AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิธี ทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกชาย ที่ถูกต้อง

วิธีทำความสะอาดจุ๊ดจู๋ลูกชาย

การ ทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกชาย ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป! ปัญหาที่แม่กังวล จะหมดไปหลังอ่านบทความนี้!

คุณแม่หลายท่านกังวลใจที่จะต้อง ทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกชาย กันอยู๋ใช่ไหมคะ เพราะกลัวว่าทำไปแล้วจะไม่สะอาด หรือทำไปแล้วลูกอาจจะเจ็บ แต่ไม่ต้องห่วงหรือกังวลใจอีกต่อไปแล้วละค่ะ เพราะวันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids จะมาอธิบายพร้อมกับแนะนำวิธีการดูแล ทำความสะอาดอวัยวะเพศของเด็กผู้ชาย ให้ได้ทราบกันค่ะ

ารดูแลสุขภาพอนามัยและ ทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกชาย ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกับการดูแลทำความสะอาดร่างกายทั่ว ๆ ไปค่ะ เป็นการป้องกันปัญหาจากสิ่งสกปรก ช่วยให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ไม่มีกลิ่นอับชื้น และป้องกันการติดเชื้อ หรืออักเสบ ผื่นคัน ของอวัยวะเพศของลูกน้อย แต่ก่อนที่เราจะไปดูวิธีการทำความสะอาดนั้น เราควรมาทำความรู้จักกับอวัยวะเพศของลูกกันก่อนค่ะ

วิธีทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกชาย

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ด้านทารกแรกเกิด ได้ให้ความรู้เอาไว้ว่า หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของลูกชาย ช่วยปกคลุมบริเวณอวัยวะเพศ ไม่ให้ถูกเสียดสี ปกติแล้วจะมีรูเปิดกว้างพอให้ปัสสาวะพุ่งออกมา และไม่กว้างมากเกินไป ช่วยป้องกันเศษอุจจาระเล็ดลอดเข้าไปได้ หนังหุ้มปลายจะถูกรูดได้ง่ายขึ้น เมื่อลูกน้อยอายุประมาณ 3 ขวบขึ้นไป บางคนอาจรูดได้เมื่อเป็นวัยรุ่น แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลอะไรค่ะ ในบางครั้งคุณแม่อาจจะเห็นว่ามีไขสีขาวติดอยู่ภายใต้หนังหุ้มปลาย อันนี้เราเรียกกันว่า “ขี้เปียก” ทำหน้าที่ช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างหนังหุ้มปลาย และอวัยวะเพศของทารกเพศชาย อาจมีอาการแข็งตั้งของอวัยวะเพศได้เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเวลาปวดปัสสาวะ หรืออาจไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะคะ

อวัยวะเพศของเด็กชายนั้นสามารถแบ่งเป็นสองส่วนด้วยกันดังนี้

  1. องคชาต มีลักษณะเป็นแท่ง หุ้มด้วยผิวหนัง และ
  2. ลูกอัณฑะ เป็นถุงกลม ๆ 2 ถุงอยู่ใต้องคชาต ในช่วงแรกเกิดอัณฑะของเด็กชายบางคนอาจมีขนาดไม่เท่ากัน แต่พอลูกน้อยโตขึ้น ขนาดจะสมดุลเอง

วิธีการ ทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกชาย

การดูแลทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าลูกน้อยไม่ได้รับการขลิบ คุณพ่อคุณแม่ ควรล้างทำความสะอาดทุกครั้งที่อาบน้ำ โดยการรูดหนังหุ้มปลายให้ตึงเล็กน้อย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีหยดปัสสาวะ หรือเศษอุจจาระตกค้างอยู่ภายใน ห้ามออกแรงมาก เพราะลูกน้อยจะเจ็บ และทำให้เลือดออก หรือติดเชื้อตามมาได้ค่ะ

การทำความสะอาดในชีวิตประจำวัน

1.ทุกครั้งที่อาบน้ำให้ ทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกชาย ด้วยการชำระคราบสิ่งสกปรกที่สะสมใต้หนังหุ้มปลาย

2.หากรู้สึกว่าสกปรกมาก ให้ใช้สบู่อ่อน ๆ สำหรับเด็กทารก ผสมน้ำทำความสะอาด แล้วล้างออกจนหมด

3.ทุกครั้งที่ลูกน้อยถ่ายปัสสาวะ ต้องให้ลูกน้อยปัสสาวะให้หมด และมั่นใจว่าไม่เหลือหยดแล้วนะคะ มิเช่นนั้นอาจเกิดการหมักหมมและจะสะสมเชื้อแบคทีเรียเอาได้

4.หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ปัสสาวะ หรืออุจจาระ ระคายเคืองผิว ล้างทำความสะอาด ซับให้แห้ง

แล้วถ้าลูกถ่ายอุจจาระละ จะมีวิธีการทำความสะอาดแบบไหน ไม่ต้องกังวลค่ะ ไปหาคำตอบนั้นพร้อม ๆ กันได้ที่หน้าถัดไปเลยดีกว่านะคะ

หลังจากที่ลูกน้อยของคุณแม่ถ่ายอุจจาระออกมาแล้วนั้น ด้วยความที่อวัยวะเพศของลูกชายช่วงแรกเกิดมีขนาดแตกต่างกันและมีความซับซ้อน คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักทำความสะอาดเช็ดให้ทั่วปลายท่อปัสสาวะหลังขับถ่ายกันด้วยนะคะ อุปกรณ์ที่ต้องใช้คือ สำลี ค่ะ (ควรมีติดบ้านเอาไว้อย่าให้ขาดเลยนะคะ)

วิธี ทำความสะอาดอวัยวะเพศลูกชาย หลังขับถ่าย

  1. ก่อนอื่นเลยให้คุณแม่วางตัวน้อยลงบนเบาะนอน เริ่มต้นด้วยการเช็ดบริเวณใต้สะดือให้ทั่ว
  2. ใช้มือข้างไม่ถนัดค่อย ๆ รูดหนังหุ้มปลายลงอย่างเบามือ จนเห็นรูเล็ก ๆ ที่ปลายองคชาต (ปลายท่อปัสสาวะ) จึงใช้อีกมือจับลำสีชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดให้ทั่ว
  3. หลังจากนั้นให้เปลี่ยนสำลีแผ่นใหม่  แล้วเช็ดบริเวณลูกอัณฑะให้สะอาดเกลี้ยงเกลา
  4. เปลี่ยนสำลีแผ่นใหม่อีกครั้งนึงค่ะ เสร็จแล้วให้เช็ดบริเวณขาหนีบและข้อพับให้ทั่ว ควรทำอย่างนุ่มนวล แต่รวดเร็วนะคะ
  5. เปลี่ยนสำลีแผ่นใหม่ เช็ดบริเวณร่องก้น โดยเช็ดจากด้านบนลงล่าง ควรเช็ดให้แห้งสะอาด อย่าให้มีความชื้นเหลืออยู่ เพราะจะเกิดการอับชื้นสกปรกและหมักหมมได้

ไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ บอกแล้วว่าง่ายนิดเดียวค่ะ คราวนี้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังรู้สึกกังวลอยู่ก็จะสบายใจกันได้แล้วนะคะ และนอกจากนี้ทีมงานได้รวบรวมเอาคำถามที่มักจะได้รับจากคุณแม่ทางบ้านเอาไว้ด้วยแล้วนะคะ จะมีอะไรกันบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ

คำถามที่พบบ่อย

คำถาม: หนังหุ้มปลายต้องเช็ดบ่อยแค่ไหน

ตอบ: การรูดหนังหุ้มปลายเพื่อเช็ดองคชาตด้านในควรทำทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนผ้าอ้อม (หรือเมื่อรู้สึกว่าผ้าอ้อมแฉะมาก) และหลังอาบน้ำ เพื่อป้องกันการหมักหมมและอับชื้น

คำถาม: ต้องใช้น้ำต้มสุกหรือน้ำอุ่นเช็ดหรือเปล่า

ตอบ: สามารถใช้น้ำประปาอุณหภูมิปกติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำต้มหรือน้ำอุ่น

คำถาม: เปลี่ยนจากเช็ดเป็นล้างน้ำได้เมื่อไร

ตอบ: ควรใช้วิธีเช็ดไปจนลูกอายุประมาณ 6-7 เดือน หลังจากนั้นสามารถล้างและเช็ดให้แห้งได้ตามปกติ

คำถาม: เช็ดจากหน้าไปหลังหรือหลังไปหน้าดี

ตอบ: เช็ดจากหน้าไปหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และอย่าลืมเช็ดบริเวณร่องก้นด้วย เพราะปัสสาวะและอุจจาระอาจติดค้าง และทำให้ติดเชื้อโรคได้

Tips

ลำสีที่ใช้แนะนำให้เป็นแบบม้วนใหญ่แล้วมาตัดเป็นแผ่นพร้อมใช้เอง เพราะมีพื้นที่ทำความสะอาดมากกว่าและราคาถูกกว่า และไม่ทำให้ระคายเคืองผิวลูกเหมือนกับลำสีก้อนที่มีความหนากว่า ช่วงแรกเกิด หนังหุ้มปลายบริเวณอวัยวะเพศชายของทารกบางคนยังไม่เปิดและจะค่อย ๆ เปิดได้เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นเวลาทำความสะอาด คุณแม่ไม่ควรฝืนรูดแรง ๆ หรือรูดจนสุด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ค่ะ ควรรูดเท่าที่ทำได้ รูดได้แค่ไหนก็ทำความสะอาดแค่นั้นพอ

เครดิต: พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ และ Sanook

จากเรื่อง “คุณแม่มือใหม่ รับมือได้ทุกสถานการณ์”
โดย : กองบรรณาธิการ Amarin Baby and Kids
ที่ปรึกษา : พญ. สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ภาพ : ดารณี ทอพิมาย

อ่านต่อเนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids