เวลาที่ ลูกนอนกรน เราอาจคิดว่าลูกนอนหลับสบาย แต่การกรนที่ผิดปกติ จะส่งผลเสียจนถึงขั้นทำให้ลูกหยุดหายใจขณะนอนหลับได้เลยทีเดียวค่ะ มีการศึกษาพบว่าเด็กไทยในวัยเรียนนอนกรนร้อยละ 6 แต่มีการกรนที่มีปัญหาอยู่ร้อยละ 0.5-1ถ้าลูกเราอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาคงไม่ดีแน่ เรามาไขปัญหา ลูกนอนกรน กันเลยดีกว่าค่ะ
เสียง “กรน” เกิดขึ้นได้อย่างไร
เสียงกรนเกิดจากการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน เวลาเรานอนแล้วสูดหายใจเข้า ทางเดินหายใจส่วนบนจะแคบลงและมีการสั่นมาก จึงทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น ยิ่งทางเดินหายใจตีบแคบมากเท่าไรเรายิ่งต้องสูดหายใจแรงขึ้น เสียงกรนก็จะยิ่งดังขึ้นตามไปด้วย
สาเหตุของการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบนในเด็ก
- ต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ทั้งสองต่อมนี้มีหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคเมื่อทำงานจะมีขนาดใหญ่ขึ้น หากเด็กเป็นหวัดหรือเป็นโรคติดเชื้อบ่อยๆ ลูกก็จะมีโอกาสนอนกรนมากขึ้น เมื่อสองต่อมนี้โตขึ้นจะเป็นเหมือนก้อนหินมาบังทางผ่านของอากาศ ทางเดินหายใจแคบลง เด็กจึงกรน
- ความอ้วนเป็นสาเหตุที่ปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กมีน้ำหนักตัวมาก ไขมันจะพอกที่ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์รวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณด้านหลังทางเดินหายใจส่วนบนทั้งหมด ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง เด็กที่อ้วนจึงนอนกรนมากกว่าเด็กที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติส่วนสาเหตุอื่นๆ อาจเกิดจากโครงหน้าผิดรูป เช่น คางร่นไปด้านหลัง กระดูกใบหน้าค่อนข้างเล็ก ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ในกรณีแบบนี้พบได้น้อย
ลูกนอนกรน แบบไหนที่ถือว่า “ผิดปกติ”
หากทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบมากจะทำให้เด็กหายใจไม่พอ เกิดภาวะหายใจลำบาก นอนหายใจสะดุด เช่น หากนอนหงายแล้วเด็กนอนกรน เมื่อหายใจไม่ได้เขาก็ต้องเปลี่ยนท่าไปมา หากเราสังเกตได้ว่าเมื่อลูกนอนกรน เดี๋ยวนอนตะแคงซ้าย เดี๋ยวนอนตะแคงขวา นอนหลับไม่สบาย ก็แปลว่าอาจมีปัญหา ถ้ามีปัญหามากขึ้น เด็กจะหยุดหายใจ
ร่างกายเราหากยิ่งหลับลึก กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนจะยิ่งหย่อนตัวลง ถ้าหย่อนลงจนปิดกั้นทางเดินหายใจทั้งหมด เขาจะหายใจไม่ออก นอนอยู่ดีๆ จะสะดุ้งเฮือกขึ้นมา เพราะเมื่อเราหายใจไม่ออกเราจะรู้สึกตัวตื่น ลักษณะนี้จะเรียกว่า “หายใจเฮือก” คือ นอนแล้วอยู่ๆ หายใจสะดุด ทารกนอนกรนอยู่แล้วเสียงเงียบไปเพราะหายใจไม่เข้า พอเงียบไปสักระยะหนึ่ง เขาจะเริ่มรู้สึกตัวตื่นแล้วหายใจเฮือกขึ้นมา ถ้าแบบนี้คือแปลว่าผิดปกติ แต่หาก ลูกนอนกรนปกติแบบที่ไม่มีอันตรายอะไร เขาจะกรนเบาๆ แต่หลับสบายดีตลอดทั้งคืน
อ่านเรื่อง “ลูกกรน..อันตรายแค่ไหน” คลิกหน้า 2
ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอนคืออะไร
มนุษย์เราทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เวลาที่ตื่นอยู่กล้ามเนื้อบริเวณคอจะตึงตัว จึงเปรียบเหมือนท่อแข็งๆ อากาศผ่านเข้าออกได้ดีตามปกติ แม้ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์จะโตแต่ลมยังผ่านเข้าไปได้ แต่เมื่อเราหลับ กล้ามเนื้อบริเวณคอจะหย่อนลง ทำให้อากาศผ่านได้ไม่ดีเหมือนเวลาเราใช้หลอดกาแฟเก่าดูดน้ำแรงๆ หลอดจะแฟบลง ทำให้ดูดน้ำลำบาก ยิ่งรวมกับการที่ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โตแล้ว เวลาสูดลมหายใจเข้าแรงๆ ยิ่งทำให้ทางเดินหายใจตีบไปหมด เป็นสาเหตุที่ทำให้มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอนแต่ตอนตื่นไม่เป็นไร แต่สมมติเราตัดต่อมทั้งสองนี้ออกเมื่อกล้ามเนื้อหย่อนลงตอนนอน จะหายใจได้ปกติเพราะไม่มีอะไรขวาง
ภาวะนี้ยิ่งมีการอุดกั้น เด็กก็จะยิ่งหายใจแรงขึ้น ต้องสูดหายใจแรงเพื่อพยายามเอาอากาศเข้าไป ทางเดินหายใจก็จะยิ่งตีบมากขึ้น หากปล่อยไว้อาการนี้จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
อาการที่บ่งบอกว่าลูกอาจมี “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอน”
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- อาการตอนนอน (Nighttime symptom)ได้แก่ หายใจสะดุด นอนกระสับกระส่าย นอนหายใจเฮือก สะดุ้งตื่นตอนกลางดึกเพราะหายใจไม่พอ
- อาการตอนตื่น (Daytime symptom)เด็กที่นอนกรนแล้วหายใจไม่พอ เขาจะไม่ค่อยได้นอน พักผ่อนไม่เพียงพอ อาการที่ลูกแสดงออกจะต่างกันตามวัย
– เด็กโต มักจะบอกว่าปวดหัว ตื่นมาแล้วเวียนหัว บางคนไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากตื่น อยากนอนต่อ ปลุกยาก บางคนเมื่อไปเรียนก็ง่วงจนหลับในห้องหรือขณะทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย จะหลับตอนกลางวันมากขึ้น
– เด็กเล็กเด็กเล็กมักบอกไม่ได้ว่าปวดหัว เด็กที่เข้าโรงเรียนแล้วครูจะบอกพ่อแม่ว่าสมาธิสั้น เขามักไม่มีสมาธิในการเรียน มีปัญหาเรื่องการเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน เขาจะไม่ง่วงเหงาหาวนอนแบบเด็กโต แต่กระสับกระส่าย เดินไปเดินมาเพื่อไม่ให้ง่วง หรืออารมณ์หงุดหงิด ถ้าคุณครูบอกว่าเด็กเล็กคนใดสมาธิสั้น ต้องมาดูว่านอนกรนหรือไม่ หากนอนกรนต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะมีการศึกษาพบว่าเมื่อแก้ปัญหาเรื่องนอนกรน เรื่องสมาธิสั้นและพัฒนาการด้านการเรียนจะดีขึ้น
ลูกนอนกรน ถ้าไม่รักษา จะส่งผลเสียในระยะยาวอย่างไร
- เรียนได้ไม่ดี ทำให้ลูกไม่ชอบเรียน ซึ่งจะมีผลกับเขาในอนาคตแน่นอนและเพราะได้ออกซิเจนไม่เพียงพอจึงส่งผลต่อสมอง ทั้งด้านความจำ สติปัญญา การตัดสินใจสมองไม่ค่อยแล่น คิดและตัดสินใจช้า แต่พัฒนาการอื่นอาจไม่ช้า
- เสี่ยงเป็นความดันสูงหรือหัวใจวายมากกว่าปกติ เมื่อเด็กนอนกรนแล้วหายใจเข้าไปไม่พอ จะทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำเพราะการหายใจของเราคือการสูดเอาออกซิเจนเข้าไปในเลือด เมื่อออกซิเจนในเลือดต่ำจะทำให้อวัยวะภายในได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หัวใจและปอดจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปั๊มเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ได้รับออกซิเจนในปริมาณเท่าเดิม ฉะนั้นในอนาคต เด็กจะมีโอกาสความดันสูง หรือหัวใจวายมากกว่าปกติ เพราะหัวใจและปอดทำงานหนักเป็นระยะเวลาหลายปีทั้งตอนตื่นและตอนหลับ
วินิจฉัยอย่างไรว่าลูกมี “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอน”
ใช้วิธีตรวจการนอน (Sleep test) โดยให้เด็กนอนที่โรงพยาบาลหนึ่งคืนแล้ววัดคลื่นสมองว่าลักษณะการนอนปกติไหม วัดลมที่จมูก ว่าลมผ่านเข้าออกปกติไหม เพราะถ้าเด็กนอนกรน เกิดจากทางเดินหายใจตีบแคบ ลมที่ผ่านจมูกจะน้อยลง วัดระดับออกซิเจนในเลือดว่าลดต่ำไหม วัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดว่าสูงขึ้นไหม เพราะเมื่อเราหายใจต้องเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออก ถ้าคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงแสดงว่าหายใจไม่เพียงพอ มีการวัดการกลอกตา สังเกตการนอนว่าหลับสนิทดีไหมหรือว่าตื่นตลอด
การนอนของคนเรามีหลายระดับ เมื่อหลับแล้วเราจะหลับลึกขึ้นเรื่อยๆ บางคนจะหลับอยู่แค่ระดับหนึ่ง เมื่อหายใจไม่ออกสักพักก็จะตื่นขึ้นมา ไม่ได้ตื่นแบบรู้ตัวแต่สมองตื่น เหมือนหลับไม่สนิท สักพักต่อมาจะหลับสนิทขึ้นและเมื่อหายใจไม่พอสมองก็จะตื่นขึ้นมาใหม่อีก หลับไม่ลึกเสียที การตรวจคลื่นสมองจะช่วยตรวจได้ว่าเขาหลับได้ดีไหม
การตรวจการนอนโดยวัดหลายวิธีดังที่กล่าวไปนั้นมีค่าใช้จ่ายพอสมควร จึงมีวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือนอนที่โรงพยาบาลแล้ววัดออกซิเจนในเลือดเพียงอย่างเดียว หากได้ผลว่าระดับออกซิเจนในเลือดต่ำก็บ่งบอกได้ว่าเด็กมีปัญหาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ แต่วิธีที่ได้มาตรฐานคือการตรวจการนอน
อ่านเรื่อง “ลูกกรน..อันตรายแค่ไหน” คลิกหน้า 3
รักษา “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอน” อย่างไร
การรักษาจะต้องรักษาตามสาเหตุ โดยทั่วไปสาเหตุคือต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โตดังนั้นถ้าเด็กมาด้วยอาการนอนกรนแพทย์มักจะลองให้ยาก่อนซึ่งประกอบด้วยยาพ่นจมูกและยากิน ยาจะช่วยลดขนาดของต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์แล้วติดตามอาการราว 2-4 สัปดาห์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าให้ยาแล้วไม่นอนกรนเลยก็จบการรักษาได้
แต่ถ้าหากให้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ขั้นต่อไปต้องตรวจการนอน เพื่อยืนยันว่าเสียงกรนของเขาผิดปกติจริง หากตรวจการนอนแล้วผลแสดงว่าเป็นการกรนธรรมดา ก็ไม่ต้องรักษา แต่ถ้าเป็นเพราะภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีรักษาคือต้องผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ออก แต่แม้จะเอาทั้งสองต่อมออกแล้ว หากลูกอ้วนควรลดน้ำหนักด้วย
Q&A คลายข้อสงสัยเรื่อง ลูกนอนกรน
Q: ตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ออกแล้วมีผลเสียอะไรไหม?
A: ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์มีหน้าที่ฆ่าเชื้อโรค แต่ในเด็กมีต่อมอื่นอีกมาก เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ หลังหู และท้ายทอย ซึ่งทำหน้าที่แทนได้ จึงไม่ต้องห่วงว่าตัดแล้วจะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันตกลงหรือไม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3-4 ปี ทั้งสองต่อมสามารถโตขึ้นมาใหม่ได้ด้วยแม้มีโอกาสน้อย ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทั้งสองต่อมนี้โตเร็วขึ้นคือ 1) ติดเชื้อบ่อย 2) อ้วน 3) ดูดขวดนม เพราะเวลาเด็กดูดขวดนม นมจะค้างอยู่ในปากและอาจทำให้ฟันผุ เชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ต่อมทั้งสองนี้จึงอาจโตขึ้นได้เพราะต้องทำงานหนักขึ้น
Q: ลูกเป็นภูมิแพ้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ เด็กนอนกรน หรือไม่
A: หากเด็กเป็นภูมิแพ้ เยื่อบุจมูกจะบวม ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและเกิดเสียงกรนได้ง่ายขึ้น จึงต้องรักษาภูมิแพ้ด้วย แต่ภูมิแพ้ไม่ใช่สาเหตุหลักของการกรนและภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอน เพียงแค่เป็นปัจจัยเสริมอาการให้แย่ลง การรักษาภูมิแพ้อย่างเดียวจึงอาจไม่ได้แก้ปัญหาลูกนอนกรนที่ต้นเหตุ
Q: ถ้า ทารกนอนกรน โดยไม่มีปัญหาการหยุดหายใจ จะแก้อย่างไร
A:ต้องเปลี่ยนท่านอนใหม่ ให้เขานอนตะแคงด้านใดก็ได้ พยายามอย่าให้หมอนสูงมาก เพราะจะทำให้คอพับลง เสียงกรนจะดังมากขึ้น ควรหนุนหมอนประมาณไหล่ให้แหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย แต่สุดท้ายจัดท่าอย่างไรเขาก็อาจจะกลับมานอนท่าเดิมที่เขาชอบได้อยู่ดี ดังนั้นถ้าตรวจการนอนแล้วเขาปกติดี ก็ไม่ต้องกังวลอะไร อาจจัดท่าเล็กน้อย เอาหมอนข้างหนุนด้านหลังให้เขานอนตะแคงก็เพียงพอ
เรื่องโดย : นพ. นราธิป สมบูรณ์กุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช สาขาศรีนครินทร์
ภาพ : ShutterStock
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ คลิก
น้องโปรด ต่อมอะดีนอยด์โต เป้ยโพสต์เตือนแม่สังเกต “ลูกนอนกรน”