอดจมูก แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก

ข้อควรระวัง

น้ำเกลือและอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกต้องสะอาด โดยเฉพาะน้ำเกลือไม่ควรใช้ขวดใหญ่ เพราะการเปิดทิ้งไว้และใช้ต่อเนื่องนานจนกว่าจะหมดจะทำให้มีเชื้อโรคสะสมอยู่ได้ โดยทั่วไปใช้ขวดละ 100 ซีซี เพื่อให้หมดเร็วจะได้ไม่เกิดการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ควรล้างจมูกเมื่อมีน้ำมูกเหนียวข้นจำนวนมาก (ถ้าน้ำมูกใส และมีจำนวนเล็กน้อยให้สั่งออกมา) หลังฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกให้สั่งน้ำมูกออกทันที ไม่ควรกลั้นหายใจเพื่อกักน้ำเกลือให้ค้างในจมูกนาน เพราะน้ำเกลืออาจจะไหลย้อนไปในไซนัส และการสั่งน้ำมูกให้สั่งเบาๆ และไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุได้

นอกจากนั้น ยังต้องระวังการนำเอาวัสดุช่วยแคะทั้งหลายเข้าไปในรูจมูกลึกเกินไป อาจจะทำให้เจ้าหนูรู้สึกเจ็บ และเกิดบาดแผลขึ้นได้ ซึ่งตามจริงแล้วคุณควรใส่ลึกเข้าไปประมาณ 0.5 เซนติเมตรก็เพียงพอแล้ว

คุณแม่ทราบขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว หวังว่าลูกๆที่บ้านที่เป็นหวัดอยู่ ณ ตอนนี้ คงหายใจโล่งกันทุกบ้านแล้วนะคะเพราะคุณแม่คือพยาบาลคนแรกของลูก ต้องดูแลลูกให้ถูกวิธีนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th , www.sukumvithospital.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก 5 วิธีรักษาแบบไม่ต้องพึ่งยา

แม่เตือนแม่! ระวัง ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก ตาบวม เสี่ยงเป็นไซนัสอักเสบลงตา

วิธีสังเกตอาการหอบในทารก หายใจหอบเป็นยังไง พ่อแม่ต้องสังเกตอาการลูก