AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกฉลาด หรือไม่ ดูที่พ่อแม่จริงหรือ!?

Credit Photo : shutterstock

 

ลูกฉลาด คงปฎิเสธไม่ได้ว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างก็ต้องการให้ลูกๆ ของตนเองเป็นเก่ง เด็กฉลาด แต่จะทำอย่างไรลูกถึงเป็นเด็กฉลาดได้ ซึ่งนอกจากการเลี้ยงลูก ความฉลาดสามารถส่งต่อมาจากพ่อแม่ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อเท็จจริงที่ว่า ลูกฉลาด นั้นถ่ายทอดมาจากพ่อแม่มากน้อยแค่ไหน?

 

ลูกฉลาด ต้องเป็นแบบไหน?

เดิมเราเข้าใจกันว่า คนเราเกิดมาแล้วมีชีวิตไปตามพรหมลิขิต คือเกิดมาแล้วไม่ต้องทำอะไร โตไปตามที่เบื้องบนกำหนดมาเอง โอ้! ง่ายจริง ชีวิตเด็กน้อย จบข่าว

ไม่ใช่แล้วคุณพ่อคุณแม่ เอาใหม่ๆ ปรับกันใหม่ เพราะวิทยาศาสตร์ทำให้เรารู้แน่ๆ ว่าความเข้าใจเดิมนั้นไม่ใช่เลย

มีงานศึกษาออกมาชัดเจนว่า เซลล์ประสาทหรือเซลล์สมองของคนที่ฉลาด ซึ่งหมายถึงมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ดี สามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ได้ดี คือเซลล์ประสาทที่มีการเชื่อมต่อกันเป็นวงจรมากๆ และก็มีการศึกษากันได้ผลชัดๆ อีกว่า เซลล์ประสาทที่เชื่อมต่อกันเป็นวงจรมากๆ ได้นั้น เกิดจาก 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่

  1. การที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูให้ดี ซึ่งหมายถึง ได้รับอาหารดีครบถ้วน ได้รับความรัก และ
  2. การได้รับประสบการณ์การเลี้ยงดูอย่างดี ซึ่งหมายถึง ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างดี ถูกทางและเหมาะสม

อ่านต่อ >> “ความลับของสมองดี” หน้า 2 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

วงจรประสาทเชื่อมโยงมาก : ความลับของสมองดี

สมองก็เหมือนเนื้อเยื่ออื่นๆ ในร่างกายคนเราที่ประกอบไปด้วยหน่วยชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่า เซลล์ประสาท แต่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างจากเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย คือ เป็นเซลล์ที่แตกกิ่งก้านสาขาหรือเส้นใยยื่นออกมาจากตัวเซลล์ กิ่งก้านสาขาที่ยื่นออกมาจากเซลล์มีชื่อเรียกว่า เดนไดรท์ (dendrite) แล้วก็มาเกาะหรือเชื่อมกับเดนไดรท์ของเซลล์ประสาทอื่นๆ การเกาะหรือเชื่อมกัน (แต่ไม่สนิท) ของเดนไดรท์ เรียกกันว่าจุดประสานประสาท หรือซินแนปส์ (synapse)

“ซินแนปส์” ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทชนิดหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทอีกชนิดหนึ่ง ลำเลียงข้อมูลตั้งแต่เมื่อประสาทสัมผัสรับรู้เข้าไปสู่ไขสันหลัง ขึ้นไปสมอง และรับคำสั่งจากสมอง ประมวลข้อมูล เก็บความจำต่างๆ และส่งกลับมาที่ไขสันหลังเพื่อไปตอบสนองทางพฤติกรรม ซินแนปส์นี้เองทำให้สมองทำงานเกิดเป็นวงจรประสาท

ซินแนปส์มีหลายชนิด ชนิดที่สำคัญคือซินแนปส์ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการเรียนรู้ เกิดบริเวณเดนไดรท์เรียกว่า dendritic spine เป็นซินแนปส์ที่มีความยืดหยุ่นสูง คือเมื่อตอนเด็กเกิดมา ซินแนปส์นี้ยังไม่เติบโตเต็มที่ มีจำนวนน้อย พอเป็นผู้ใหญ่ ซินแนปส์นี้จะเยอะแยะมากและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย แต่พอเข้าวัยชรา สมองเริ่มเสื่อม ซินแนปส์นี้จะหดหายไป

เมื่อปี ค.ศ. 1950 มีนักวิจัยทางจิตวิทยาชาวอังกฤษชื่อว่า ศาสตราจารย์โดแนล โอ เฮิบบ์ จากมหาวิทยาลัยมอนทรีอัล แคนาดา เป็นคนแรกที่ตั้งสมมุติฐานว่า เวลาที่คนเราเรียนรู้แล้วสามารถทำพฤติกรรมใหม่ได้ เกิดจากสมองมีการเพิ่มวงจรซินแนปส์ ตั้งแต่นั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการวิจัย ทั้งทางด้านจิตวิทยา ทางด้านประสาท และวิทยาศาสตร์ ค้นหาแล้วทำการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานนั้น และถึงวันนี้การศึกษาที่ออกมาก็ได้ผลยืนยันว่าสมมุติฐานของศาสตราจารย์เฮิบบ์ที่ว่าการเรียนรู้และพัฒนาการของพฤติกรรมเกิดขึ้นเพราะซินแนปส์เป็นจริง จากนั้นมางานวิจัยหลายๆ อย่างได้ใช้การเปลี่ยนแปลงในซินแนปส์เป็นฐานของการพัฒนา

เพราะสิ่งที่วิทยาศาสตร์ศึกษาพบคือ ซินแนปส์สามารถงอกใหม่หรือหดลงได้ มีความยืดหยุ่นมาก หรือ plasticity เหมือนพลาสติก บิดเบี้ยวได้ ถูกบีบเร่งได้ และจากการศึกษาก็พบว่าประสบการณ์ทุกชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงซินแนปส์ได้

งานวิจัยทั้งในคนและในสัตว์ทดลองทำให้เราเห็นว่า ทุกๆ ครั้งที่เด็กได้รับประสบการณ์ก็จะสร้างความจำใหม่ๆ สร้างวงจรซินแนปส์ใหม่ๆ ที่จะทำให้เขารับรู้ เข้าใจ สามารถสร้างวิสัยทัศน์ความเข้าใจโลกทัศน์ใหม่ๆ แก้ปัญหาต่างๆ ได้ ตรงกันข้าม หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูไม่ดี ไม่ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม วงจรประสาทของเด็กไม่ได้รับการกระตุ้นให้แตกกิ่งก้าน เชื่อมต่อ เด็กก็กลายเป็นคนแย่ๆ ได้

 

อ่านต่อ >> “วิธีสร้างวงจรสมองเลิศ” หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เลี้ยงดูและให้ประสบการณ์ที่ดี : วิธีสร้างวงจรสมองเลิศ

การเลี้ยงดูที่ดี เริ่มตั้งแต่คุณแม่บำรุงรักษาตัวเองให้ดีตั้งแต่ตั้งครรภ์ กินอาหารให้ดี ออกกำลังกายพอสมควร นอนหลับพักผ่อนให้ดี ทำจิตใจให้สดใส ไม่เครียด ไม่เศร้าหมองในช่วงตั้งครรภ์

เมื่อลูกคลอดตั้งแต่วันแรกที่ให้นม แม่ก็ต้องแสดงความรักด้วยใบหน้า ท่าทางที่ดี มองหน้าสบตาลูก ยิ้มกับลูก ไม่แสดงความวิตกกังวล ความเครียดต่างๆ ให้ลูกเห็นหรือรู้สึก ขณะเดียวกับก็ปกป้องจากสิ่งที่เป็นอันตรายต่างๆ มีงานวิจัยยืนยันตรงกันมากว่า เมื่อลูกเกิดมา แล้วพ่อแม่ได้ให้ความรัก ให้นมแม่ ให้การเลี้ยงดูที่ดี ไม่ทำร้ายเด็ก จะทำให้เด็กสมองดี การให้ประสบการณ์ดีๆ อย่างง่ายๆ ที่ส่งผลไปถึงการสร้างวงจรซินแนปส์ใหม่ๆ กันทีเดียว

ให้ลูกทารกดูของเล่นแขวน (mobile toy) ปลาตะเพียนแขวน ของเล่นกรุ๋งกริ๋ง ช่วยกระตุ้นพัฒนาการการมองเห็นของเด็ก มีคนอธิบายว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร เด็กจะรับรู้และเก็บไว้เป็นความทรงจำ

มีงานวิจัยของศาสตราจารย์เดวิด คีเวอร์ และศาสตราจารย์ทอร์เซ่น บีเซอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า การให้เด็กได้เห็นภาพ ขณะเดียวกันก็มีคนพูดคุยให้ฟัง ว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร มีความเกี่ยวข้องกับอะไร อย่างไร ภาพที่เด็กได้เห็นนั้นจะไปกระตุ้นสมอง เด็กจะรับรู้และเก็บไว้เป็นความจำ ซึ่งจะเพิ่มวงจรซินแนปส์ เมื่อโตขึ้น เด็กคนนั้นจะเข้าใจความหมายในเรื่องที่ซับซ้อนได้ มีคำศัพท์ที่จะนำมาใช้ในชีวิตเขามากกว่า เข้าใจสรรพสิ่งต่างๆ มากกว่าเด็กที่ไม่มีใครให้ดูอะไร ไม่มีใครพูดคุยกับเขาว่าอะไรเป็นอะไร

เด็กแรกเกิดยังไม่เคยรู้คำศัพท์เลย ให้พ่อแม่พูดคุยกับเขา นี่อะไร นั่นอะไร พอลูกโตขึ้นเขาแสดงท่าทางสนใจอะไร พ่อแม่ก็ตอบ ก็อธิบาย หรือถ้าเขายังไม่สนใจ คุณชี้แนะให้เขาว่ามันคืออะไร เช่น สอนเรื่องหน่วยนับ ว่า 1 2 3 4 เป็นอย่างไร เป็นฐานการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์

ทั้งนี้การให้เด็กเรียนรู้ประสบการณ์เหล่านี้ต้องทำในบรรยากาศที่ดี ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่กำลังแสดงความรัก ความเอาใจใส่ ให้ความผูกพัน มีเมตตากับเขา ลูกก็จะตอบสนองกลับมา เมื่อถึงเวลาเริ่มพูด ก็ค่อยๆ พูดคล่องขึ้น รู้จักคำศัพท์มาก พูดอะไรก็เข้าใจ

อธิบายได้ว่าเพราะได้รับประสบการณ์ที่ดี ทำให้เซลล์ประสาทของลูกพร้อมที่จะงอกเข้าหากันสร้างเป็นวงจรซินแนปส์ แล้วส่งสัญญาณถึงกัน ก็จะสร้างวงจรที่อยู่ถาวร
หากเด็กไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ แต่พ่อแม่ไม่ให้ประสบการณ์ที่ดีในการพูดคุย เรียนรู้จักคำศัพท์เพียงไม่กี่คำ แค่เฉพาะสื่อสารเมื่อหิว เมื่อเลอะ เมื่อเจ็บ ไม่ค่อยได้พูดคุยสอนอะไรกัน ผลออกมาก็จะต่างกันมาก

 

อ่านต่อ >> “เคล็ดลับเสริมความฉลาดให้สมองลูก” หน้า 4

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

รักษาวงจรประสาทให้คงอยู่ : เคล็ดลับเสริมความฉลาดให้สมอง

ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น วงจรเกี่ยวกับการพูด ถ้าเผื่อแรกๆ เราพูดกับลูกจนลูกพูดคำว่า “พ่อ” ได้แล้ว แต่ถ้าไม่พูดอีกเลย จุดประสานประสาทสร้างขึ้นแล้วเพื่อเตรียมเชื่อมโยงกันให้ทำงานเป็นวงจรได้ แต่เมื่อไม่ได้กระตุ้นอีก ส่วนที่สร้างมาแล้วจะดึงกลับ เพราะเข้าใจว่าไม่ใช้แล้ว แต่ถ้าเรากระตุ้นบ่อยๆ จะสร้างให้วงจรนั้นอยู่ถาวร

กระตุ้นอย่างไรให้วงจรซินแนปส์คงอยู่

• ให้กำลังใจ ให้รางวัลลูก

เมื่อลูกสามารถทำพฤติกรรมใดๆ ได้ เช่น ตบมือ แสดงความสนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุ อาจเป็นความรัก ความเอาใจใส่ เป็นสีหน้าท่าทาง แสดงการยอมรับ เช่น กอด หอม ลูบหัว ลูบหลัง แสดงความพอใจด้วยคำพูด เช่น พ่อแม่ดีใจจริง ลูกแม่ทำได้แล้ว วงจรตรงนั้นจะถูกกระตุ้นต่อไป
ตรงกันข้าม ถ้าเด็กทำอะไรแล้วถูกลงโทษ สมองส่วนที่เกี่ยวกับความเครียด ความโกรธแค้นจะถูกสร้างขึ้นด้วย เป็นวงจรซินแนปส์ที่ไม่ดี ทำให้เด็กอารมณ์หุนหันพลันแล่น โกรธง่าย ฉุนเฉียว มีพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร โครงสร้างของสมองก็เปลี่ยนเป็นความทรงจำของพฤติกรรมก้าวร้าวเกเร

อ่านต่อ >> “2 คำห้ามพูด ทำลายสมองลูกได้!” หน้า 5

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การห้าม หรือใช้คำว่า “อย่า” หรือ “ไม่” กับเด็กบ่อยๆ จะเป็นการแทรกแซงวงจรซินแนปส์หรือไม่

ถ้าอธิบายในส่วนที่เกี่ยวกับสมอง ซินแนปส์ที่ได้รับการสร้างขึ้นมาแล้ว ไม่ถูกลงโทษ ไม่ถูกห้าม ก็จะเติบโตไปเรื่อย เรียนได้ด้วยตัวเอง ค้นหาได้ด้วยตัวเอง มีแรงจูงใจ แล้วถ้าทุกครั้งที่เด็กทำพฤติกรรมก็ยังได้รับรางวัล วงจรประสาทนั้นก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ พัฒนาการสมองก็เดินหน้าไป

หากทำอะไรแล้วถูกห้าม “ไม่นะ” “อย่านะ” ตั้งแต่เล็กๆ เพราะกลัวเป็นอันตราย และให้อยู่เฉยๆ สมองก็ไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ ผลคือ เด็กจะเติบโตมาด้วยทัศนคติที่ว่าอยู่เฉยๆ ดีกว่า ไม่ถูกลงโทษ ถ้าหากทำอะไร อาจจะทำถูก ทำผิด เดี๋ยวจะไม่ดีกับตัวเอง เด็กจะเติบโตมาด้วยบุคลิกแบบ ไม่ชอบทำอะไร ถ้าไม่สุขสันต์ เขาก็จะไม่มีแรงจูงใจ ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้หรือมีความเฉลียวฉลาดได้

 

อย่างไรก็ตาม การให้ประสบการณ์ที่ดีกับเด็กจนเกิดเป็นวงจรประสาทที่ดี เติบโตและใช้งานอย่างถาวรก็ต้องให้อย่างสมดุล ไม่กระตุ้นมากจนเกินไป จนเด็กไม่อยากทำอะไรเลย

 

บทความโดย: ดร.นัยพินิจ คชภักดี

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก!

10 เทคนิค ช่วยให้ สมองดี สมองไบรท์
6 เคล็ดลับ สร้างความสุขให้ลูกรัก สมองเติบโต
7 วิธี เสริมความฉลาด สร้างเซลล์สมอง ลูกน้อย