กรดไหลย้อนในเด็กทารก มีด้วยหรือ?? อาการเป็นอย่างไร ถ้าเป็นขั้นรุนแรงลูกจะทรมานขนาดไหน.. แล้วพ่อแม่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกทารกมีภาวะกรดไหลย้อนได้อย่างไร ไปดูกันค่ะ
ทำไมทารกถึงเป็น “กรดไหลย้อน” ได้?
ทารกแรกเกิดราว 25 เปอร์เซ็นต์มีภาวะกรดไหลย้อน อาการมีตั้งแต่เล็กน้อย คือแหวะนมบ่อย แต่ไม่มีความเจ็บปวด ไปจนถึงอาการรุนแรงคือ ปวดท้องและตื่นบ่อย และภาวะกรดไหลย้อนก็มักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกเป็นโคลิก
ตามปกติแล้ว หลังจากที่อาหารเคลื่อนผ่านเข้าไปในกระเพาะกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างจะหดตัว คือจะทำหน้าที่เหมือนวาล์วทางเดียว ซึ่งจะปิดและป้องกันไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะถูกขย้อนหรือไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร แต่ในทารกบางคน การพัฒนากล้ามเนื้อดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ อาหาร (ที่ผ่านการย่อยเป็นบางส่วน) และกรดในกระเพาะจึงไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เยื่อบุหลอดอาหารเกิดการระคายเคืองจนมีอาการแสบร้อนกลางอก
ถ้าทารกมีภาวะกรดไหลย้อนและอาการรุนแรง แพทย์ก็อาจจะสั่งยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะให้ แต่พอถึงวัย 6-9 เดือน อาการมักจะเริ่มดีขึ้นเอง เพราะเป็นวัยที่เขาอยู่ในท่าที่ลำตัวตั้งตรงมากขึ้น ซึ่งเป็นท่าที่ช่วยลดการขย้อนได้
อ่านต่อ “4 เทคนิคให้นม-จัดท่า ลดเสี่ยงทารกเป็นกรดไหลย้อน” หน้า 2
4 เทคนิคให้นม-จัดท่า ลดเสี่ยง กรดไหลย้อนในเด็กทารก
1. จัดท่าให้หลังตรง หลังให้นม
คุณควรจัดให้ลูกอยู่ในท่าที่ลำตัวตั้งตรงไม่ต่ำกว่า 30 นาที คืออุ้มเขานั่งตักโดยให้ซบศีรษะกับอกคุณ แรงโน้มถ่วงจะได้ช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร
2. กินนมครั้งละน้อย แต่บ่อยขึ้น
แต่ละครั้งที่ให้นม ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งและเพิ่มความถี่เป็น 2 เท่า เพราะการลดปริมาณนมในกระเพาะจะช่วยให้ย่อยได้เร็วขึ้น จึงเหลือนมที่อาจไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารในปริมาณที่ลดลง
3. ให้นมที่ย่อยง่าย
แปลว่าลูกควรจะได้กินนมแม่อย่างเดียวนานที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ เพราะถ้าเทียบกับนมผสม นมแม่ก็ดีกว่า นอกจากจะย่อยได้เร็วกว่าแล้ว นมแม่ก็ยังมีเอนไซม์ช่วยย่อยด้วย และถ้ามีภาวะกรดไหลย้อน เขาอาจจะแพ้นมผสม ฉะนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้นมผสมจริงๆ ควรเลือกสูตรสำหรับทารกที่แพ้ง่ายตามที่แพทย์แนะนำซึ่งย่อยได้เร็วกว่า ระยะเวลาที่ค้างอยู่ในกระเพาะจึงสั้นกว่า
อ่านต่อ “เทคนิคลดเสี่ยงกรดไหลย้อนในทารก ข้อสุดท้าย” หน้า 3
4. จัดท่าให้ลูกนอนหลับสบาย
ถึงการนอนหงายจะเป็นท่าที่ปลอดภัยที่สุด แต่คงไม่สบายนักสำหรับลูกที่เป็นกรดไหลย้อน ถ้ามีภาวะกรดไหลย้อนในเด็กทารก ลูกอาจจะรู้สึกเจ็บปวดจนตื่นนอนตอนกลางดึกบ่อยๆ เพราะการนอนราบทำให้เกิดการขย้อน ฉะนั้นถ้าลูกน้อยมักตื่นตอนกลางดึกพร้อมกับอาการโคลิกปวดท้อง เรอนมและมีกลิ่นลมหายใจเหม็นเปรี้ยว คุณควรปรับหัวเตียงให้สูงขึ้นสัก 30 องศา ซึ่งเป็นระดับความลาดเอียงที่ช่วยลดการขย้อนได้ ท่านอนที่ดีคือควรให้เขานอนตะแคงซ้าย ซึ่งจะทำให้ทางเข้ากระเพาะอยู่ในระดับที่สูงกว่าทางออก จึงช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้เช่นกัน
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock