AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หมอเตือน! อย่าใส่ Face shield ให้ทารกแรกเกิด เสี่ยงกระทบต่อระบบประสาท

หมอเตือน! อย่าใส่ Face shield ให้ทารกแรกเกิด เสี่ยงต่อการหายใจ กระทบถึงระบบประสาท

หมอเตือน! อย่าใส่ Face shield ให้ทารกแรกเกิด เสี่ยงต่อการหายใจ กระทบถึงระบบประสาท .. Face Shield คือ อะไร ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโควิด19 ได้จริงหรือ?

หมอเตือน! อย่าใส่ Face shield ให้ทารกแรกเกิด

เฟซ ชิลด์ หรือ (Face Shield) คือ หน้ากากชนิดปกป้องทั้งใบหน้า เพื่อป้องกันละอองฝอยและสารคัดหลั่ง ทั้งน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และเลือด ที่จะกระเด็นเข้า เข้าสู่ตา จมูก ปาก ทำมาจากแผ่นใส ฟองน้ำ กระดาษกาว ถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ทีมแพทย์และพยาบาลใช้สำหรับใส่ป้องกันในการทำหน้าที่ต่อสู้กับโควิด-19 ตอนนี้

ซึ่งหลังจากที่ หน้ากากชนิดปกป้องทั้งใบหน้า ถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาล บางโรงพยาบาลก็ได้มีการประยุกต์เพื่อสวมใส่ให้กับเด็กแรกเกิดทั้งขณะอยู่ที่ รพ. และ กลับบ้าน เพื่อป้องกันละอองฝอยและสารคัดหลั่งต่างของเชื้อไวรัสโควิด-19

แต่ล่าสุดทาง ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย ได้ออกมาประกาศเตือน โดยระบุว่า จากการหารือในคณะกรรมการของชมรมมีข้อแนะนำ อ้างอิงจากมาตรฐานสากลทั้งองค์การอนามัยโลก และ Centers for Drisease Control and Prevention ช่องทางการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ไปสู่ทารกแรกเกิดที่สำคัญที่สุด คือการกระจายจากผู้เลี้ยงดูทารถ ซึ่งได้แก่ บิดามารดา ญาติ หรือพี่เลี้ยง ผ่านทางละอองฝอยจากการจาม หรือไอ หรือทางสัมผัสจากมือผู้เลี้ยง หรืออุปกรณ์ สิ่งของที่สัมผัสทารก ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดไม่ให้แพร่เชื้อสู่ทารกคือ

Must read >> 8 วิธีรับมือไวรัสโคโรน่า COVID-19 ฉบับพ่อแม่ที่มีลูกเล็กโดยเฉพาะ!

ทั้งนี้ทางชมรมฯ ไม่แนะนำให้ใส่ Face Shields รวมไปถึงหน้ากากอนามัย ให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดกับทารกในการใส่ Face Shield หรือ Face mask คือ

  1. เนื่องจากทารกหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้เมื่อขาดอากาศ หรือออกซิเจน
  2. อีกทั้งวัสดุต่างๆ ที่นำมาผลิตเป็นหน้ากาก หากมีคุณสมบัติต่อต้านการไหลของอากาศเข้าออกสูงเกินไป ก็อาจทำให้ทารกหายใจไม่เพียงพอ และมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารก
  3. รวมถึงวัสดุพลาสติกบังหน้าอาจมีความคม บาดใบหน้า ดวงตาทารกได้

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : Facebook เพจ ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย

 

โดยเรื่องนี้คุณหมออร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ยังได้ให้คำแนะนำเสริมด้วยว่า .. เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพราะมีความเสี่ยงที่จะหายใจไม่ออก เนื่องจากขนาดของทางเดินหายใจเด็กมีขนาดเล็ก ซึ่งในภาวะปกติที่ไม่สวมหน้ากาก ก็หายใจลำบากมากกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว พอใส่หน้ากาก ยิ่งหายใจลำบากขึ้นไปอีก จึงเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ แถมเด็กเองก็ยังบอกไม่ได้ว่าหายใจไม่ออก และไม่สามารถถอดหน้ากากได้ด้วยตนเอง … จึงไม่แนะนำให้เด็กทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สวมหน้ากาก ยกเว้นว่าอยู่ในที่คนแออัด เลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ใส่ได้

#ถ้าไม่ให้ใส่หน้ากากแล้วจะป้องกันยังไง!
📌พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้าเด็กจะติด ก็คือ ติดมาจากคนเลี้ยงดู ผ่านทางการไอ จาม หรือมือที่มีเชื้อโควิดมาสัมผัสตัวเด็ก เพราะฉะนั้น คนที่ต้องใส่หน้ากาก คือ ผู้ใหญ่ !! ไม่ใช่เด็ก 
📌ผู้เลี้ยงควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนอุ้มลูก
📌งดพาเด็กออกนอกบ้าน ยกเว้นการพาไปฉีดวัคซีน หรือไปพบแพทย์เมื่อไม่สบาย

Must read >> ข้อควรปฏิบัติ! เมื่อต้อง พาลูกไปโรงพยาบาล ช่วงโควิด-19 ระบาด

#ถ้าต้องพาไปฉีดวัคซีนหรือพาไปรพ. จะป้องกันยังไง?
✔️ให้ลูกอยู่ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร 
✔️ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างน้อย 20 วินาทีทุกครั้งก่อนอุ้มลูก 
เทคนิคเพิ่มเติม 
✔️เอาลูกใส่รถเข็น แล้วคลุมด้วยผ้าคลุมด้านหน้ารถเข็น หรือพลาสติกกันฝน ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะวิ่งไปจับโน่น จับนี่ หรือถ้าใช้เป้อุ้ม แนะนำให้หันหน้าเข้า

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยของเด็ก รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารเวชศาสตร์ โรคติดเชื้อ จาก มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ได้ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้

การใส่หน้ากากอนามัยของเด็กเล็ก 😷🏥คำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (US CDC) แนะนำใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เมื่ออยู่ในที่ชุมชน โดยวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อปกป้องการติดเชื้อให้กับผู้สวมใส่ แต่เป็นการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสจากคนที่ใส่ในกรณีที่ผู้ใส่เริ่มมีการเจ็บป่วยชนิดที่ยังไม่มีอาการ ไม่ให้แพร่กระจายไปในชุมชน

Must read >> หมอเผย 4 เหตุผลสำคัญ ทำไมต้อง เลื่อนเปิดเทอม เป็น 1 ก.ค.63

ส่วนเด็กก่อนวัยเรียนมักจะไม่สามารถที่จะใส่หน้ากากได้ตลอดเวลา อาจจะมีการใส่ๆถอดๆหรือขยับหน้ากากบ่อยๆ จึงเพิ่มโอกาสที่จะใช้มือมาสัมผัสใบหน้ามากขึ้น ถ้าไม่ได้ล้างมือบ่อยๆก็อาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ปัจจุบันก็ยังไม่มีหน้ากาก n95 ที่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับเด็กเล็ก

ดังนั้นเด็กที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจหรือป่วยเฉียบพลันด้วยภาวะหายใจลำบากอยู่เดิม รวมถึงเด็กที่สูญเสียการควบคุมของกล้ามเนื้อเช่นเด็กที่เป็นโรคสมอง หรือเด็กที่ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ตามปกติไม่สามารถที่จะถอดหน้ากากได้เอง ไม่ควรจะใส่หน้ากาก

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids