คุณแม่นักปั๊มท่านหนึ่งมาแชร์ประสบการณ์ตรง เกี่ยวกับการให้นมลูก เมื่อเธอได้พบปัญหา เต้านมอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน จนน้ำนมไม่สามารถไหลออกได้ ทั้งเต้านมยังแข็งเป็นไต มีอาการบวมแดงจนไม่สามารถใส่ชุดชั้นในได้ คุณแม่จึงไปรักษาด้วยความเจ็บปวดทรมาน ซึ่งอาการเต้านมอักเสบในครั้งนี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมที่มีมากลดน้อยลง คุณแม่จึงอยากบอกเล่าประสบการณ์เพื่อเตือนให้คุณแม่นักปั๊มทุกท่าน ให้มีวินัยในการปั๊มน้ำนม หมั่นเอาน้ำนมออกอย่างสม่ำเสมอ ตรงเวลา เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาอาการเต้านมอักเสบอย่างที่เธอเคยเจอมา
เรื่องเล่าเมื่อ เต้านมอักเสบ
ทำไมเต้านมถึงอักเสบ?
เต้านมอักเสบจะมีอาการ เต้านมร้อน บวมแดง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย บางครั้งมีไข้สูงกว่า 38 องศา อาจมีท่อน้ำนมอุดตัน แข็งเป็นไต และอาจรุนแรงจนกลายเป็นฝีอีกด้วย
เต้านมอักเสบ เกิดจากท่อน้ำนมถูกอุดกั้น หรือขาดการระบายจนท่อน้ำนมรับภาระไม่ไหว เกิดการบวม แข็ง การที่น้ำนมขังอยู่ในท่อ และเต้านมมากๆ เกิดจากลูกน้อย ดูดนมน้อยเกินไป หรือไม่บ่อยเพียงพอ ประกอบกับการสร้างน้ำนมที่มาก แต่ไม่ถูกขับออก เมื่อขังไปนานๆ เข้า ท่อน้ำนมก็เต็มแน่นจนมีอาการปวด บวม แดง ทำให้เนื้อเยื่อบวม อักเสบ และการผลิตน้ำนมหยุดชะงัก โดยสาเหตุสำคัญมี 5 ข้อ คือ
1.คุณแม่เผลอ หรือลืม หรือเว้น ในการให้นมลูกน้อยนานเกินไป และเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นซ้ำๆ จนเกิดอาการ
2.มีการกระตุ้นการสร้างน้ำนม มากกว่าการระบายออกไป ทำให้ขาดความสมดุล หรือปั๊มนมบ่อยเกินไป
3.มีการกดทับที่ท่อน้ำนม เพราะใส่เสื้อผ้า หรือชุดชั้นในคับแน่น และมีขอบแข็ง
4.มีรอยแผลเปิดที่หัวนม เพราะการให้นมที่ไม่ถูกวิธี ทำให้หัวนมแห้ง แตก และมีเชื้อโรคเข้าไปในเต้านม
5.เต้านมใหญ่หย่อนยาน ทำให้ระบายน้ำนมส่วนล่างออกมาได้ไม่ดี
รับมืออย่างไรเมื่อเต้านมอักเสบ?
ถ้าคุณแม่พบว่าเต้านมอักเสบ หรือมีอาการเจ็บที่บริเวณเต้านม แนะนำให้คุณแม่ให้นมลูกน้อยด้วยการดูดนมจากเต้าให้บ่อยขึ้น อย่างน้อยทุก 2-3 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้น เพื่อล้างท่อน้ำนมให้มากที่สุด ไม่ปล่อยให้อักเสบมากจนมีผิวหนังแดง และรู้สึกร้อน หรือเป็นไข้ เพราะคุณแม่จะอ่อนเพลีย และเป็นฝีในที่สุด
ถ้าคุณแม่เป็นฝี และเจ็บปวดจนทนไม่ไหว ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา รับประทานยาตามที่คุณหมอสั่ง อย่าปล่อยให้เต้านมอักเสบจนเป็นฝี และที่สำคัญคือการให้ลูกน้อยดูดนมอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดการหลั่งของน้ำนม และรักษาการสร้างน้ำนมไว้อย่างสม่ำเสมอ
อ่านต่อ “วิธีแก้ไข เมื่อเต้านมอักเสบ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” คลิกหน้า 2
1.ประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นจัด ประมาณ 3-5 นาที ก่อนให้นมลูก
2.ให้ลูกน้อยดูดนมจากเต้าที่มีปัญหาก่อน เพื่อระบายน้ำนมออกจากท่อน้ำนมออกไปให้มากขึ้น
3.จัดท่าให้นมลูกอย่างถูกวิธี โดยให้คางของลูกน้อย ชี้ไปบริเวณที่เป็นก้อน เพื่อให้ลิ้นของลูกรีดนมออกไป
4.ขณะที่ลูกน้อยดูดนม ให้นวดเบาๆ เหนือบริเวณที่อุดตัน ไล่ลงไปจนถึงหัวนม เพื่อดันก้อนที่อุดตันออกไป
5.จัดท่าให้ลูกน้อย ดูดนมในท่าต่างๆ ในแต่ละมื้อ เพื่อระบายน้ำนมจากส่วนต่างๆ ของเต้านมให้ดีขึ้น
6.ให้ลูกน้อยดูดนมบ่อยๆ ทุก 2-2 ชั่วโมงครึ่ง โดยเฉพาะตอนที่ลูกน้อยหิวจัด เพราะจะดูดได้แรง และนานอย่างน้อยข้างละ 15-20 นาที หลังจากที่ลูกดูดนมเสร็จแล้ว ให้บีบน้ำนมออกไป เพื่อระบายน้ำนมเพิ่ม จะช่วยให้หายเร็วขึ้น
7.ถ้าคุณแม่ปวดเต้านมมาก สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้
8.ตรวจสอบชุดชั้นใน ว่ารัดแน่นเกินไปหรือไม่ เลือกใส่ชุดชั้นในที่พอดีตัว ไม่มีขอบกดทับเต้านม
9.ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ให้คุณแม่รีบปรึกษาแพทย์
วิธีแก้ไข จาก พญ.ปิยาภรณ์
1.ใช้หวีซี่ใหญ่ กดรีดเต้านมลงมาที่หัวนม จะช่วยดันก้อนน้ำนมออกมาได้
2.ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า อาศัยแรงสั่นของแปรงช่วยให้น้ำนมออกมาได้ดีขึ้น
3.สำหรับคุณแม่ที่รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมมาก พบว่าก้อนที่หลุดออกมามีลักษณะเหมือนตะกอนสีขาว และมีก้อนแบบนี้หลายครั้ง มีลักษณะเป็นตะกอนไขมัน เมื่อลดไขมันไม่อิ่มตัว และรับประทานน้ำมันที่ใส่ในผักสลัดก็จะไม่เป็นอีก
วิธีแก้ไข จาก พญ.ศิริพัฒนา
การที่มีไขมันอุดตันท่อน้ำนมบ่อยๆ ต้องดูว่าเราอุ้มลูกให้ดูดนมถนัดหรือไม่ เหงือกอาจจะอยู่ตรงตำแหน่งเดิมๆ ส่วนอื่นจึงไม่ถูกรีดออกมาจากท่อน้ำนม ก็ทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้ ลองเปลี่ยนท่าอุ้มให้นมลูก เพื่อให้เหงือก และลิ้นรีดนมในตำแหน่งที่แตกต่างกันไป ป้องกันการอุดตันได้
อ่านต่อ “วิธีแก้ไขเต้านมอักเสบ แข็งเป็นไต และการป้องกัน” คลิกหน้า 3
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ แนะนำวิธีปฏิบัติเอาไว้ ดังนี้
1.อย่าหยุดให้นมข้างที่เป็น ต้องดูดข้างนั้นเป็นข้างแรก ดูดให้บ่อยขึ้น ปั๊มให้บ่อยขึ้น สามารถเก็บนมที่ปั๊มเอาไว้ใช้ได้ตามปกติ ให้คางลูกอยู่ตำแหน่งที่เป็นก้อน อาจต้องตีลังกาดูด ถ้าก้อนอยู่ข้างบน หรือให้คุณพ่อแปรงฟันให้สะอาด และช่วยดูดนม
2.ประคบอุ่นหรือร้อน อาจไม่ช่วยอะไรมาก แต่ก็สามารถลองทำดูได้ วิธีที่ได้ผลคือ deep heat ด้วยการทำอัลตราซาวน์
3.ถ้าเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมง ต้องใช้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นจะพัฒนากลายเป็นฝี ยาแก้อักเสบที่ใช้ได้ โดยไม่มีปัญหากับการให้นม เช่น dicloxacillin ถ้าคุณแม่แพ้ เพนนิซิลลิน ให้ใช้ clindamycin แทน
4.ถ้าคุณแม่มี white dot ที่หัวนม ถ้าลูกน้อยดูดนมขณะหิวจัดแล้วไม่ได้ผล ให้ใช้เข็มสะอาดอันใหญ่ๆ จิ้มให้ออกมา (ควรปรึกษาคุณหมอถึงวิธีที่ถูกต้องก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ)
5.ถ้าเป็นฝีแล้ว ห้ามให้คุณหมอกรีดแผลโดยเด็ดขาด ลองใช้เข็มเบอร์ใหญ่ พยายามดูดน้ำนมออกให้หมด อาจต้องทำซ้ำหลายๆ ครั้ง และเปลี่ยนยาแก้อักเสบเป็นชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าเส้นเลือดแทน และห้ามหยุดให้นมลูกน้อยโดยเด็ดขาด ถ้าคุณแม่ไม่มีแผลที่เต้า คุณแม่ก็จะไม่เจ็บเวลาดูด แต่ถ้ากรีดแผลแล้วจะทำให้น้ำนมรั่วออกมาทางแผลตลอดเวลา ทำให้แผลไม่ปิด ในที่สุดอาจต้องใช้ยาหยุดน้ำนม
การป้องกันไม่ให้เต้านมอักเสบ
1.ให้ลูกน้อยดูดนมบ่อยๆ ถูกวิธี และดูดนมอย่างรวดเร็ว
2.สวมชุดชั้นในที่พอดีตัว ไม่คับเกินไป หรือมีขอบแข็งเกินไป
3.ไม่ควรใช้ที่ปั๊มนมที่มีแรงดูดสูงบ่อยๆ เพราะจะทำให้เต้านมชา และแตกเป็นแผล
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
“ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ช่วยให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมอย่างเต็มที่”
“ให้นมลูกอย่างไรให้เวิร์ค”
“รพ.เด็กแนะนำเทคนิค “นวดเต้าด้วยมือ” ช่วยเหลือแม่ยุคใหม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่”
Save