การสูญเสียการได้ยินในเด็กแม้มีผลต่อพัฒนาการทางการพูด ถึงแม้ลูกน้อยไม่ผ่านการตรวจการได้ยินอย่างพึ่งตกใจไป เครื่องช่วยฟัง จะช่วยให้ลูกกลับมามีชีวิตปกติได้
ทำยังไงเมื่อลูกตรวจการได้ยินไม่ผ่าน!! เครื่องช่วยฟัง ช่วยได้
เมื่อวันที่เจ้าตัวน้อยของคุณแม่ได้ลืมตาดูโลก มาทักทายเรา ภาระงานแรก ๆ ของเขาอย่างหนึ่ง ที่ลูกน้อยจะต้องได้รับนั่นคือ การตรวจการคัดกรองการได้ยินของทารก เพราะจากการศึกษาพบว่า การตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เด็กได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินดีกว่า และจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษา การพูดสมวัย รวมทั้งพัฒนาการด้านอื่น ๆ เช่น อารมณ์ สังคม การเรียนรู้ต่าง ๆ ก็จะดีตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถวินิจฉัยภาวะผิดปกติทางการได้ยินก่อนเด็กอายุ 6 เดือน แล้วรีบให้การช่วยเหลือ อาจช่วยให้เด็กนั้นมีพัฒนาการใกล้เคียงกับเด็กปกติ การตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติทางการได้ยินจึงควรทำตั้งแต่แรกเกิดที่เรียกว่า การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด (Newborn Hearing Screening)
ทารกกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาการได้ยินบกพร่อง ได้แก่
1.ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1,500 กรัม หรือคลอดก่อนกำหนด
2.มีความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า และหูแต่กำเนิด มารดาได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษต่อเด็กขณะตั้งครรภ์
3.มารดามีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
4.ภาวะตัวเหลืองจนต้องถ่ายเลือด
5.มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคประสาทหูพิการ เป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิด
6.มีปัญหาระหว่างคลอด แรกคลอดต้องอยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยแรกเกิด
7.ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ได้รับยาที่มีพิษต่อหู
8.ภาวะขาดออกซิเจนขณะอยู่ในครรภ์มารดาหรือระหว่างคลอด
9.มีลักษณะที่เข้ากับโรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติทางการได้ยิน
10.ภาวะน้ำตาลต่ำหลังคลอด หรือภาวะที่มารดามีน้ำตาลในเลือดสูงในคณะตั้งครรภ์
อ่านต่อ เด็กแรกเกิดตัวเหลืองอันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
ทำความเข้าใจกับเครื่องมือตรวจคัดกรองการได้ยินแบบ OAE
การตรวจคัดกรองการได้ยิน สามารถตรวจตั้งแต่แรกเกิดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Otoacoustic emissions (OAE) ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของเซลล์ประสาทหูชั้นในส่วนการได้ยินว่าทำงานดีหรือไม่ เป็นการตรวจแบบเร็ว โดยอาศัยหลักว่า ถ้าหูชั้นในทำงานดี แสดงว่าเด็กได้ยิน
OAE สามารถทำการตรวจได้โดย
- ต้องตรวจขณะเด็กหลับ
- ตรวจในสถานที่เงียบ (ควรมีห้องตรวจโดยเฉพาะ)
การรายงาน ผลตรวจ OAE
เมื่อลูกเข้ารับการตรวจ จะได้รับรายงานผลการตรวจออกมาสองแบบ คือ
- pass หมายความว่า ทำงานปกติ
- refer หมายความว่า ไม่สามารถวัด OAEได้ ต้องส่งตรวจเพิ่มเติม อาจเนื่องจากความผิดปกติของหูชั้นนอก , หูชั้นกลางหรือหูชั้นใน หรือเกิดจากปัจจัยอื่นที่ทำให้ผลการตรวจไม่สามารถวัดได้ ได้แก่ ขี้หูอุดตัน รูหูแคบ มีของเหลวในหูชั้นกลางหรือหูตึง เป็นต้น หรืออาจมีเสียงรบกวนมากเกินไป ดังนั้นการตรวจ OAE จึงสามารถ refer ได้ร้อยละ 3 -20
แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองด้วย OAE ยังเป็นการตรวจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากตรวจง่าย และใช้เวลาในการตรวจน้อยประมาณ 3 – 5 นาที และจะเห็นได้ว่าการตรวจในแบบนี้ให้ผลการ refer ได้ถึงเกือบร้อยละ 20 ทำให้เวลาคุณแม่ได้รับผลออกมาเป็น refer อย่าพึ่งตกใจไปกันเชียว เพราะความหมายก็บอกอยู่แล้วว่า ต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล ไม่ได้แปลว่าลูกของเราจะไม่ได้ยิน 100% เป็นเพียงการที่เครื่องมือไม่สามารถอ่านค่าที่สะท้อนกลับมาได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด การ refer จึงเป็นการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ค่าและผลที่แน่นอน มิได้หมายความว่าลูกของเราผิดปกติแน่นอนแต่อย่างใด
ทำอย่างไรเมื่อผลออกมาเป็น refer
หากคุณแม่ได้ผลตรวจคัดกรองการได้ยินของลูกน้อยออกมาเป็น refer ก็อย่างพึ่งขวัญเสีย ตกใจกันไป คุณหมอจะทำการตรวจคัดกรองอีก 2-3 ครั้ง ถ้ายังคงให้ผลออกมาเป็น refer อีก ก็จะส่งตรวจด้วยวิธีการการตรวจในแบบ Automated auditory brainstem response audiometry (A-ABR) เป็นการวัด neural activity จาก auditory pathways (cochlea , auditory nerve และ brainstem) ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นด้วยเสียงที่ความดัง 35 dBnHL โดยใช้ surface electrodes เครื่องจะประมวลผลอัตโนมัติโดยเทียบกับค่ามาตรฐานและรายงานผลเป็น pass / refer ผล pass หมายความว่า เส้นประสาทหูปกติ ซึ่งการได้ยินควรปกติ ผล refer หมายความว่า เส้นประสาทหูทำงานไม่ปกติ
การตรวจ A – ABR ต้องตรวจในขณะที่เด็กหลับสนิท ตรวจในที่เงียบและต้องเตรียมผิวหนังบริเวณที่จะติด electrodes ซึ่งยุ่งยากกว่าการตรวจ OAE ซึ่งตรวจโดยใส่ probe ในหูเท่านั้น อีกทั้งใช้เวลาในการ ตรวจนานกว่า (10 – 20 นาที) จึงทำให้ได้รับความนิยมใช้ตรวจคดักรองน้อยกว่า OAE แต่อย่างไรก็ตามผล การตรวจ A – ABR มีความแม่นยำกว่า และสามารถใช้ได้ในกรณีที่มีพยาธิสภาพที่เส้นประสาทหู จึงแนะนำให้ใช้ตรวจในทารกกลุ่มเสี่ยง
เมื่อผลตรวจคัดกรองไม่ผ่านเด็กควรได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดภายใน 3 เดือน และได้รับการรักษาก่อนอายุ 6 เดือน
เมื่อลูกมีปัญหาทางการได้ยิน เครื่องช่วยฟังช่วยได้
หากพ่อแม่พบกับกรณีที่ลูกมีปัญหาประสาทหูพิการ แนะนำควรหาอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับระดับการได้ยินให้ลูกโดยไปพบและปรึกษากับโสต ศอ นาสิกแพทย์ เพื่อให้ลูกได้ไปใส่เครื่องช่วยฟังให้เร็วที่สุด และต้องคอยดูแลให้เด็กใส่เครื่องช่วยฟังอย่างสม่ำเสมอ ถูกวิธีและดูแลเครื่องช่วยฟังตามที่ได้รับคำแนะนำมา พามาตรวจติดตามผล ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและการพูดอย่างต่อเนื่อง และต้องฝึกฝนที่บ้านตามที่นักอรรถบำบัดแนะนำมา พ่อแม่ต้องคอยเอาใจใส่ดูแลสุขภาพอนามัยด้านความเจ็บป่วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรค เมื่อเจ็บป่วยต้องรีบรักษาและแจ้งให้แพทย์ทราบถึงปัญหาด้านการได้ยินเพื่อระมัดระวังในการให้ยา ในกรณีที่ลูกได้รับการผ่าตัดใส่ท่อระบายอากาศในหูต้องดูแลไม่ให้น้ำเข้าหู มีข้อแนะนำเพิ่มเติมอีกว่าลูกสามารถได้รับสิทธิ์เบิกเครื่องช่วยฟังจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้ฟรีด้วย โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องให้แพทย์ออกเอกสารรับรองความพิการ จดทะเบียนผู้พิการเพื่อได้รับสิทธิ์เบิกเครื่องช่วยฟัง
เด็กที่มีปัญหาด้านการได้ยินควรได้รับการรักษาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เด็กประสาทหูพิการต้องได้รับการรักษาโดยการใส่เครื่องช่วยฟังทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย ต้องฝึกฟัง ฝึกพูด และตรวจติดตามการใช้การได้ยินอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินผลการใช้เครื่องช่วยฟัง ถ้าใส่เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้ผลดีใน 6 เดือน อาจพิจารณาผ่าตัดประสาทหูเทียม (Cochlear implant) เด็กที่มีหูชั้นกลางอักเสบชนิดน้ำใสเรื้อรังอาจมีผลต่อการได้ยิน ทำให้พัฒนาการด้านการพูดล่าช้า มีผลต่อการเรียน ถ้าเป็นหูชั้นกลางอักเสบชนิดน้ำใสนานกว่า 3 เดือน ควรไดรับการผ่าตัดเจาะแก้วหู และใส่ท่อระบายอากาศ (myringotomy with ventilation tube) เพื่อดูดน้ำจากหูชั้นกลาง ปรับความดันในหูชั้นกลางและป้องกันการเกิดพังผืดในหูชั้นกลาง
อ่านต่อ แบบไหนเข้าข่ายลูกพูดช้า
การศึกษาถ้าเด็กได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน และการพูดจะสามารถมีโอกาสพูดได้สมวัย เด็กสามารถเรียนร่วมกันกับเด็กอื่นในชั้นเรียนปกติได้ และการเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลปกติอาจช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากพูดมากขึ้นอีกด้วย แต่ถ้าหากเด็กสามารถพูดได้บ้าง แต่ไม่ชัด และไม่สมวัย แนะนำว่าเด็กควรเรียนในโรงเรียนที่มีครูการศึกษาพิเศษคอยช่วย หรือเรียนในชั้นเรียนพิเศษ หรือใช้ระบบ FM ในการเรียน ในกรณีที่เด็กหูหนวกไม่สามารถพูดได้ ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินไม่ได้ผล เด็กต้องเข้าโรงเรียนโสตศึกษาเพื่อเรียนภาษามือก็จะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองได้
การดูแลหูลูกเพื่อป้องกันปัญหาความผิดปกติทางการได้ยิน
หากลูกมีความผิดปกติทางการได้ยิน พ่อแม่ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แต่ถ้าลูกมีอาการปกติดี การดูแลหูของลูกน้อยอย่างถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราดูแลไม่ดีก็อาจทำให้ลูกมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของการได้ยินขึ้นมาได้ เช่น หูน้ำหนวก หูตึง หูอักเสบ เป็นต้น การดูแลหูลูกที่ดีที่สุด คือ ไม่ต้องทำอะไรกับหูลูกเลยจะดีที่สุด ถ้าจะทำความสะอาด ต้องทำเพียงรอบนอกเท่านั้น คือ บริเวณใบหู ไม่จำเป็นต้องใช้พันสำลีเข้าไปในเช็ดในหู หรือแคะขี้หูออกมา เพราะแทนที่ขี้หูจะหลุดออกมา อาจจะกลายเป็นว่าดันขี้หูเข้าไปลึกขึ้น หรือถ้าน้ำเข้าหู ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะน้ำไม่สามารถผ่านแก้วหูเข้าไปได้ (ถ้าแก้วหูไม่ทะลุ) ข้างในรูหูนั้นก่อนที่จะเข้าสู่หูชั้นกลาง ก็เหมือนกันกับผิวหนังธรรมดาที่สามารถเปียกน้ำได้นั่นเอง
คุณพ่อคุณแม่ควรมีความช่างสังเกตลูก อย่างเช่นในเด็ก 5-6 เดือน เมื่อเรียกหรือมีเสียงใกล้ๆ แต่ลูกยังไม่หันตามเสียง ควรรีบพาไปพบแพทย์ ถ้าเป็นเด็กแรกเกิด เด็กทุกคนจะตอบสนองแต่เสียงดังๆ เท่านั้น เด็กจะสะดุ้งอย่างชัดเจน แต่ถ้าไม่สะดุ้ง นั่นอาจหมายความว่าเด็กอาจมีปัญหาทางการได้ยิน ดังนั้นการช่างสังเกตของเราจะสามารถช่วยให้รู้ถึงปัญหาของลูกได้เร็ว และเป็นข้อมูลที่ดีในการช่วยคุณหมอวินิจฉัยได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ผลงานวิจัยของพ.ญ.นาฏยพร จรัญเรืองธีรกุล โสต ศอ นาสิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี/พ.ญ.อุมาพร พนมธรรม โสต ศอ นาสิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี/พ.ญ.นภัสถ์ ธนะมัย โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี /dearhearing/ ศูนย์ศรีพัฒน์
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
หมอเตือน! อย่าใส่ Face shield ให้ทารกแรกเกิด เสี่ยงกระทบต่อระบบประสาท
ให้ลูกกินน้ำนมได้ไหม ถ้าแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ติดเชื้อโควิด-19
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่