AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกร้องโคลิค สาเหตุ อาการ และวิธีแก้ไข

ร้องโคลิค คืออะไร?

ลูกร้องโคลิค หลังจากคลอดลูกและกลับมาบ้าน ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่นดี แต่แล้วผ่านไปไม่กี่สัปดาห์จู่ๆ ทำไมเจ้าตัวเล็กถึงร้องนานเป็นชั่วโมงอย่างนี้นะ ตัวก็ไม่ร้อน ผ้าอ้อมก็ไม่เปียก ปัญหาอื่นก็ไม่มี ใครช่วยบอกทีลูกร้องทำไม? ทีมงาน Amarin Baby & Kids มาไขข้อสงสัยให้แล้วว่าทำไมลูกถึงร้องนานเป็นชั่วโมง ร้องซ้ำเวลาเดิม การร้องแบบนี้เรียกว่า ลูกร้องโคลิค

 

ลูกร้องโคลิค คืออะไร?

โคลิค หรือ โคลิก (colic) คืออาการร้องของเด็กทารก ที่มักจะเกิดขึ้นในทารกอายุ 3 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน ลักษณะการร้องของลูกจะร้องมาก ร้องนาน ร้องหน้าแดงกำหมัดแน่น ร้องจนตัวงอ เป็นต้น และมักชอบร้องช่วงเวลาเย็นๆ หรือไม่ก็ช่วงกลางคืน  เป็นการร้องที่ตรงเวลากันทุกวัน โดยจะร้องนานมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน

 

อาการร้องโคลิค เกี่ยวข้องกับความเชื่อได้อย่างไร?

ถ้าเป็นทางการแพทย์สมัยใหม่จะวินิจฉัยลักษณะอาการร้องของลูกอย่างนี้ว่าเป็นอาการร้องโคลิก แต่ถ้าเป็นในสมัยโบราณเวลาที่เด็กๆ ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ ร้องเสียงดัง และไม่ยอมหยุด เชื่อกันว่า เด็กมองเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว เช่น วิญญาณ หรือ แม่ซื้อ และเล่ากันต่อๆ มาถึงหลายๆ สาเหตุ เช่น แม่ซื้อมากวน ชวนให้เล่นด้วย, ถูกเร่งให้มาเกิด ยังไม่พร้อมที่จะมา, เด็กเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็น, นมแม่เป็นพิษ ดวงไม่ถูกกับพ่อแม่, เป็นซาง (กินน้อย ไม่ยอมกิน ทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วย), สวรรค์กำลังทดสอบความเป็นแม่ ถ้าผ่านไปได้ จะได้ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่

อ่านต่อ >> “ลูกร้องโคลิก ด้วยสาเหตุใด” หน้า 2

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ลูกร้องโคลิค สาเหตุเกิดจากอะไร?

การร้องโคลิกของลูกวัยทารก ยังไม่ทราบสาเหตุของอาการที่แน่ชัด แต่ก็อาจมาจากหลายสาเหตุร่วมกันที่นำมาสู่การร้องโคลิค ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี เจตศรีสุภาพ กุมารเวชศาสตร์(1) ได้อธิบายถึงสาเหตุที่อาจนำไปสู่การร้องโคลิคของทารก ดังนี้

  1. จากพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กเลี้ยงยาก
  2. เด็กกลืนอากาศขณะดูดนมเข้าไปมาก
  3. เด็กไม่ได้เรอออกมา อากาศในท้องจึงก่อให้เด็กเกิดอาการแน่นอึดอัดในท้อง
  4. เด็กอยู่ในท่านอนที่ไม่เหมาะสม
  5. เด็กกินมากเกินไป หรือกินน้อยเกินไป
  6. ครอบครัวมีความเครียด หรือความวิตกกังวลมาก (ซึ่งอาจตรงกับที่พบอุบัติการณ์โคลิดสูงในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง เป็นบุตรของพ่อแม่ที่มีอายุมาก ครอบ ครัวที่มีลูกน้อย และในพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูง) พบว่าความเครียดของแม่ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์มีผลให้เกิดโคลิกในเด็กได้
  7. เกิดในเด็กที่มีภาวะ/โรคกรดไหลย้อน
  8. เกิดในเด็กที่มีการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ คือมีการเคลื่อนตัวของลำไส้มากเกินไป
  9. เกิดในเด็กที่มีการกินอาหารพวกแป้งมากเกินไป ทำให้ลำไส้ย่อยแป้งไม่หมด จึงเหลือแป้งให้แบคทีเรีย (ในลำไส้) ย่อยแป้งที่เหลือ ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้มาก เด็กจึงแน่นอึดอัดท้อง
  10. ในเด็กที่มีการแพ้อาหาร หรือในเด็กที่ได้รับน้ำผลไม้บางอย่าง เช่น น้ำแอปเปิ้ล
  11. เด็กที่บิดา มารดา มีปัญหาทางอารมณ์
  12. มีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เด็ก โดยเฉพาะมีแบคทีเรียบางกลุ่มสัมพันธ์กับการเกิดอาการโคลิกซึ่งเมื่อลดแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวอาการโคลิกก็ลดลงได้(1)

 

การร้องโคลิคของลูกวัยทารก อาจดูเป็นการร้องที่ยาวเพราะลูกจะร้องติดต่อกันทุกวัน และอาการร้องจะค่อยดีและหายไปเองเมื่อลูกเริ่มเข้าช่วงเดือนที่ 4 เป็นต้นไป ซึ่งระหว่างนี้เป็นหน้าของคุณพ่อคุณแม่ในการรับมือกับอาการร้องโคลิกของลูก ที่สิ่งสำคัญที่ต้องขจัดให้ได้เมื่อลูกร้องออกในช่วงเวลาเดิมของแต่ละวัน คือพ่อแม่ต้องไม่เครียด และควรสลับกันดูแลลูก ไม่ควรทิ้งภาวะการดูแลไว้ที่คนใดคนหนึ่ง เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดความเครียดสะสมขึ้นกับตัวของพ่อแม่ได้

 

อ่านต่อ >> “ลูกร้องโคลิก ดูแลอย่างไรได้บ้าง” หน้า 3

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

Credit Photo : Shutterstock

 

จะช่วยอย่างไรเมื่อ ลูกร้องโคลิค ?

การจะรับมือกับเมื่อลูกร้องโคลิค ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องตั้งสติ ไม่คิดมากและไม่ฟุ้งซ่าน เพราะการร้องโคลิคไม่ใช่การร้องที่จะนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพของลูก แต่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของพ่อแม่ได้บ้าง ดังนั้นแนะนำว่าพ่อแม่ต้องไม่เครียดกับเสียงร้องของลูกเด็ดขาด

หากลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่มีอาการร้องโคลิค อาจเป็นการยากที่จะทำให้ลูกหยุดร้องในทันที แต่ก็พอที่ช่วยให้อาการร้องดีขึ้น ซึ่งคุณหมอได้มีคำแนะในการดูแลเมื่อ ลูกร้องโคลิค ดังนี้

  1. ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตการร้องของลูกก่อนว่าร้องเพราะหิวนมหรือไม่ เพราะเด็กที่หิวนมมักจะร้องกวน
  2. ควรจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูก โดยเฉพาะในบ้าน ห้องนอน อย่าให้มีอะไรมากระตุ้นลูก อาทิ เสียงดังๆ หรือแสงรบกวน โดยเฉพาะแสงไฟที่จ้ามากไป
  3. การอุ้มลูกพาดบ่าเพื่อให้ลมในท้องดันเรอออกมา จะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้น
  4. เมื่อลูกเริ่มร้อง คุณแม่อาจใช้วิธีนวดตัวลูกเบาๆ เพื่อให้เขารู้สึกสบายขึ้น การลูบหลัง หรืออุ้มขึ้นมาแล้วเขย่าเบาๆ ก็ช่วยให้ลูกผ่อนคลายได้เช่นกัน
  5. การเปิดเพลงเบาๆ ให้ลูกฟัง สามารถช่วยทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายได้
  6. คุณพ่อคุณแม่เมื่อได้ยินลูกร้องนานมากกว่าปกติ ไม่ควรปล่อยลูกให้ร้องอยู่คนเดียว แต่ควรเข้าไปอุ้มแล้วปลอบโยกตัวลูกเบาๆ
  7. หาคนช่วยดูลูก เพื่อแม่จะได้พักบ้าง เช่น คุณพ่อช่วย หรือพี่เลี้ยงมาสลับ ไม่เช่นนั้นคุณแม่จะเครียดมาก(2)

 

อาการร้องโคลิค ไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กทารกทุกคนเสมอไปค่ะ ฉะนั้นว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ในอีกหลายๆ ครอบครัว จึงไม่ต้องกังวลกันเกินไปว่าลูกของเราจะเป็นเด็กร้องโคลิกด้วยหรือเปล่า ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงๆ กับครอบครัวใดก็ตาม ขอให้มีสติและอย่าเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขอให้ในทุกวันดูแลลูกให้ดีตามคำแนะนำจากคุณหมอ แล้วอาการร้องโคลิคจะหายไปในที่สุด …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ทารกขาดวิตามินบี 12 เสียชีวิต เพราะแม่รักสุขภาพกินแต่ผัก
อาการนอนผวาในทารก สาเหตุ และวิธีแก้ไข
ไขทารก มีประโยชน์กับลูกหรือไม่ ทำไมต้องกำจัด?

 

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1,2ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ วว.กุมารเวชศาสตร์, อว.โลหิตวิทยา.โคลิก (Baby colic) : เด็กร้องร้อยวัน.haamor.com
รศ.นพ.ประพันธ์  อ่านเปรื่อง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. เด็กร้อง 3 เดือน (โคลิก). www.si.mahidol.ac.th