AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ช่วยฝึกลูกนั่ง คลาน ยืน เดิน อย่างถูกวิธี และไม่เร่งลูก

คัมภีร์พ่อแม่? ช่วยฝึกลูก “นั่ง-คลาด-ยืน-เดิน” อย่างถูกวิธี และไม่เร่งลูก

ท่าทางพื้นฐานอย่างการนั่ง คลาน ยืน และเดิน เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต่างรออย่างใจจดใจจ่อว่าลูกจะทำได้เมื่อไร รวมไปถึงอยากฝึกให้ลูกทำได้อย่างมั่นคงแข็งแรงด้วย Amarin Baby & Kids รวบรวมเทคนิคการช่วยหัดลูกมาให้แล้วค่ะ

1. 4 เดือน : พลิกคว่ำ

เมื่อลูกน้อยอายุราว 2 เดือน เขาจะเริ่มชันคอเวลานอนคว่ำ และการอุ้มเขาบ่อยๆ ให้อยู่ในท่านั่งก็เป็นการช่วยกระตุ้นให้ลูกชันคอได้ตรงหรือแข็งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพลิกคว่ำพลิกหงายในช่วงเดือนที่ 4 ซึ่งเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญ

ทารกที่พลิกคว่ำพลิกหงายได้เอง กล้ามเนื้อหลังและแขนต้องแข็งแรงพอ เมื่อเขาพลิกตัวไปมาได้ เขาจึงจะยันตัวขึ้นนั่งและคลานได้ในขั้นต่อๆ ไป ดังนั้น ถ้าลูกไม่พลิกคว่ำพลิกหงาย เขาก็จะไม่นั่งไม่คลาน!

เรื่องการพลิกตัวเป็นธรรมชาติที่ลูกทำได้เอง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องช่วยอะไรเป็นพิเศษ แค่จัดเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกตอนพยายามพลิกหรือกลิ้ง ไม่ปล่อยลูกไว้ตามลำพังบริเวณพื้นที่มีลักษณะโค้งหรือไม่เรียบ และระหว่างเปลี่ยนผ้าอ้อมช่วยจับมือลูกไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะลูกอยากพลิกตัวตอนไหนก็คือตอนนั้น แต่ครั้งแรกที่พลิกคว่ำสำเร็จ ลูกอาจตกใจและร้องไห้ อย่าลืมอุ้มกอดและลูบหลังปลอบขวัญลูกด้วยนะคะ

อ่านต่อ “วิธีช่วยฝึกลูกนั่ง” คลิกหน้า 2

2. 6 เดือน : เริ่มนั่ง

วัยนี้ลูกเริ่มเรียนรู้ที่จะนั่งได้เองแล้ว แต่ท่านั่งจะยังดูเก้ๆ กังๆ เพราะการนั่งเป็นพัฒนาการใหม่ และลูกยังไม่รู้วิธีนั่งให้ถูกต้องและสบาย ลูกจะยังนั่งได้ไม่นาน สังเกตจากเขาต้องยื่นมือไปข้างหน้าเพื่อพยุงตัว มาเรียนรู้วิธีช่วยให้ลูกนั่งสบายๆ กันดีกว่าค่ะ

1. ช่วยหาที่ยึดเกาะให้ลูก วางหมอนล้อมรอบหรือหาเก้าอี้เสริมสำหรับเด็กแบบมีที่กั้นเพื่อให้ลูกมีที่ยึดเกาะ ช่วยให้เขาได้พยุงตัวเวลานั่ง

2. หาหมอนรองนั่งนุ่มสบาย เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 6 คุณอาจหาหมอนนุ่มๆ ใบเล็กๆ รองตั้งแต่ต้นคอ หลัง จนถึงโคนขาของเขาเพื่อให้ลูกนั่งพิงอย่างสบายๆ และช่วยประคองเขาให้นั่งอย่างถูกลักษณะอีกด้วย

3. บริหารหน้าท้องกัน เพราะจำเป็นมากสำหรับพัฒนาการด้านการนั่งและการพยุงตัว ช่วยลูกได้ด้วยการอุ้มเขายกขึ้น-ลงหรืออุ้มเหาะเหมือนเครื่องบิน การเล่นเหล่านี้จะช่วยให้ลูกได้บริหารกล้ามเนื้อท้อง เตรียมความแข็งแกร่งสำหรับลูกน้อยวัยหัดนั่ง

4. เอาของเล่นมาช่วย ให้นำของเล่นหรือสิ่งของที่แกว่งไปมาได้ มาตั้งไว้ที่หน้าเขา แล้วค่อยๆ เคลื่อนของนั้นอย่างช้าๆ จากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้ลูกเข้าหาของนั้น โดยปล่อยให้เขาใช้ลำตัวและขาช่วยพยุงร่างกายในขณะเคลื่อนที่ตามสิ่งของนั้น เป็นวิธีช่วยฝึกให้ลูกนั่งได้มั่นคงเร็วขึ้น

อ่านต่อ “วิธีช่วยฝึกลูกคลาน” คลิกหน้า 3

3. 6-10 เดือน : เริ่มคลาน

ทารกนั่งตัวตรง โยกตัวไปมา รวมถึงยกลำตัวขึ้นและทะยานไปข้างหน้าด้วยฝ่ามือ เข่า และเท้าได้ แต่เด็กที่ไม่คลาน แต่ข้ามขั้นเป็นยืนและเดินเลยก็มีไม่น้อยค่ะ อย่างไรก็ดี เพื่อช่วยให้ลูกเป็นนักคลานที่คล่องแคล่ว มีคำแนะนำดังนี้

1. จัดห้องกันกระแทก ทำห้องที่บุวัสดุกันกระแทก มีกล่องหรือสิ่งกีดขวางจัดไว้ให้ลูกได้คลานขึ้นข้างบน ลอดข้างใต้ และคลานผ่านช่องแคบ

2. เปิดเพลงสนุกๆ ลงคลานสี่เท้าเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ ลูกน้อย โยกตัวตามจังหวะคึกคักของเพลง ลูกมีแนวโน้มจะเลียนแบบคุณนะ

อ่านต่อ “วิธีช่วยฝึกลูกยืน” คลิกหน้า 4

4. 8-13 เดือน : ยืน

พออายุย่างเข้า 8 เดือน กล้ามเนื้อขาและเท้าของเด็กเริ่มพัฒนาจนแข็งแรงพอที่เขาจะลุกยืน และกำลังใจจากการที่เขาหมุนตัว นั่ง และคลานได้เองสำเร็จยิ่งเป็นแรงส่งให้ลูกวัยนี้อยากยืนเองได้ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เขาต้องการหลักยึดก่อน นอกจากแข้งขา แม้แต่นิ้วมือของพ่อแม่แล้ว เขาจะมองหาของอื่นเป็นหลักยึดเพื่อดึงตัวเองขึ้น ตั้งแต่ลูกกรงหรือเสาข้างเตียง ที่เท้าแขนของโซฟา ขอบหรือขั้นบันได ฯลฯ ฉะนั้นช่วงนี้พ่อแม่ควรเตรียมการเพื่อให้ลูกซ้อม (เกาะ) ยืนได้อย่างปลอดภัย

เมื่อลูกพัฒนาถึงขั้นหนึ่ง เขาจะยืนได้เองโดยไม่ต้องเกาะอะไรอีก แต่ลูกจะยังไม่รู้วิธีงอเข่าเพื่อลงนั่ง คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยระวังให้ลูกด้วย กว่าเขาจะรู้จักงอเข่ากลับลงไปนั่งได้อย่างนุ่มนวลอีกก็อายุใกล้ๆ 10 เดือนหรือเต็มขวบ

เมื่อลูกยืนได้ เขาจะพยายามก้าวขาขณะที่เกาะเฟอร์นิเจอร์ไว้ แรกๆ คุณจะเห็นลูกเดินถัดไปข้างๆ แต่ไม่นานเขาก็รู้จักยกเท้าเพื่อก้าวเดิน เพื่อให้ลูกสัมผัสกับความสนุกแห่งการก้าวเดิน คุณช่วยลูกได้โดย

  1. เลื่อนเฟอร์นิเจอร์มาชิดกัน

เพื่อให้ลูกได้เพลิดเพลินและภูมิใจกับการตระเวนไปรอบๆ ห้องด้วย “ลำแข้ง” ของตัวเอง

  1. อุ้มลูกยืนบนตัก

กระดกเข่าสองข้างสลับไปมา เพื่อให้ลูกฝึกบิดเอวตามจังหวะการเดิน

  1. จัดห้องให้ปลอดภัย

ย้ายของซึ่งมีเหลี่ยมมุมที่แหลมคมออกจากรัศมีการเอื้อมหรือก้าวถึงของลูก ตรวจดูและซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ที่ลูกอาจใช้เกาะยึด ให้อยู่ในสภาพมั่นคงพอ ไม่หักหรือล้มครืนง่ายเวลาลูกเหนี่ยว ถ้ามีของชิ้นใหญ่ที่มีมุมหรือขอบแหลมและไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกให้พ้นการเอื้อมถึงของเด็กๆ ได้ ควรจัดหาวัสดุหุ้มขอบ เข้ามุมกันกระแทกให้เรียบร้อย

แม้จะระวังแค่ไหน ลูกก็ต้องมีวันล้มจากท่ายืนอยู่ดี แต่ข่าวดีคือ เวลาล้มเด็กมักจะเอาก้น (ที่มีผ้าอ้อมรอง) ลง ทำให้ไม่เกิดเหตุบาดเจ็บร้ายแรงอะไร แต่ถ้าอยากให้มั่นใจจริงๆ หลังจากกำจัดสิ่งกีดขวางแล้ว คุณก็แค่หาเบาะนิ่มมาปูรองไว้ให้เขา จากนั้นก็คอยส่งยิ้มให้กำลังใจลูกเป็นระยะๆ ก็พอแล้ว

  1. ไม่ให้ลูกเกาะรถหัดเดิน

เพราะล้อเลื่อนอาจจะพาให้เขาลื่นหกล้มได้ แถมการใช้รถหัดเดินแทนที่จะให้ลูกเกาะยืนหรือเดินด้วยตัวเองยังไม่เอื้อต่อ การให้เขาได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อขาในการหัดเดินอีกด้วย (อ่านต่อ อันตรายจากรถหัดเดิน ที่พ่อแม่ควรรู้)

อ่านต่อ “วิธีช่วยฝึกลูกเดิน” คลิกหน้า 5

5. 9-15 เดือน : เดิน

ช่วงนี้ลูกมั่นใจมากขึ้นที่จะปล่อยมือจากโซฟาและเริ่มก้าวแรกอย่างจริงจัง แต่กว่าลูกจะเรียนรู้การประคองตัวและยืนได้ อาจเป็นช่วงที่ใช้เวลามากที่สุด วัยนี้ลูกมีหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ดังนั้นหากเขาจะเริ่มก้าวเดินช้าไปหน่อย คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวล คอยดูพัฒนาการของเขาอยู่ห่างๆ และคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการดีกว่าค่ะ ลูกจะเดินได้มั่นคงสมบูรณ์ ประมาณ 1 ขวบ 4 เดือน หรือมากกว่านั้น ลูกเดินเร็วหรือเดินช้า ไม่ได้บอกว่าสมรรถภาพทางร่างกายของเขาปกติหรือไม่ปกติ เมื่อลูกเริ่มเดิน แรกๆ ลูกอาจยังเก้ๆ กังๆ เราช่วยเสริมความมั่นใจให้ลูกได้โดย

1. ค่อยเป็นค่อยไป

พ่อแม่ไม่ควรกดดันหรือเร่งรัดลูกมากนัก ระหว่างรอให้ลูกเริ่มเดินเอง ควรสำรวจและจัดห้องของลูกให้เหมาะสม เพื่อให้ปลอดภัยไร้กังวลเมื่อลูกเริ่มหัดเดิน

2. ให้เดินเท้าเปล่า

เพราะช่วยให้ลูกทรงตัวง่ายกว่า หากไปนอกบ้าน ให้ลูกได้เดินเท้าเปล่าบนพื้นปูน พื้นดิน ทราย หรือพื้นหญ้า ที่คุณสำรวจแล้วว่าปลอดภัย เพื่อบริหารกล้ามเนื้อขาและเท้า การได้สัมผัสพื้นผิวที่แตกต่างจากที่คุ้นเคยจะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากเดินมากขึ้น เมื่อให้ลูกใส่รองเท้าเดินนอกบ้าน ให้สังเกตรองเท้าของลูกไม่ให้คับหรือหลวมเกินไป เพราะรองเท้าที่ไม่เหมาะกับเท้าเป็นเหตุขัดขวางการเดินของลูกได้

3. ล่อใจด้วยของเล่น

ถือของเล่นห่างจากลูกสัก 2 – 3 ฟุต การมีเป้าหมายล่อใจช่วยกระตุ้นให้เขาก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

อ่านต่อ “วิธีช่วยฝึกลูกเดิน” คลิกหน้า 6

4. หลีกเลี่ยงการใช้เก้าอี้หรือรถหัดเดิน

เพราะนอกจากไม่ช่วยลูกฝึกทักษะเรื่องการเดินแล้ว ยังอาจฉุดรั้งพัฒนาการตามธรรมชาติของเขาให้ช้ากว่าที่ควรด้วย

5. ข้อควรระวังและสัญญาณบอกเหตุ

หากลูกมีอาการอ่อนล้ามากผิดปกติ หรือกล้ามเนื้อขาไม่มีกำลัง และไม่อาจยืนขึ้นได้เอง ต้องยึดคุณไว้ตลอด แนะนำว่าควรปรึกษากุมารแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงเพื่อหาทางแก้ไขอย่างทันท่วงทีต่อไป (อ่านต่อ ลูกพัฒนาการช้า ควรไปหาหมอเมื่อไหร่ดี?)

“ถ้าลูกเริ่มยืนและเดินเร็วกว่าเด็กคนอื่น จะอันตรายต่อกระดูกลูกไหม?”

Q: ลูกวัย 8 เดือนเริ่มพยายามจะยืน และสังเกตว่าบางครั้งพยายามจะก้าวเท้าเดินด้วย  พัฒนาการเขาเร็วเกินไปหรือเปล่า จะเป็นอันตรายต่อกระดูกของลูกได้หรือไม่คะ

ลูกคือคนที่รู้ดีที่สุดว่าควรยืนและเดินเมื่อไร ลูกจะทำเมื่อเขาพร้อม และแน่นอนว่ากระดูกย่อมแข็งแรงเพียงพอแล้ว การยืนและเดินไม่ทำให้เกิดภาวะขาโก่งแน่นอน (ลักษณะที่โก่งอยู่แล้วเป็นลักษณะปกติที่พบได้ในเด็กวัยนี้ อ่านต่อ ไขข้อข้องใจ ลูกทารก “ขาโก่ง” ผิดปกติไหม?)

ที่จริงแล้วการเดินและยืนจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้น รวมถึงทำให้รูปร่างของเท้าพัฒนาดีขึ้นเพราะการลงน้ำหนักที่เท้าทำให้เริ่มมีอุ้งเท้าขึ้นมา ส่วนที่อาจทำให้แย่น่าจะเป็นอาการปวดหลังของผู้ทำหน้าที่ช่วยจับแขนให้ลูก ยืนหรือเกาะเดิน เพราะต้องคอยก้มจับลูกไว้ตลอดเวลามากกว่า

อย่างไรก็ดี ไม่ควรบังคับหรือจับเด็กที่ยังไม่พร้อมมาฝึกเช่นเดียวกับพัฒนาการด้านอื่นๆ คือควรให้ลูกเป็นผู้นำ และคุณแม่เป็นผู้คอยส่งเสริม เพื่อให้ลูกมีความสุขในสิ่งที่ได้กระทำด้วยตัวเองและเกิดการต่อต้านน้อยที่สุด (ตอบโดย แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด)

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ: Shutterstock