ไข้ หรือ ตัวร้อน บางทีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ของลูก ก็อาจทำพ่อแม่เกิดความไม่แน่ใจขึ้นได้ อย่างเวลาที่ลูกมีอาการไม่สบายเป็นไข้ ก็ไม่มั่นใจว่าลูกตัวร้อนแบบไหน? ลูกมีไข้หรือไม่? ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำแนะนำในการสังเกตว่าลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่นั้นมี ไข้ หรือ ตัวร้อน แบบไหนที่บอกถึงว่าลูกกำลังไม่สบาย มาให้ได้เข้าใจกันอีกครั้งค่ะ
ไข้ หรือ ตัวร้อน หมายถึงอะไร?
ไข้หรือตัวร้อน หมายถึง อุณหภูมิกายเพิ่มสูงกว่าปกติ หากเป็นอุณหภูมิที่วัดทางปากต้องสูงเกิน 37.2 องศาเซลเซียส เวลาที่มีไข้ไม่จำเป็นว่าทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา1
ทั้งนี้อุณหภูมิในร่างกายไม่ว่าจะของเด็ก หรือผู้ใหญ่ จะต้องอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียสซึ่งถือว่าเป็นอุณหภูมิร่างกายที่ปกติ แต่หากร่างกายมีความผิดปกติและแสดงออกมาว่ามี ไข้ หรือ ตัวร้อน เมื่อวัดอุหภูมิของร่างกายแล้ว หากสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้ ถ้าอุณภูมิสูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้ต่ำ แต่หากวัดแล้วร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ถือว่ากำลังมีไข้สูง และถ้าอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 41.5 องศาเซลเซียส เรียกว่ามีไข้สูงเกิน(Hyperpyrexia) ที่ถือว่าร่างกายกำลังเข้าสู่ภาวะอันตราย ควรต้องรีบไปโรงพยาบาล และได้รับการรักษาทันที
อ่านต่อ >> “สาเหตุของอาการ ไข้ ตัวร้อน ที่พ่อแม่ควรรู้!” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เมื่อลูกเป็นไข้ ตัวร้อน เกิดได้จากสาเหตุใดได้บ้าง?
คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตอาการเวลาที่ลูกรู้สึกไม่สบายตัว แล้วมีอาการตัวร้อนรุมๆ จนนำไปสู่การมีไข้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่นำไปสู่การมี ไข้ตัวร้อน ดังนี้
1. ไข้หวัดธรรมดา จะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ จาม คัดจมูก อาการไข้จะมีอยู่ ราว 3-4 วัน ก็หายไปหากไม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หูอักเสบ
2. ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้ ปวดเบ้าตา ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามแขนขา ไข้อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส อาการไข้ปรากฏอยู่ 3-5 วัน และหายโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ
3. ไข้เลือดออก ไข้จะมีอยู่ 3-4 วัน ร่วมกับอาการซึม ใบหน้าแดง เบื่ออาหารอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดใต้ชายโครงข้างขวา บางคนจะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจาระสีดำเหมือนน้ำมันดิน และอาจช๊อคในวันที่ 4 ของไข้
4. ไข้ไทฟอยด์ ผู้ป่วยจะมีไข้ ซึม ถ่ายอุจจาระเหลว หรือท้องผูก หากไม่รักษาไข้จะปรากฏอยู่นาน 3 สัปดาห์ และมีโรคแทรกซ้อนทางลำไส้ ทำให้เกิดแผลที่ลำไส้มีเลือดออกหรือลำไส้ทะลุ ตับอักเสบ มีดีซ่าน อาจเกิดโรคแทรกซ้อนทางสมองและปวดอักเสบ
5. ปอดอักเสบหรือปอดบวม มักมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน 2-3 วัน ต่อมามีอาการไข้สูงขึ้น ไอมากขึ้น และหายใจเร็ว หายใจหอบ เบื่ออาหาร กินไม่ได้2
Good to know… “อาการแทรกซ้อนของไข้ที่ต้องระวังคือ การชักจากไข้สูง ซึ่งพบในช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี เด็กที่เคยชักเวลามีไข้สูงหรือพ่อ แม่ พี่ๆ มีประวัติชักเมื่อไข้สูง ต้องระวังการมีไข้เป็นพิเศษ โดยเช็ดตัวและให้ยาลดไข้เพื่อป้องกันไม่ให้ไข้สูง3”
อ่านต่อ >> “เมื่อลูกเป็น ไข้ ตัวร้อน ควรดูแลลูกเบื้องต้นอย่างไร?” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ควรดูแลลูกน้อยเมื่อมี ไข้ ตัวร้อน ในเบื้องต้นอย่างไร?
เวลาที่ลูกมีไข้ ตัวร้อน คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มักเกิดความกังวลใจมาก อาจเนื่องด้วยไม่เคยมีประสบการณ์ในการดูแลเด็กเล็กกันมากก่อน อย่างแรกที่จะขอแนะนำคือ ให้ตั้งสติ และวัดอุหภูมิร่างกายให้ลูกด้วยการใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้แบบดิจิตอล หรือจะใช้แบบปรอทวัดไข้ธรรมดาก็ได้ และเมื่อวัดไข้ให้ลูกแล้ว อุณหภูมิร่างกายมีไข้ต่ำๆ ก็สามารถดูแลบรรเทาอาการไข้ให้ลูกได้เองที่บ้าน แต่หากอาการไข้ลูกไม่ลดลง หรือเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ควรต้องพาลูกไปพบคุณหมอในทันทีนะคะ
สำหรับการวัดอุณหภูมิไข้ให้ลูกน้อย สามารถวัดได้ ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งสามารถเลือกวัดอุณหภูมิตามความเหมาะสมได้ ดังนี้
1. การใช้ปรอทวัดไข้วัดทางปากโดยวางปรอทวัดไข้ไว้ใต้ลิ้น
2. การใช้ปรอทวัดไข้วัดทางทวารหนัก
3. การใช้ปรอทวัดไข้วัดทางใต้รักแร้ ด้วยการใส่ปรอทวัดไข้ไว้บนสุดของซอกรักแร้
4. การใช้ปรอทวัดไข้วัดความดันทางหู
การวัดไข้ให้ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่สามาถทำได้เองในเบื้องต้นนะคะ เพราะเวลาที่พาลูกไปส่งโรงพยาบาลทางคุณหมอ พยาบาลจะถามถึงอุณหภูมิที่วัดได้ล่าสุด เพื่อประเมินอาการไข้ และวัดอุณหภูมิไข้ให้ลูกอีกครั้งด้วยค่ะ ระหว่างนี้หลังจากวัดไข้ให้ลูกแล้ว ก็ควรดูแลบรรเทาลดไข้ให้ลูก ตามนี้ค่ะ
- ลูกอายุ 3-6 เดือน มีอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 38 องศาเซลเซียส และลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป มีอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 39 องศาเซลเซียส ระหว่างทางไปพบแพทย์ควรเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกด้วย
- ถ้าลูกขวบปีแรกเป็นไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง ทำการลดไข้ด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ไม่หาย มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการกระสับกระส่าย ร้องไห้ไม่หยุด ซึมหายใจเร็วหอบ ชัก อาเจียน หรือท้องเสีย เป็นต้น
- ระวังอาการชัก หากลูกไข้ขึ้นสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องระวังว่าลูกอาจเกิดอาการชักได้ ซึ่งต้องทำการลดไข้โดยด่วน ด้วยการนำผ้าขนหนูชุบน้ำมาไว้ตามข้อพับเพื่อการระบายความร้อน4
อ่านต่อ >> “วิธีรักษา ไข้ หรือ ตัวร้อน อย่างถูกต้องจากคุณหมอ” หน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธี รักษา ไข้ หรือ ตัว ร้อน ลูกมีไข้ เช็ดตัวแบบไหนช่วยให้ไข้ลดลง?
การเช็ดตัวเพื่อลดอาการไข้ ตัวร้อน เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำในเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันลูกชักจากไข้ขึ้นสูง และเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ดูแลบรรเทาอาการไข้ ตัวร้อนให้กับลูกน้อยด้วยการเช็ดตัวลดไข้อย่างถูกต้อง ทีมงานมีคำแนะนำจาก อาจารย์วรรณไพร แย้มมา ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ มาฝากกันค่ะ
อุปกรณ์
- กะละมังเช็ดตัว
- ผ้าขนหนูผืนเล็ก 2-4 ผืน
- ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน
ขั้นตอนการปฏิบัติ มีดังนี้
- เตรียมของใช้และน้ำให้พร้อม
- ใช้น้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำแข็งเช็ดตัว เพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัว และระบายความร้อนออกได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่นและเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อจากการหนาวสั่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไข้กลับได้
- ปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อไม่ให้เด็กหนาวสั่นขณะเช็ดตัว
- ถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้หมด
- ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำให้ชุ่ม เช็ดบริเวณหน้า ลำตัว แขน ขา พักผ้าไว้บริเวณศีรษะ ซอกคอ ซอกรักแร้ ขาหนีบ เพื่อระบายความร้อน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่รวมของเส้นเลือดจะระบายความร้อนได้ดี
- เช็ดจากปลายมือ ปลายเท้าสู่ลำตัวโดยเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน
- ขณะเช็ดตัวให้ออกแรงเหมือนถูตัว เพื่อจะช่วยให้เลือดลมเดินดีขึ้น ทำให้เส้นเลือด และ รูขุมขนขยายตัว
- ถ้ามีอาการหนาวสั่นให้หยุดเช็ดตัวทันที เพราะถ้าเช็ดแล้วหนาวสั่นจะยิ่งทำให้ไข้สูงขึ้นได้
- เปลี่ยนผ้าชุบน้ำบ่อยๆ ทุก 2 – 3 นาที
- ใช้เวลาเช็ดตัวประมาณ 10 – 15 นาที
- หลังเช็ดตัว ควรซับตัวเด็กให้แห้ง แล้วสวมเสื้อผ้าเบาสบาย ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หนา หรือห่อตัวเพราะจะทำให้ความร้อนเพิ่มขึ้น
- วัดไข้ซ้ำในอีก 15 – 30 นาทีต่อมา
- ถ้าไข้ลดลง แสดงว่าการเช็ดตัวลดไข้ได้ผล
- ถ้าไข้ไม่ลด ให้เช็ดตัวลดไข้ใหม่อีกครั้ง
- ถ้าไข้ยังไม่ลดลงอีก ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์5
ในเด็กเล็กๆ อาการเจ็บป่วยเป็นไข้ ตัวร้อน สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะดูแลสุขภาพลูกมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม นั่นเพราะสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวลูกด้วย ก็ล้วนเป็นเหตุให้ลูกเกิดการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นได้ และเมื่อพบว่าลูกเหมือนจะมีไข้ ตัวร้อนรุมๆ แนะนำให้เช็กอุณหภูมิร่างกายด้วยการวัดไข้ให้ลูก ซึ่งหากลูกมีไข้ต่ำๆ ก็สามารถดูแลเบื้องต้นด้วยการเช็ดตัวลดไข้ หรือให้ทานยาลดไข้สำหรับเด็กเท่านั้น และหากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีไข้ขึ้นสูงมาก ควรต้องพาลูกไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลทันที …ด้วยความห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก!
ลูกเป็นไข้หวัด ไม่รับประทานยา จะหายได้หรือไม่?
ลูกเป็นไข้แล้วชัก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต พ่อแม่ต้องระวัง
วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไข้
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1,2,3ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. ไข้หรือตัวร้อน. si.mahidol
4รองศาสตราจารย์.ดร.ภญ.พิสมัย กุลกาญจนาธร, รศ.ภญ.ยุวดี วงษ์กระจ่าง และ ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. เทอร์โมนิเตอร์กับการดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นไข้. pharmacy.mahidol
5อาจารย์วรรณไพร แย้มมา ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์. เมื่อเด็กมีไข้เช็ดตัวอย่างไร ?. ns.mahidol
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์. ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever). haamor