AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ปัญหาการนอนหลับในเด็ก และการแก้ไข

Credit Photo : Shutterstock

วงจรการนอนหลับในทารกแรกเกิด จะหลับตื่นทุก 2-4 ชั่วโมง ที่จะตื่นขึ้นมากินนมแม่ จากนั้นก็จะหลับต่อ จะเป็นอยู่อย่างนี้ในช่วงเดือนแรกๆ หากพ่อแม่สังเกตจะเห็นว่าลูกนอนหลับได้ดีทั้งกลางวัน และกลางคืน แต่การนอนหลับสนิทดีอาจไม่ใช่กับเด็กทุกคนเสมอไป  ทีมงาน Amarin Baby & Kids มี ปัญหาการนอนหลับในเด็ก พร้อมวิธีแก้ไข มาให้ทราบค่ะ

 

ปัญหาการนอนหลับในเด็ก การนอนหลับของทารก

บ้านไหนที่เพิ่งมีสมาชิกใหม่ตัวน้อยแรกเกิด ที่ญาติพี่น้องใครเห็นก็อยากอุ้ม อยากเล่นด้วย แต่เจ้าตัวเล็กนี่ซิ นอนหลับไดทั้งวี่ทั้งวัน ไม่ตื่นขึ้นมาเล่นบ่อยๆ บ้างเลย ที่ทารกน้อยเอาแต่นอนหลับก็เพราะยังปรับตัวไม่ค่อยได้กับโลกภายนอก ทารกจึงเอาแต่นอนหลับ แล้วยิ่งถ้าได้ห่อตัวให้อุ่นๆ ยิ่งให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในท้องของแม่ ก็ทำให้หลับได้ดี คือพูดง่ายๆ ว่า การนอนหลับคืองานของเจ้าตัวน้อยวัยทารกเขาล่ะค่ะ

โดยปกติแล้วในทารกแรกเกิดจะนอนประมาณ 16-19 ชั่วโมง แล้วจะร้องตื่นขึ้นมาทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง เพื่อมากินนมแม่ พอตื่นได้ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะนอนหลับต่อ วนไปตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับเด็กทารกเกิดในช่วงเดือนแรกไปจนถึงอายุประมาณห้าเดือน ทารกน้อยสามารถนอนหลับยาวๆ ในช่วงกลางคืนได้นานถึง 9 ชั่วโมง แต่หลังจากลูกอายุได้ 6 เดือน ในเด็กบางคนอาจนอนหลับไม่สนิทและนอนหลับยาวหลายชั่วโมงได้เหมือนกันทุกคน

สัญญาณที่บอกว่าลูกกำลังมีปัญหาการนอนหลับ

  1. เมื่อถึงเวลานอนของลูก แต่คุณแม่ใช้เวลามากไปในการช่วยให้ลูกนอนหลับ
  2. เมื่อถึงเวลานอนช่วงกลางคืน แต่ลูกกลับตื่นขึ้นมาบ่อยๆ ตลอดทั้งคืน
  3. การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกได้โดยตรง ที่แม่อาจสังเกตได้ว่าเมื่อลูกตื่นนอนขึ้นมาจะไม่สดชื่น สดใส ร้องกวนงอแง และหงุดหงิดอยู่บ่อยๆ
  4. เมื่อลูกนอนหลับได้ไม่ดี ก็พลอยทำให้แม่ต้องอดหลับอดนอนไปด้วย

 

อ่านต่อ >> ปัญหาการนอนหลับของลูก และแนวทางการแก้ไข หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

ปัญหาการนอนหลับในเด็ก และการแก้ไข

เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าถึงปัญหาการนอนหลับของลูก ผู้เขียนจึงขออนุญาตหยิบยกข้อมูลบางส่วนจาก คณะแพทย์ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[1,2,3] ที่ได้อธิบายถึงปัญหาการนอนหลับที่พบได้บ่อยในเด็ก ดังนี้…

1. การนอนหลับต่อเองไม่ได้ (Sleep onset association)

โดยธรรมชาติ คนเรามักตื่นขึ้นมาหลายครั้ง เป็นระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงกลางคืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการนอนหลับฝัน (REM sleep หรือการหลับช่วงที่มีการกลอกตาอย่างรวดเร็ว) เรามักไม่รู้ตัว และสามารถกลับไปนอนต่อได้อย่างรวดเร็ว แต่เด็กเล็ก ตอบสนองต่อการตื่นนี้แตกต่างออกไป เด็กมักร้องไห้หรือรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อตื่น พ่อแม่มักพยายามที่จะปลอบโยนเด็กที่กำลังกังวลและร้องขอความสนใจ มักรู้สึกว่าจำเป็นต้อง “ช่วย” ลูกให้สามารถกลับไปนอนต่อ โดยการให้อาหาร, อุ้มกล่อม, ตบก้น, กอด หรือนอนลงไปข้างๆ ลูก แต่การทำเช่นบ่อยครั้ง เป็นการทำให้ลูกเรียนรู้โดยอัตโนมัติว่า การ “ช่วย” จำเป็นต้องเกิดขึ้น ทำให้เด็กที่ได้รับการช่วยเช่นนี้ กลายเป็นไม่สามารถที่จะหลับไปโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่  แทนที่จะเรียนรู้เพื่อจะสามารถกล่อมตัวเองให้หลับ หรือเชื่อมโยงความอบอุ่นปลอดภัยกับสิ่งของที่อยู่ในเปลหรือในเตียง เช่น ผ้าห่มที่เด็กชอบหรือตุ๊กตาสัตว์นิ่มๆ

วิธีการแก้ไขปัญหา

พ่อแม่ต้องฝึกลูกทั้งตอนนอนกลางวัน เข้านอนกลางคืนหรือหลังตื่นขึ้นมากลางดึก ด้วยการสร้างความเชื่อมโยง ที่ไม่ต้องอาศัยการตอบสนองจากพ่อแม่ อาจจะเริ่มฝึกจากการเข้านอนตอนกลางคืนก่อน หรือจากการเข้านอนกลางวันก็ได้

ระหว่างการฝึกนอน ในช่วงแรกเด็กจะร้องไห้ พ่อแม่จะต้องระลึกไว้ว่า ไม่ได้กำลังทอดทิ้งลูกอยู่ ด้วยการให้กำลังใจ และสร้างความมั่นใจ ลูกจะสามารถหลับได้ด้วยตนเอง หากเลือกใช้จุกหลอกในการช่วยกล่อมลูก พึงระลึกไว้ว่า การเชื่อมโยงลูกกับวัตถุสิ่งของเพื่อช่วยให้นอนหลับ เป็นสิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำตั้งแต่ลูกอายุหลังหกเดือนแล้ว เนื่องจากเมื่อลูกหลับ จุกหลอกก็จะหลุดจากปาก พ่อแม่จะต้องคอยตื่นใส่จุกหลอกเข้าปากให้ใหม่ซ้ำๆ การใช้ผ้าห่ม หรือตุ๊กตาสัตว์น่าจะดีกว่า เพราะเมื่อเด็กตื่นขึ้นมา และเห็นตุ๊กตาอยู่ในเตียงตลอดเวลา ก็จะสามารถหลับต่อได้[1]

2. การกิน/ดื่ม มากผิดปกติตอนกลางคืน (Nighttime eating/ drinking disorder)

“ลูกร้องกินนมทั้งคืน พ่อแม่ไม่ได้นอนเลย”

นี่เป็นสัญญาณของการกินดื่มมากผิดปกติตอนกลางคืน ซึ่งเป็นปัญหาในเด็กทารกและเด็กเล็ก “กินมากผิดปกติ” หมายถึง เด็กอายุ 2-3 เดือน ไม่ควรตื่นมากินนมเกิน 2-3 มื้อ ในระหว่างนอน แต่หากเด็กอายุเกิน 6 เดือน ไม่ควรตื่นมากินนมเลยในช่วงกลางคืน

เด็กที่หิวกลางดึก จะตื่นบ่อย และไม่สามารถหลับลงไปได้เอง โดยไม่ได้ป้อนนม เด็กที่คุ้นเคยกับการได้กินนมคืนละหลายๆครั้ง จะยิ่งหิวง่าย ทั้งๆที่ไม่ได้ขาดแคลนอาหารอะไร งานของพ่อแม่ คือสอนให้เด็กหิวในเวลาที่เหมาะสม

เด็กอายุหกเดือนขึ้นไป มักไม่ต้องการนมหรือน้ำมากกว่า 8 ออนซ์ต่อคืน ระหว่างนอนหลับ วิธีง่ายๆ ที่ใช้ดูว่าลูกกินนมหรือน้ำมากเกินไปหรือไม่ คือดูจากผ้าอ้อม หากผ้าอ้อมลูกชุ่มจนต้องตื่นขึ้นกลางดึก นั่นหมายความว่าลูกกิน/ดื่มมากผิดปกติแล้วๆ

วิธีการแก้ไขปัญหา

พ่อแม่สามารถทำได้โดย ค่อยๆ ลดจำนวนมื้อ และเพิ่มระยะเวลาระหว่างมื้อให้นานขึ้น แบบค่อยเป็นค่อยไป จะได้ผลดีกว่างดแบบปุบปับ ถ้าทารกเคยกินนมทุกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ในคืนแรก พ่อแม่ควรรอให้ถึงสองชั่วโมงก่อน จึงจะป้อนนม และเพิ่มเวลาเป็นสองชั่วโมงครึ่ง ในคืนถัดไป เพิ่มเวลาระหว่างมื้อให้ห่างลงเรื่อยๆ จนกระทั่งทั้งคืนเด็กไม่ร้องขอนม วิธีนี้อาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ถ้าลูกดูดนมขวด คุณอาจลองค่อยๆ ลดปริมาณนมในแต่ละขวดลงคืนละ 1 ออนซ์ด้วย[2]

อ่านต่อ >> วิธีช่วยให้ลูกนอนหลับดีมีคุณภาพ หน้า 3 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

3. ไม่ยอมเข้านอน (Limit-setting problems)

เมื่อลูกอายุประมาณสองปี อาจเริ่มมีปัญหา เริ่มอิดออก ไม่ยอมเข้านอน ไม่ยอมให้คุณออกจากห้องนอน แปลว่าลูกน่าจะมีปัญหาเรื่อง limit setting ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นตอนกลางคืน หรือในช่วงนอนกลางวันก็ได้

พ่อแม่ จะต้องทำให้เด็กทราบ ว่าเวลาใด คือเวลานอน และให้เด็กเข้าใจว่า เมื่อถึงเวลานอน ก็ต้องเข้านอน ถึงแม้ว่าจะยังไม่ง่วง และยังไม่อยากนอน ก็ต้องเข้านอน เด็กๆ จะมีวิธีต่อรองที่แสนฉลาด เช่น ขอกอดแม่อีกทีก่อน ขอน้ำอีกซักแก้ว ขอนิทานอีกเรื่อง ขอพ่อแม่พาไปเข้าห้องน้ำอีกหน และมันยากที่จะทราบได้ว่า ลูกต้องการสิ่งที่กำลังร้องขอจริงๆ หรือแค่ต้องการนอนดึกอีกหน่อย พ่อแม่จึงจำเป็นต้องหนักแน่น  ไม่ใจอ่อน กับการขอของลูก

วิธีการแก้ไขปัญหา

พ่อแม่จะต้องหนักแน่นในเรื่องของการกำหนดเวลานอน ทั้งเวลานอนกลางวัน และตอนกลางคืน การใช้รั้วกั้น จะใช้เฉพาะกรณีที่ลูกชอบลุกออกจากเตียงนอนเท่านั้น แต่ถ้าลูกทำได้ดี การให้คำชม หรือรางวัล ก็สามารถช่วยทำให้ลูกเข้านอนดีขึ้น และสำคัญว่าวิธีนี้ผู้เลี้ยงดูเด็กคนอื่นๆ ก็ต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน จึงจะทำให้กิจวัตรการนอนของเด็ก มีความสม่ำเสมอ[3]

 

พ่อแม่จะช่วยให้ลูกนอนหลับได้ดี มีคุณภาพได้อย่างไรบ้าง?

ที่บ้านของผู้เขียนมีหลานๆ ที่ยังอยู่ในวัยเด็กเล็ก ที่ช่วงหนึ่งก็พบกับปัญหาที่ว่าเด็กๆ ไม่ยอมนอนกันในช่วงกลางคืน ที่สังเกตดูว่าจะหลับได้ดีในช่วงเวลากลางวัน แต่พอกลางคืนตานี่ใสแจ๋วกว่าจะหลับกันได้ก็ 5 ทุ่ม เที่ยงคืน จึงได้ปรึกษากับคุณหมอ และหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ซึ่งที่เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงปัญหาคือ ช่วงกลางคืนเด็กๆ ไม่ยอมนอน แต่จะมาเหนื่อยเพลียในช่วงกลางวันที่พอกินนมอิ่ม ก็หลับยาวไปจนถึงที่บางวันหลับถึงหนึ่งทุ่มเลยก็มี

จนในที่สุดก็ต้องมาจัดระเบียบการนอนของเด็กๆ ใหม่หมด เพราะหากปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ จะสามารถส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย และสติปัญญาได้ คือการนอนดึกไม่ได้เป็นผลต่อสุขภาพอยู่แล้วด้วย แน่อนว่าทุกคนในครอบครัวต้องให้ความร่วมมือ ปัญหานี้ถึงจะแก้ไขได้สำเร็จ

พี่สาว และตัวผู้เขียนเอง รวมถึงทุกคนในบ้าน เราเริ่มปรับการนอนของเด็กๆ ด้วยวิธีเหล่านี้ คือ

1. จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอนหลับ

ห้องนอนที่ดีสำหรับเด็กๆ คือต้องมีความเงียบ จะต้องไม่มีสิ่งกระตุ้นเร้าอารมณ์ให้เด็กๆ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เด็กๆ นอนได้เป็นเวลา ครอบครัวเราพาเด็กๆ เข้านอนตอนหัวค่ำ โดยที่ทุกคนในบ้านก็ต้องเข้านอนด้วย ปิดไฟ ปิดทีวีให้หมด และจะต้องไม่เล่นหยอกล้อกับเด็กๆ เพราะไม่เช่นนั้นจะติดลม และห่วงอยากเล่นจนไม่ยอมเข้านอนกันอีก

เมื่อเด็กๆ ถึงเตียงนอน อุณหภูมิภายในห้องควรเย็นสบาย ไม่ร้อน ไม่หนาวเกินไป ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศให้ปรับมาที่ 25 องศา แต่หากไม่ได้นอนในห้องแอร์ ให้เปิดพัดลมแบบส่ายไปมา เปิดหน้าต่างที่ปิดไว้เฉพาะมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุ่ง จากนั้นพ่อแม่ของเด็กๆ ก็นอนไปด้วยพร้อมกัน ปิดไฟให้พอมืดๆ ตัดเสียงรบกวนต่างๆ เช่น เสียงโทรศัพท์

2. ก่อนเข้านอนไม่กระตุ้นหรือเล่นกับลูก

อยากให้ลูกนอนหลับดีพ่อแม่ต้องมีวินัย คือเมื่อถึงเวลานอนก็ต้องพากันไปเข้านอน จะต้องไม่แวะเล่น แวะกินน้ำ กินอาหารใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าให้นมก่อนนอนแนะนำให้ที่เตียงนอนลูก เพื่อที่ลูกกินนมอิ่มแล้วจะได้เคลิ้มหลับไป

ก่อนนอนหากพ่อแม่เล่นกับลูก หรือเล่าเรื่องเร้าอารมณ์ลูก จะยิ่งทำให้สมองลูกตื่นตัวขึ้นมา ทีนี้พอกล่อมให้หลับยังไงก็ไม่ยอมนอนง่ายๆ เลยค่ะ แนะนำว่าถ้าเด็กๆ เริ่มง่วงนอนให้พาไปนอน แล้วระหว่างนั้นอาจหาหนังสือนิทานเด็กแบบที่มีเรื่องราวเบาๆ ไม่เอาแบบผจญภัยตื่นเต้นแบบนั้นไม่นะคะ  อ่านนิทานให้ลูกฟังจะช่วยให้เด็กๆ เคลิ้มหลับได้เร็วขึ้นอีกนิดค่ะ

 

เอาเป็นว่าหากครอบครัวไหนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนของลูก ลองนำเอาวิธีที่คุณหมอแนะนำด้านบน หรือจะใช้วิธีบ้านๆ ตามวิถีครอบครัวแบบของผู้เขียน ชอบแบบไหนให้เอาไปปรับใช้กันนะคะ  เพราะเราเชื่อว่าการนอนหลับเต็มอิ่มที่หลับสนิทยาวนานตลอดคืน จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการร่างกายเติบโตดี และมีพัฒนาการสมองที่สุขภาพดีทำให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

มีอะไรซ่อนอยู่ในการนอนของเด็ก?
วิจัยชี้! ลูกน้อยนอนตะแคงดีต่อสมอง
อาการนอนผวาในทารก สาเหตุ และวิธีแก้ไข

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
[1,2,3]คณะแพทย์ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. ลูกนอนไม่หลับครอบครัวเป็นทุกข์. www.sleepcenterchula.org