ทั้งที่แค่มองหน้าเบบี๋แล้วทำหน้าตาตามเขา ร้องเพลงแล้วพาเขาขยับตัวเบาๆ นั่นก็เรียกว่าเล่นกับเจ้าตัวเล็กแล้ว แต่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยกลับเริ่มต้นเล่นกับเบบี๋ไม่ถูก!… อ๊ะ อ๊ะ คุณด้วยหรือเปล่า?
ไม่เป็นไรๆ มารู้จักการเล่นกับเบบี๋ไปพร้อมๆ กัน ตอนนี้เลย! เล่นกับลูกตั้งแต่ตอนนี้แหละคุณกับจะเขาผูกพันกันมากขึ้น ลูกน้อยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัวและอะไรต่อมิอะไรดีๆ อีกเพียบเลยล่ะค่ะ
เบบี๋เล่นตลอดเวลา
ถึงไม่มีเพื่อนเล่น เบบี๋ก็เล่นคนเดียว เขาเล่นเพื่อเรียนรู้ เบบี๋ต้องการเรียนรู้ตลอดเวลา ดังนั้นทุกการเคลื่อนไหว ทุกการกระทำของเบบี๋คือการเล่น แต่การมีคนเล่นด้วย เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์และเป็นการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับเบบี๋ ไม่ใช่เรื่องของเกมหรือของเล่น และ”เพื่อนเล่น” ที่ดีที่สุดสำหรับลูกคือ “พ่อแม่”
พ่อแม่เล่นกับเบบี๋ เขาก็จะ…
1. คุ้นเคย วางใจ และผูกพันกับคุณ
การเล่นทำให้คุณกับลูกน้อยไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว ความผูกพันระหว่างคุณกับเขาจะลึกซึ้งขึ้น ลูกน้อยจะรู้สึกได้ถึงความรักที่คุณมีให้และมีความมั่นคงทางใจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเขา
2. เซลล์สมองแล่นปรู๊ดปร๊าด
ประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งเบบี๋ได้รับจากการเล่นจะทำให้สมองส่วนต่างๆ เชื่อมต่อกัน พัฒนาการทางสมองจึงดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง
3. เข้าใจสิ่งที่คุณพูดและอยากหัดพูดบ้าง
ถึงจะยังไม่มีเวลาสำหรับการเล่น แต่คุณก็มีปฏิสัมพันธ์กับเบบี๋ด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำ (อย่างทำกับข้าว ซื้อของ พับผ้า ฯลฯ) หรือร้องเพลงให้เขาฟัง
4. ทำให้พอจะบอกได้ว่าเบบี๋มีบุคลิกภาพแบบใด
เพราะไม่ช้าคุณก็จะดูออกว่าเบบี๋ชอบเล่นแรงๆแบบไร้สาระ หรือชอบเล่นเงียบๆอย่างสงบ
เล่นอะไรกันดีล่ะ
การเล่นช่วยให้เบบี๋ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นทั้งสำหรับลูกและพ่อแม่ การเล่นยังสำคัญต่อพัฒนาการทุกด้าน เราจึงมีวิธีเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการตามวัยมาแนะนำ
แรกเกิด – 3 เดือน
เบบี๋วัยนี้จะตั้งอกตั้งใจฟังเสียงรอบตัวและพยายามเลียนเสียงที่ได้ยินโดยใช้คอ ลิ้นและปาก ชอบมองใบหน้าคนและสิ่งที่สะดุดตา กำลังหัดชันคอและขยับแขน-ขาเล่น ซึ่งการเล่นขณะนอนคว่ำก็ช่วยเสริมสร้างทักษะการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
• เปิดเพลงหลายๆ แนวให้เบบี๋ฟัง
ขยับมือ เท้า แขนและขาของเขาตามจังหวะเพลง เพลงที่มีท่าทางประกอบอย่างแมงมุมลายตัวนั้นและช้างจะช่วยสร้างความเพลิดเพลินได้ดีเป็นพิเศษ พูดคุยกับเขาบ่อยๆและทำเสียงต่างๆให้เขาฟังด้วย จะได้ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านการพูด
• ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและคอ
โดยชูของเล่นเหนือระดับสายตาของเบบี๋ เขาจะได้พยายามชันคอดู ขยับของเล่นตรงหน้าเขาในแนวนอนหรือเล่นกับเขาโดยใช้หุ่นมือ เขาจะได้หัดมองตาม และตอนแดดร่มลมตกเขาก็ควรจะได้นอนคว่ำบนผ้านุ่มๆข้างนอกบ้าน ซึ่งมีสิ่งรอบตัวมากมายให้สำรวจและเฝ้าดู
• เบบี๋วัยนี้ชอบของเล่นประเภทที่มีสีสันสดใส
(หรือใช้สีที่ตัดกัน เสียงดนตรี กระจกเงาลวดลายแปลกตาและภาพใบหน้าหลากหลายแบบอย่างโมบายล์ เบาะกิจกรรมและผ้านวมที่ใช้ปูตอนนอนคว่ำ)
• โมบายล์และเบาะกิจกรรม
จะช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวเมื่ออายุใกล้ๆ 3 เดือน เพราะเขาจะพยายามเอื้อมมือคว้าและตีของเล่นที่ห้อยลงมาตรงหน้า และนั่นก็จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเหตุและผล รวมทั้งการประสานงานของตาและมือ
(ยังมีต่อ)
อายุ 4 – 6 เดือน
เบบี๋วัยนี้จะพยายามหัดใช้นิ้วหยิบจับสิ่งต่างๆ เริ่มแยกแยะสี รูปทรง ขนาดและกลิ่นต่างๆได้แล้วด้วย กิจกรรมที่เหมาะสมจึงเป็น
• แบบที่ช่วยส่งเสริมประสาทสัมผัส
ด้านการได้ยิน การสัมผัสและการมองเห็นอย่างการอ่านนิทานให้เขาฟัง
• กลิ่นธรรมชาติที่ปลอดภัย
หรือไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง อย่างมะนาว วานิลลาและสะระแหน่พ่นบางๆ ที่ของเล่น แล้วให้เบบี๋ลองดมทีละกลิ่นโดยพูดชื่อกลิ่นให้เขาฟังและพูดซ้ำอีกครั้ง เวลาที่ได้กลิ่นเหม็นๆ อย่างตอนเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือปิ้งขนมปังนานจนไหม้ ก็ให้ทำแบบเดียวกัน เขาจะได้รู้จักแยกแยะระหว่างกลิ่นที่พึงและไม่พึงประสงค์
• ใช้ของเล่นสีสดใส
เบบี๋วัยนี้เริ่มรู้จักสีต่างๆ มากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะสีที่สดใส เขาจึงควรจะได้เห็นสีสันที่หลากหลายจากของเล่นและสิ่งรอบตัวทั้งในและนอกบ้านอย่างหญ้าสีเขียว ท้องฟ้าสีน้ำเงินหรือดอกกุหลาบสีแดงสดในแจกันที่วางอยู่ในระดับสายตาพอดี เขาจะได้คุ้นเคยกับแม่สีเหล่านี้ และอีกไม่นาน เขาก็จะคุ้นเคยกับสีอื่นๆ (ซึ่งแยกแยะได้ยากกว่า) ด้วยเช่นกัน
• สัมผัสพื้นผิวของผ้า
หาเศษผ้าที่มีลักษณะเนื้อผ้าแบบต่างๆ (อย่างผ้าขนสัตว์ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าขนหนูผ้าลูกไม้ ฯลฯ) มาเรียงบนแผ่นกระดาษแข็งและวางตรงหน้าเบบี๋ เขาจะได้สำรวจด้วยสายตาและลองใช้มือลูบดู
• ฝึกคว่ำหงาย
ในช่วงที่ให้เบบี๋นอนคว่ำ ให้คุณจับตัวเขากลิ้งสลับด้านไปมาเพื่อสอนให้เขาพลิกคว่ำพลิกหงายเอง และให้คุณถือของเล่นในระยะที่หยิบไม่ถึง เขาจะได้พยายามเอื้อมมือคว้า เบบี๋วัยนี้ยังชอบแย่งนิทานจากมือคุณและพยายามพลิกหน้าหนังสือเองด้วย นิทานที่ทำจากกระดาษแข็งหรือผ้าจึงเป็นของเล่นที่เหมาะมาก
• จ๊ะเอ๋
เบบี๋วัยนี้สามารถเล่นจ๊ะเอ๋ในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นได้แล้ว ฉะนั้นแทนที่จะใช้มือปิดหน้าไว้ คุณก็อาจจะแอบอยู่ข้างหลังเฟอร์นิเจอร์ ประตูหรือผ้าม่าน คุณยังควรจะทำเสียงตลกๆและหัวเราะระหว่างการเล่นด้วย เขาจะได้เข้าใจว่านี่เป็นแค่เกม ไม่ได้แปลว่าคุณจะทิ้งเขาไว้และหายตัวไปจริงๆ
7 – 9 เดือน
เบบี๋วัยนี้จะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เรียนรู้มาผสมผสานกัน ทักษะการเคลื่อนไหวและการใช้สายตาก็สอดรับกันมากขึ้นด้วย เมื่อตาและมือทำงานประสานกันได้ดีขึ้น เขาก็สามารถใช้มือทำสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น
• เล่นกับเสียง
หากล่องพลาสติกที่มีสิ่งของต่างๆ (อย่างข้าวสาร เหรียญ ก้อนหิน ฯลฯ) อยู่ข้างในและปิดฝามิดชิด 2-3 ใบให้เบบี๋เขย่าเล่นหรือหยิบมากระทบกัน สาธิตให้เขาดูว่าจะใช้สิ่งรอบตัว (อย่างกระดิ่ง นกหวีด พวงกุญแจ กล่องดนตรี ฯลฯ) ทำเสียงต่างๆได้อย่างไร
• หาของเล่นที่มีปุ่ม
พอเริ่มเข้าใจแนวคิดเรื่องเหตุและผลมากขึ้น เบบี๋ก็จะชอบเล่นสิ่งที่เปิดไฟเล่นได้ ขยับเล่นได้ มีเสียงหรือเปิด-ปิดเล่นได้อย่างโทรศัพท์มือถือ รีโมททีวีและสวิตช์ไฟ คุณจึงควรซื้อของเล่นประเภทที่มีหลายๆ ปุ่ม (อย่างโทรศัพท์ของเล่น แผ่นกิจกรรมของเล่น ฯลฯ) มาสนองความชอบดังกล่าว
• ชวนขยับเคลื่อนไหว
ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเหตุและผลของเบบี๋ยังมีผลต่อการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ และการใช้แขน-ขาให้เป็นประโยชน์ต่อการหัดคลานและการเหนี่ยวตัวยืนด้วย คุณช่วยต่อยอดได้ด้วยการชี้และพูดชื่ออวัยวะแต่ละส่วนให้เขาฟัง ชวนเขาเล่นเกมประเภทที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบที่คาดเดาได้อย่างตบแปะ
• เล่นในอ่าง
พอเบบี๋นั่งโดยไม่ต้องช่วยพยุงและอาบน้ำในอ่างอาบน้ำของผู้ใหญ่ได้แล้ว เกมประเภทที่เล่นในอ่างจะทำให้เขาชอบการอาบน้ำจนเลิกงอแงเมื่อถึงเวลาที่คุณพาไปอาบน้ำ การเล่นน้ำยังช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆได้ดี และถ้าคุณเป่าฟองสบู่ให้เล่นในอ่างอาบน้ำหรือสนามหญ้าหน้าบ้าน (โดยเฉพาะในวันที่มีลม) เขาจะต้องติดใจและหัวเราะชอบใจอย่างแน่นอน
• เล่นซ่อนของ
เบบี๋วัยนี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง “แม้จะมองไม่เห็น ของก็ไม่ได้หายไปไหน” มากขึ้นจนหาของที่คุณแอบซ่อนไว้เป็นแล้ว นั่นแปลว่าคุณควรจะชวนเขาเล่นเกมประเภทที่เหมาะกับพัฒนาการดังกล่าวอย่างใช้ผ้าคลุมของเล่นไว้หรือเอาไปซ่อนไว้ในห้องอื่น เขาจะได้พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อหาของเล่นให้เจอ
10 – 12 เดือน
พอใกล้จะอายุครบขวบปีแรก เบบี๋จะเข้าใจคำพูดที่ซับซ้อนขึ้นและเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคำกับการกระทำอย่าง “หม่ำๆ” และ “ปรบมือ” ถ้าคุณตอบสนองต่อความพยายามในการสื่อสารของเขาและปล่อยให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามใจ ก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการหัดเดิน ซึ่งเป็นทักษะการเคลื่อนไหวที่พ่อแม่ทุกคนตั้งตารอ
• นั่งห่างๆจากเบบี๋และกระตุ้นให้เขาเกาะเดินมาหาคุณ
หรือยืนซ้อนอยู่ข้างหลังและจูงเขาเดินไปรอบๆห้อง เวลาที่เขายืนและเดินได้โดยไม่ต้องเกาะอะไรเลย (ถึงจะแค่เดี๋ยวเดียวก็ตาม) ก็อย่าลืมให้รางวัลเขาด้วยล่ะ
• ของเล่นประเภทเข็น ลากและขี่
จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น จึงช่วยให้เบบี๋เกาะเดินไปรอบๆห้อง (เตรียมพร้อมสำหรับการเดินโดยไม่ต้องเกาะอะไรเลย) ได้ง่ายขึ้น และเวลาที่เกาะเดิน เขาก็มักจะชอบถือของเล่นไปด้วย คุณจึงควรวางของเล่นชิ้นโปรดไว้ตามมุมห้องเพื่อล่อให้เขาเกาะเดินมาหยิบเอง
• เล่นคลานวิบาก
หาเบาะและหมอนมาวางเรียงกันเพื่อทำเป็นทางวิบากให้เบบี๋คลานข้ามเล่นหรือเกาะเดินวนไปรอบๆ แต่ต้องไม่ปล่อยให้คลาดสายตา เพราะเขาอาจจะล้มและลุกเองไม่ได้ และเบาะหรือหมอนก็อาจจะอุดปากหรือจมูกจนหายใจไม่ออก
• เล่นเกม “ใส่แล้วเท”
เบบี๋วัยนี้ชอบใส่ของในกล่องหรือภาชนะอื่นๆ แล้วเททิ้ง ชอบนำของอย่างถ้วย บล็อกไม้และห่วงพลาสติกมาวางซ้อนกัน แล้วใช้มือปัดล้มด้วย ซึ่งเป็นเกมในลักษณะที่ช่วยฝึกเรื่องการคว้า หยิบและปล่อยมือ ถ้าคุณจัดของเล่นโดยแยกกองตามขนาดหรือสีให้เขาเห็น ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวก็จะชัดเจนขึ้น
• ฝึกใช้มือหยิบ-โยน
เตรียมถังน้ำมา 1 ใบและสาธิตให้เบบี๋ดูว่าของสิ่งไหนจม-ลอยน้ำ ให้เขาลองโยนของเล่นลงไปในถังให้น้ำกระฉอกออกมาด้วย (ต้องไม่ปล่อยให้คลาดสายตาเช่นกัน) เพราะการโยน กลิ้ง จับของอย่างลูกบอลหรือสีเทียน และการปล่อยให้เขาพยายามหยิบอาหารใส่ปากเอง คือวิธีง่ายๆที่จะช่วยส่งเสริมให้เขาใช้มือได้อย่างคล่องแคล่ว
• เล่นเลียนแบบของจริง
ของเล่นประเภทที่ทำเหมือนของใช้ในชีวิตจริงอย่างเครื่องใช้ในครัวและไม้กวาดให้เบบี๋ และให้เขาเลียนแบบคนที่กำลังทำกับข้าวหรือกวาดบ้านเพื่อกระตุ้นให้รู้จักเล่นสมมติ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง