กรุงเทพมหานครชวนคุณแม่พาลูกน้อยไปรับ วัคซีนไวรัสโรต้า ฟรี ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง ทั้งนี้ ทางกรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ให้บริการหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าในเด็กไทยอายุ 2 เดือน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอุจจาระร่วง ฟรี ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย ทั้ง 68 แห่ง ซึ่งสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในกรุงเทพมหานคร ปี 2561 พบว่า
มีผู้ป่วยเด็กแรกเกิด – อายุ 4 ปี จำนวนประมาณ 17,000 คน โดยจากการศึกษาของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคอุจจาระร่วงมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าถึงร้อยละ 43 โดย วิธีการป้องกันเด็กจากเชื้อไวรัสโรต้าที่สำคัญคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การสร้างสุขอนามัยที่ดี การรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือ เป็นต้น อย่างไรก็ตามวิธีการเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างครบถ้วน การรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าจึงเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันอันตรายจากเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กได้ และในหลายๆประเทศได้บรรจุวัคซีนชนิดนี้ไว้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเรียบร้อยแล้ว สำหรับประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันให้บรรจุวัคซีนไวรัสโรต้าในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน
ชวนแม่รับ วัคซีนไวรัสโรต้า ฟรี ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วัคซีนไวรัสโรต้าฟรี ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข
วัคซีนไวรัสโรต้า ฟรี เฉพาะแม่กทม.ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข
เรื่องควรรู้ ไวรัสโรต้า คืออะไร
ไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก โดยมักเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั้งนี้เชื้อไวรัสโรต้ามีความทนทาน สามารถอยู่ได้ทุกที่ แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และมีชีวิตหลายวัน อีกทั้งยังเป็นเชื้อที่ติดได้ง่าย เมื่อเด็กสัมผัสเชื้อที่ติดมากับของเล่นที่อาจเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ พอเอามือเข้าปาก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกาย สำหรับการติดเชื้อไวรัสโรต้า สามารถเกิดขึ้นได้หลายครั้ง แต่การติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เกิดอาการรุนแรงที่สุด และอาการจะรุนแรงลดลงในการติดเชื้อครั้งถัดไป เนื่องจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น
สำหรับไวรัสโรต้า มีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดโรคในเด็กไทยนั้น 98% เกิดสายพันธุ์ G1, G2, G3, G4 และ G9 โดยสายพันธุ์ G2 เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมาก ทารกและเด็กเล็กที่ติดเชื้อไวรัสโรต้า จะมีอาการไข้สูง อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำมีมูกปน บางรายอาจมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงจนถึงขั้นเกิดภาวะช็อคได้
การป้องกัน “ไวรัสโรต้า”
ผู้ปกครองสามารถป้องกันไวรัสโรต้าให้กับลูกน้อยได้ง่ายๆ ด้วยการเลี้ยงดูเด็กให้ถูกสุขอนามัย นั่นคือล้างมือให้เด็กเป็นประจำ ดูแลรักษาความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้และบริเวณที่เด็กเล่น รวมถึงหยอดวัคซีนป้องกัน
วัคซีนโรต้า ทำมาจากอะไร
วัคซีนทำมาจากเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้อ่อนฤทธิ์จนไม่ก่อโรค มีความปลอดภัยสูงและมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันโรค ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีน 2 ชนิดที่ใช้ป้องกันไวรัสโรต้า ได้แก่
1.วัคซีนโรต้าชนิด 5 สายพันธุ์ (Human-Bovine) ที่มีไวรัสโรต้าสายพันธุ์มนุษย์ G1, G2, G3, G4 และ P8
2.วัคซีนโรต้าชนิด 1 สายพันธุ์ (Human) ที่มีไวรัสโรต้าสายพันธุ์มนุษย์ G1P8 เป็นส่วนประกอบ โดยวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าควรเริ่มให้ที่ช่วงอายุ 2 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับวัคซีน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กไทย ให้สามารถเข้าถึงวัคซีนที่เป็นประโยชน์ ได้รับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า จึงมอบให้สำนักอนามัยดำเนินโครงการดังกล่าว นำร่อง โดยใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครในการให้บริการหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าแก่เด็กไทยอายุ 2 เดือนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลาน มารับบริการหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2203 2887 – 9 ในวันและเวลาราชการ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่