รักษา “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอน” อย่างไร
การรักษาจะต้องรักษาตามสาเหตุ โดยทั่วไปสาเหตุคือต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โตดังนั้นถ้าเด็กมาด้วยอาการนอนกรนแพทย์มักจะลองให้ยาก่อนซึ่งประกอบด้วยยาพ่นจมูกและยากิน ยาจะช่วยลดขนาดของต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์แล้วติดตามอาการราว 2-4 สัปดาห์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าให้ยาแล้วไม่นอนกรนเลยก็จบการรักษาได้
แต่ถ้าหากให้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ขั้นต่อไปต้องตรวจการนอน เพื่อยืนยันว่าเสียงกรนของเขาผิดปกติจริง หากตรวจการนอนแล้วผลแสดงว่าเป็นการกรนธรรมดา ก็ไม่ต้องรักษา แต่ถ้าเป็นเพราะภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีรักษาคือต้องผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ออก แต่แม้จะเอาทั้งสองต่อมออกแล้ว หากลูกอ้วนควรลดน้ำหนักด้วย
Q&A คลายข้อสงสัยเรื่อง ลูกนอนกรน
Q: ตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ออกแล้วมีผลเสียอะไรไหม?
A: ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์มีหน้าที่ฆ่าเชื้อโรค แต่ในเด็กมีต่อมอื่นอีกมาก เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ หลังหู และท้ายทอย ซึ่งทำหน้าที่แทนได้ จึงไม่ต้องห่วงว่าตัดแล้วจะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันตกลงหรือไม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3-4 ปี ทั้งสองต่อมสามารถโตขึ้นมาใหม่ได้ด้วยแม้มีโอกาสน้อย ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทั้งสองต่อมนี้โตเร็วขึ้นคือ 1) ติดเชื้อบ่อย 2) อ้วน 3) ดูดขวดนม เพราะเวลาเด็กดูดขวดนม นมจะค้างอยู่ในปากและอาจทำให้ฟันผุ เชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ต่อมทั้งสองนี้จึงอาจโตขึ้นได้เพราะต้องทำงานหนักขึ้น
Q: ลูกเป็นภูมิแพ้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ เด็กนอนกรน หรือไม่
A: หากเด็กเป็นภูมิแพ้ เยื่อบุจมูกจะบวม ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและเกิดเสียงกรนได้ง่ายขึ้น จึงต้องรักษาภูมิแพ้ด้วย แต่ภูมิแพ้ไม่ใช่สาเหตุหลักของการกรนและภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอน เพียงแค่เป็นปัจจัยเสริมอาการให้แย่ลง การรักษาภูมิแพ้อย่างเดียวจึงอาจไม่ได้แก้ปัญหาลูกนอนกรนที่ต้นเหตุ
Q: ถ้า ทารกนอนกรน โดยไม่มีปัญหาการหยุดหายใจ จะแก้อย่างไร
A:ต้องเปลี่ยนท่านอนใหม่ ให้เขานอนตะแคงด้านใดก็ได้ พยายามอย่าให้หมอนสูงมาก เพราะจะทำให้คอพับลง เสียงกรนจะดังมากขึ้น ควรหนุนหมอนประมาณไหล่ให้แหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย แต่สุดท้ายจัดท่าอย่างไรเขาก็อาจจะกลับมานอนท่าเดิมที่เขาชอบได้อยู่ดี ดังนั้นถ้าตรวจการนอนแล้วเขาปกติดี ก็ไม่ต้องกังวลอะไร อาจจัดท่าเล็กน้อย เอาหมอนข้างหนุนด้านหลังให้เขานอนตะแคงก็เพียงพอ
เรื่องโดย : นพ. นราธิป สมบูรณ์กุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช สาขาศรีนครินทร์
ภาพ : ShutterStock
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ คลิก
น้องโปรด ต่อมอะดีนอยด์โต เป้ยโพสต์เตือนแม่สังเกต “ลูกนอนกรน”