คุณพ่อ คุณแม่หลายคนคงเคยเจอกับปัญหาที่ลูกน้อยร้องไห้แล้วกลั้นหายใจ บางครั้งกลั้นจนหน้าเขียว เหมือนกับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ คุณพ่อ คุณแม่ไม่ต้องตกใจค่ะ อาการที่ ลูกร้องไห้กลั้น แม่น้องเล็กมีวิธีการแก้ไขจากคุณหมอ เมื่อลูกร้องไห้กลั้นมาฝากค่ะ
ลูกร้องไห้กลั้น เกือบเสียชีวิต
จากกรณีตัวอย่างของคุณแม่ที่เกือบเสียลูกรักไป เพราะลูกร้องกลั้น หรือ ร้องไห้แล้วกลั้นหายใจ ทำให้ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงในสมองไม่เพียงพอ จนทำให้หน้าเขียว และเกือบเสียชีวิต ไม่ต้องตกใจ แม่น้องเล็กมีข้อมูลเกี่ยวกับ “การร้องกลั้น” ครบทั้งอาการ ประสบการณ์จริงจากคุณแม่ และวิธีแก้ไขจากคุณหมอมาให้อ่านกันค่ะ
อาการที่ลูกน้อยร้องไห้แล้วกลั้นหายใจ จนตาลอย ปากซีด หน้าเขียว โบราณเรียกว่าร้องจนงอหาย มีศัพท์เรียกว่า “breath-holding spells” ถ้าปล่อยให้กลั้นหายใจนานๆ ออกซิเจนจะเข้าไปหล่อเลี้ยงภายในสมองไม่เพียงพอ สังเกตง่ายๆ คือ ถ้าน้องร้องแล้วเงียบเสียงหรือไม่มีเสียงร้องออกมา อาการนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิดถึงเด็กโต เมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้แล้ว โดยเฉพาะเวลาไม่ได้ดังใจ หรือถูกขัดใจ
การร้องลักษณะนี้สามารถพบได้บ่อยในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึงอายุ 2 – 3 ขวบ หรือเมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้แล้ว โดยเฉพาะเวลาไม่ได้ดังใจ แต่หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ หายไปเองโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไร เพราะการร้องกลั้นนั้นไม่มีอันตรายต่อสุขภาพร่างกายหรือสมองของลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “ทำไมลูกน้อยถึงร้องไห้กลั้น” คลิกหน้า 2
ทำไมลูกน้อยถึงร้องไห้กลั้น
สาเหตุที่ทำให้ลูกร้องกลั้นนั้นเกิดจากการที่เจ้าตัวเล็กร้องไห้อย่างรุนแรงด้วยความโกรธหรือถูกขัดใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องตามใจลูกไปเสียทุกอย่าง เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะทำให้ลูกเคยตัว และจะใช้วิธีร้องกลั้นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ แถมยังทำให้เจ้าตัวเล็กกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นวิธีที่ถูกต้องคือ
1.เวลาที่ลูกถูกขัดใจ อย่าปล่อยให้ลูกโกรธจนถึงขีดสุด ควรพยายามหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปหาสิ่งอื่น
2.เมื่อลูกร้องกลั้น ให้คุณกอดลูกไว้โดยไม่ต้องพยายามหาวิธีแก้ไขใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขย่าตัวลูกหรือตบหน้าเพื่อให้ลูกหยุดร้อง เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังอาจทำให้ลูกโกรธและร้องกลั้นมากขึ้น
3.สำรวจดูว่าลูกอมอะไรไว้ในปากขณะที่ร้องกลั้นหรือไม่ ถ้ามีให้รีบหยิบออกเพราะอาจทำให้ลูกสำลักหรือติดคอจนทำให้เกิดอันตรายได้
4.อย่าแสดงอาการตื่นตกใจเวลาที่ลูกร้องกลั้น เพราะอาจทำให้ลูกตกใจมากขึ้นหรืออาจทำให้ลูกเคยตัว ต่อไปลูกจะใช้วิธีร้องกลั้นเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณ
5.ทั้งคุณพ่อคุณแม่และสมาชิกทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่คนหนึ่งห้ามแต่อีกคนตามใจ ถ้าเป็นแบบนี้คงแก้ไขได้ยากค่ะ
สำหรับอาการเขียวที่เกิดจากการร้องกลั้นก็ไม่มีอันตรายร้ายแรงเช่นกัน ยกเว้นในเด็กที่มีโรคหัวใจหรือโรคระบบหลอดเลือด ถ้าเป็นกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย
วิธีแก้ไขจากประสบการณ์ของแม่ๆ
คุณแม่หลายคนอาจจะมีวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันไปจากประสบการณ์ และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น เรียกชื่อลูกดังๆ, เอาน้ำพ่นใส่หน้า หรือลูบหน้า, ทำให้ตกใจ, อุ้มพาดบ่าแล้วลูบหลัง, ตีก้นให้ร้องไห้, จับคางแล้วหงายหน้าน้องขึ้นให้ปากหุบ ซึ่งวิธีเหล่านี้คุณแม่อาจจะใช้ได้ผลมาแล้ว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “วิธีแก้ไขจากคุณหมอ” คลิกหน้า 3
วิธีแก้ไขจากคุณหมอ
1.ให้คุณพ่อ คุณแม่คุมสติ ไม่แสดงอาการตกใจ เพราะไม่มีใครกลั้นหายใจได้นานจนสมองขาดออกซิเจนหรือเป็นอันตรายแก่ชีวิต คือ นานกว่า 4 นาที และถ้าคุณพ่อคุณแม่อยู่ในสถานการณ์ที่ลูกกำลังร้องกลั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องทำใจให้สงบก่อนค่ะ มั่นใจได้ว่าอาการนี้ไม่ทำให้ถึงชีวิตแน่นอน แล้วก็ค่อยๆ หาทางรับมือต่อไป คุณพ่อคุณแม่บางคนตกใจร้องจนเสียงหลง ก็ยิ่งเป็นการไปเร้าเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
2.ให้ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ แต่ไม่ตามใจ เพราะลูกจะคิดว่าถ้าร้องไห้รุนแรงแบบนี้แล้วจะได้สิ่งที่ต้องการ อาการนี้จะดีขึ้นเมื่อลูกโตขึ้น อายุประมาณ 3 ขวบ
3.สัมผัสช่วยได้ เมื่อมีสติแล้ววิธีที่ดีที่สุด คือการกอดสัมผัสเพื่อปลอบโยนเจ้าตัวเล็กค่ะ ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจและช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้
4.คุณพ่อคุณแม่ต้องมีมุข มุขที่ว่านี้ก็คือ การหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าตัวน้อยเวลาที่ร้องเจ็บ หรือเวลาที่อยากทำอะไรนั่นเองค่ะ ถ้าเด็กบางคนชอบเล่นก็ให้นำของเล่นที่ชอบมาให้ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจชวนคุยชม นอกชมไม้ ไม่ควรห้ามหรือขัดใจลูกตรงๆ อย่างเด็ดขาด
5.อย่าทะเลาะกันเอง พบว่าผู้ใหญ่หลายคนมักทะเลาะกันเอง ประมาณว่า “ดูสิเธอขัดใจ ลูกเลยเป็นแบบนี้” นอกจากจะไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ไม่น่าดูเลยค่ะ
6.ห้ามเขย่าลูก รู้ค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่ตกใจที่เห็นเจ้าตัวน้อยเป็นลมล้มพับไป แต่การเขย่าเพื่อให้ลูกฟื้นไม่ใช่วิธีที่ดีอย่างแน่นอนค่ะ แถมยังอาจทำให้ลูกเจ็บด้วย
ข้อควรสังเกต
สำหรับอาการของทารกร้องกลั้นที่ไม่น่าไว้วางใจ คือ ทารกมีประวัติว่ามีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือมีความผิดปกติของหัวใจ ซึ่งอาจมีอาการร้องกลั้นเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ดังนั้น หากอาการร้องกลั้นเกิดขึ้นบ่อยจนคุณแม่เกิดความกังวล ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งจะดีที่สุดค่ะ
กรณีที่ทารกหรือเด็กเล็กเป็นโลหิตจางคุณหมอจะเสริมธาตุเหล็กบำรุงเลือดเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อาจมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากพบว่า มีลักษณะของการเต้นของหัวใจผิดจังหวะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการร้องกลั้นนั่นเอง
ข้อควรระวังเพิ่มเติม
เมื่อลูกมีอาการร้องไห้แล้วกลั้นในครั้งแรก คุณพ่อ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าไม่มีความผิดปกติอย่างอื่นซ่อนเร้น เช่น ภาวะเลือดจาง โรคหัวใจ หรือ โรคลมชัก
การเลี้ยงลูกยังมีปัญหาจุดเล็กจุดน้อยให้คุณพ่อ คุณแม่ได้เจอ และหาวิธีแก้ไขอีกมาก แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจนะคะ ขอเพียงคุณหมั่นแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลลูกอยู่เสมอ จะทำให้คุณสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกได้ และมีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกมากขึ้นค่ะ
เครดิต : เฟสบุ๊ค Mamy N’alich, คนท้องคุยกัน, baby.haijai.com
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก!!
10 วิธีทำให้ลูกหยุดร้องไห้
ปล่อยให้ลูกร้องไห้นานๆ ทำลายสมองจริงหรือ?
8 เทคนิครับมือเมื่อลูกทารกร้องไห้อย่าง “ไม่มีเหตุผล”
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่