AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกตัวเหลือง อันตรายใกล้ตัว!! ที่คุณแม่อาจไม่รู้

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

จากประสบการณ์ของคุณแม่ในเฟซบุ๊ก ที่พบว่าลูก “ตัวเหลือง” คุณแม่บางท่านบอกว่าห้ามลูกดื่มน้ำ ให้ปลุกลูกขึ้นมาดื่มนมแม่ทุก 2 ชั่วโมง แต่คุณแม่บางท่านก็บอกว่าต้องดื่มน้ำ เพราะลูกดื่มน้ำแล้วตัวไม่เหลือง คุณแม่บางท่านก็บอกว่าในน้ำนมแม่มีน้ำเพียงพออยู่แล้ว ให้เน้นดื่มนมแม่ก็พอ

อาการตัวเหลืองคืออะไร?

อาการตัวเหลืองในเด็กเกิดจากการสะสมของสารบิลิรูบินในกระแสเลือด เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้ว โดยทั่วไปสารบิลิรูบินที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง เพราะตับจะเผาผลาญและกำจัดออกทางลำไส้ แต่ทารกแรกคลอดมักจะตัวเหลืองในช่วงสองสามวันแรก เนื่องจากเอนไซม์ในตับซึ่งทำหน้าที่เผาผลาญบิลิรูบินยังไม่สมบูรณ์พอ นอกจากนี้ทารกแรกคลอดมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นเม็ดเลือดแดงที่แตกตัวก็จะมีจำนวนมากกว่าด้วยเช่นกัน เป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในทารกแรกเกิด โดยพบได้ถึง 25-50% ของทารกแรกเกิดทั้งหมดเลยทีเดียว

ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด มีหลายชนิด จากหลายสาเหตุต่างกัน

1.ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด แบบปกติ อาการแสดงสามารถสังเกตได้ตั้งแต่วันที่ 2 – 3 และเห็นชัดเมื่อวันที่ 3 – 4 ซึ่งจะถือเป็นภาวะตัวเหลืองแบบปกติ ถ้าระดับบิลิรูบินไม่สูงจนเกินไป (ไม่เกิน 12 mg/dl ในทารกครบกำหนด และ ไม่เกิน 15 mg/dl ในทารกคลอดก่อนกำหนด) มีสาเหตุหลัก ดังนี้

เกิดจากปริมาณบิลิรูบินมากขึ้นจากการแตกของเม็ดเลือดแดง เพราะ ทารกแรกเกิดมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ และ เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่า ทำให้มีเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลายเยอะกว่า เกิดจากมีการดูดซึมของบิลิรูบิน จากลำไส้มีปริมาณมาก จากการที่ได้รับน้ำนมในปริมาณที่น้อย และลำไส้ยังทำงานได้ไม่ดี เกิดจากการกำจัดบิลิรูบินของตับยังไม่ดี

2.ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ที่เกิดจากจากนมแม่ พบในทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียง100% โดยจะพบว่ามีสารบิลิรูบินสูงขึ้นแต่จะค่อยๆลดระดับลงเองเมื่อทารกอายุได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจากนมแม่นี้ไม่น่ากังวล เพราะเมื่อทารกมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เม็ดเลือดแดงก็ไม่แตกเพิ่มขึ้น และตับก็ยังทำงานเป็นปกติ โดย ภาวะตัวเหลือง การรักษาให้งดนมแม่ ระดับบิลิรูบินจะลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง และถ้ากลับมาให้นมแม่ซ้ำ บิลิรูบินสูงขึ้นในบางรายแต่ต่ำกว่ารอบแรกและไม่เป้นอันตรายต่อทารกอันตราย

3.ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ที่เกิดจากการได้รับนมน้อย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงอายุ 2 – 4 วัน เกิดจากทารกดูดนมไม่เก่งประกอบกับน้ำนมแม่ยังมีไม่มากทำให้ทารกขาดน้ำและพลังงาน ทำให้มีการดูดซึมบิลิรูบินทางลำไส้มากขึ้น การรักษาภาวะนี้รักษาโดยการให้นมเสริมบ่อยขึ้นโดยอาจให้นมทุก 2 – 3 ชั่วโมง จะทำให้บิลิรูบินลดลงได้

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

4.ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ที่จากการแตกของเม็ดเลือดแดง ภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจากหมู่เลือดของแม่และของทารกไม่เข้ากัน มีความผิดปกติของรูปร่างเม็ดเลือดแดงภาวะพร่องเอนไซม์ Glucose-6-phosphate dehydrogenase (G-6-PD Deficiency) ซึ่งทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย โรคธาลัสซีเมีย ภาวะเลือดข้นเกินไปภาวะเลือดออกบริเวณหนังศีรษ ภาวะนี้รักษาตามสาเหตุ

5.ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ที่จากการดูดซึมบิลิรูบินทางลำไส้เพิ่มขึ้น เกิดในทารกดูดนมได้น้อย ลำไส้ของทารกมีการทำงานที่ลดลง ทารกกลืนเลือดปริมาณมากเข้าไป ภาวะลำไส้อุดตันซึ่งทำให้บิลิรูบินตกค้างและถูกดูดซึมมากขึ้น

6.ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ที่จากการกำจัดบิลิรูบินได้น้อยกว่าปกติ มีหลายสาเหตุเช่นกัน เช่น เกิดจาก ภาวะพร่องเอนไซม์ UDP-Glucuronyl Transferase, ภาวะขาดธัยรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด ท่อน้ำดีอุดตัน การได้รับยาบางชนิด

7.ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด จากการสร้างบิลิรูบินมากกว่าปกติ ร่วมกับการขับถ่ายบิลิรูบินน้อยกว่าปกติ เป็นภาวะที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์มารดา เช่น การติดเชื้อซิฟิลิส หรือ หัดเยอรมัน ภาวะขาดออกซิเจน, ทารกที่แม่เป็นเบาหวาน ภาวะหายใจลำบาก

อ่านต่อ >> สาเหตุและวิธีรักษาอาการตัวเหลืองของลูก คลิกหน้า 2

ลูกตัวเหลืองหลังออกจากโรงพยาบาล เพราะอะไร?

  1. กรุ๊ปเลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน หรือ เป็นพาหะของธาลัสซีเมีย หรือ ขาดเอนไซม์ หรือ ตับทำงานช้ากว่าคนอื่น เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีปัญหาติดเชื้อ
  2. ลูกตัวเหลืองเพราะดื่มนมแม่ไม่เพียงพอ หรือดื่มนมแม่ผิดวิธี ถ้าทารกได้ดื่มนมแม่น้อย ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการขับถ่ายออกมาน้อยไปด้วย ซึ่งทำให้มีการสะสมของสารบิลิรูบินสูงในกระแสเลือด

ลูกตัวเหลืองทำให้เกิดผลเสียอะไร?

ถ้าระดับบิลิรูบินสูงมาก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ทำให้เกิดอาการชัก และทำลายเนื้อสมองอย่างถาวร นอกจากนี้ยังพบว่า 25% มีโอกาสที่จะเกิดภาวะ I.Q. ต่ำ หรือ ความฉลาดลดลงได้ รวมถึงอาจเกิดภาวะการได้ยินผิดปกติได้อีกด้วย

จะรักษาหรือแก้ไขอาการตัวเหลืองได้อย่างไร?

การขับสารเหลืองออกจากร่างกายทางหนึ่ง คือ การขับออกทางอุจจาระ หากใครตัวเหลืองแล้วได้กินนมแม่ จะทำให้อึบ่อย ตัวเหลืองจะลดลงได้เร็ว หากกินนมผง จะท้องผูก สารเหลืองจะขับออกได้ช้ากว่า หากกินน้ำ จะทำให้อิ่มน้ำ ไม่อยากกินนมแม่ ทำให้มีฉี่ออก แต่ไม่มีอึ จะไม่ช่วยลดค่าเหลืองค่ะ

วิธีการรักษาภาวะตัวเหลืองภายในสัปดาห์แรก เด็กครบกำหนด หากเหลืองเกิน 13, 17, 20 ภายใน วันแรก วันที่สอง และวันที่สามตามลำดับ จะรักษาโดยการถ่ายเลือดค่ะ เพราะเหลืองมากจะทำให้สารเหลืองซึมเข้าสู่สมอง มีผลทำให้สมองทำงานผิดปกติ เน้นอีกครั้งค่ะ กรณีเหล่านี้ เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มากผิดปกติอย่างมาก เช่น กรุ๊ปเลือดหมู่เล็กไม่เข้ากัน (หมู่ Rh) หากระดับอยูที่ 8, 12, 15 ในวันที่ 1, 2 และ 3 หลังคลอด รักษาโดยการส่องไฟ หากต่ำกว่านั้น กลับบ้านไปตากแดดที่บ้านได้ และเน้นย้ำให้กินนมแม่ให้มากที่สุด ให้อึบ่อยที่สุด การเหลืองจะลดเร็วที่สุดค่ะ

การรักษาภาวะตัวเหลืองด้วยวิธีส่องไฟ

เนื่องจากตับของทารกเกิดก่อนกำหนดยังทำงานไม่เต็มที่ จึงเกิดปัญหาตัวเหลืองได้บ่อย ซึ่งส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการส่องไฟ

ในกรณีที่ลูกน้อยต้องเข้าตู้อบ ให้ออกซิเจนเพื่อช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น และส่องไฟเพื่อรักษาตัวเหลืองนั้น ประโยชน์ของออกซิเจนคือช่วยให้ลูกรอดชีวิต แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายจากพิษของออกซิเจนต่อหลอดลม เนื้อปอด และจอประสาทตา ดังนั้นจะต้องมีแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

ข้อห้ามในการส่องไฟมีข้อเดียวคือ กรณีเหลืองจากโรคตับอักเสบ ท่อน้ำดีอุดตัน เพราะจะไม่ลดสารเหลืองที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าว แต่ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นสีเหมือนทองแดง (Bronze baby syndrome)


เครดิต: breastfeedingthai.com, littlebebe.net, คุณหมอสุธีรา, มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, สสส, haamor.com, โรงพยาบาลไทยนครินทร์