AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกถ่ายเหลวมีมูก ผิดปกติหรือไม่?

เบบี๋กินนมแม่อย่างเดียว ลูกถ่ายเหลวมีมูก ผิดปกติหรือไม่

แม่สงสัย? Q: ลูกวัย 2 เดือนครึ่ง กินนมแม่อย่างเดียว อยู่ดีๆ ลูกถ่ายเหลวมีมูก บางครั้งก็เป็นฟอง และมีกลิ่นเหม็น แต่ไม่มีเลือดปนและไม่มีไข้ คุณหมอบอกว่าไม่ได้ติดเชื้อ เลยให้ยาปรับสภาพลำไส้มา ซึ่งกินแล้วก็ยัง ถ่ายเป็นมูก อยู่ แต่กลิ่นไม่ค่อยเหม็น เขาถ่ายวันละ 5 ครั้ง เป็นมูกทุกครั้ง และเป็นมา 1 สัปดาห์แล้ว อยากทราบว่านี่เป็นอาการปกติของเด็กวัยนี้หรือเปล่า?

หมอเด็กตอบให้! ลูกถ่ายเหลวมีมูก
เป็นเพราะอะไร ผิดปกติหรือไม่? 

สำหรับอาการ ลูกถ่ายเหลวมีมูก แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ได้ให้คำตอบพร้อมข้อแนะนำในการดูแลลูกน้อยไว้ว่า…

การถ่ายเป็นมูก คือ อุจจาระ ของลูกน้อย มีลักษณะเหนียวใสคล้ายไข่ขาวดิบปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งในภาวะปกติ มูก คือ เมือกที่สร้างจากลำไส้เพื่อหล่อลื่นหรือเคลือบอุจจาระให้นิ่ม ช่วยให้ขับถ่ายไม่ยาก แต่ต้องมีไม่มาก ไม่เหม็น ไม่มีเลือดปน และเมื่อตรวจอุจจาระก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ

ลูกถ่ายเหลว มีมูก มีเลือด มีฟอง มีกลิ่น

ส่วนในกรณีผิดปกติ ลูกถ่ายเหลวมีมูก ที่เห็นเกิดจากการอักเสบในลำไส้ ทำให้มีเม็ดเลือดขาวปนออกมากับอุจจาระ มักพบว่ามีเลือดร่วมด้วยและมีกลิ่นเหม็น อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว หรือ แพ้อาหาร

ซึ่งในกรณีที่เด็กกินนมแม่อย่างเดียว อาจเกิดจากการแพ้สารที่ผ่านมาทางนมแม่ แต่ที่พบบ่อย คือ แพ้โปรตีนในนมวัว รองลงมา คือ โปรตีนในนมถั่ว แป้งสาลี ไข่ และอาหารทะเล การตรวจอุจจาระจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม … จากอาการ ลูกถ่ายเหลวมีมูก ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจเรื่อง ระบบขับถ่ายของลูก ให้มากขึ้น เพราะหากระบบขับถ่ายของลูกมีปัญหาย่อมส่งผลให้ลูกไม่สบายตัว และอาจร้องให้ งอแง จนอาจเจ็บป่วยรุนแรงได้ในที่สุด ซึ่งอาการหลักที่เป็นปัญหาในระบบขับถ่ายของลูก คือ อาการท้องผูก และอาการท้องเสีย ทั้ง 2 อาการนี้จึงเป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ และพร้อมรับมือ

คลิกหน้า 2 เพื่ออ่าน “อาการระบบขับถ่ายของลูกที่คุณแม่กังวล”

อย่างไรก็ดี สำหรับอาการที่ ลูกถ่ายเหลวมีมูก เพราะกินนมแม่ หากคุณแม่กังวลและนำอุจจาระของลูกน้อยไปให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยอาการ แล้วไม่มีปัญหาใดๆ ก็สามารถโล่งใจได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรหมั่นคอยสังเกตดู อุจจาระ ของลูกน้อยอยู่เรื่อยๆ เพราะหากมีปัญหา จะได้รักษาแก้ไขทัน ซึ่งปัญหาเรื่องระบบขับ่ายของลูกน้อย ส่วนใหญ่มีด้วยกัน 2 อาการ คือ

1.อาการท้องผูก

เป็นปัญหาที่พบบ่อย ราว 5-10% ของเด็ก แม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่จะไม่ใช่โรคทางกายที่ร้ายแรง แต่ก็สร้างความไม่สบายตัวให้กับลูกน้อยเป็นอย่างมาก

ลักษณะที่บ่งบอกว่าท้องผูก

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกท้องผูก คือ การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์หรืออาจถ่ายทุกวันแต่ต้องเบ่งมาก และอุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ คล้ายลูกกระสุนปืนอัดลม หรือก้อนใหญ่ๆ ที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดมากเวลาเบ่งถ่าย หรือบางครั้งอาจมีเลือดติดออกมาด้วยเพราะรูทวารฉีกขาด ส่วนเด็กทารกปกติช่วงอายุ 1-3 เดือนที่กินนมแม่บางคนอาจถ่ายอุจจาระห่างทุก 3-7 วัน โดยที่ยังกินนมดีร่าเริงน้ำหนักขึ้นตามปกติและไม่อาเจียน แม้ว่าจะถ่ายน้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่เด็กกลุ่มนี้ไม่นับว่ามีอาการท้องผูกค่ะ

สาเหตุของอาการท้องผูก

  1. การเปลี่ยนจากดื่มนมแม่หรือนมผงดัดแปลง มาเป็นนมวัวธรรมดาอาจเกิดท้องผูกได้ เพราะนมวัวมีอัตราส่วนของโปรตีนต่อคาร์โบไฮเดรตสูงกว่านมแม่ค่ะ
  2. ลูกดื่มน้ำน้อย หรือเสียน้ำมากจากอากาศร้อน หรือเป็นไข้ ก็จะทำให้อุจจาระแข็ง
  3. ห่วงเล่นและกลั้นอุจจาระเป็นนิสัย ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในช่วงวัยอนุบาลค่ะ
  4. ถูกฝึกให้ขับถ่ายเร็วเกินไป ทั้งที่ยังไม่พร้อมที่จะขับถ่ายเอง
  5. ไม่ชอบกินผักและผลไม้

การป้องกันและการดูแลเบื้องต้น

  1. ป้องกันโดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิด – 6 เดือนเป็นอย่างน้อย จากนั้นอาจเริ่มให้เพิ่ม ผัก ผลไม้เสริม และเมื่อลูกมีอายุ 1 ปี ขึ้นไปควรดูแลให้ลูกเริ่มทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่ม ผัก ผลไม้มากขึ้น ให้ดื่ม นมจากแก้ววันละ 16 ออนซ์ก็เพียงพอแล้ว
  2. อย่าบังคับให้ลูกนั่งกระโถนก่อนเวลาอันควร ควรเริ่มหัดเมื่ออายุ18 เดือนขึ้นไป โดยฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ถ้าลูกไม่ถ่ายอย่าให้นั่งนานเกินไปจะเกิดการต่อต้านการนั่งกระโถนและกลั้นอุจจาระซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาท้องผูกตามมา
  3. ให้ลูกออกกำลังกายเพื่อให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
  4. การใช้ยาระบาย ควรปรึกษาคุณหมอก่อนว่าจะใช้ยาชนิดใดดี และควรใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัยต่อลูก อย่าซื้อยาสวนหรือยาระบายมาใช้เอง เพราะการรักษาไม่ถูกต้องจะทำให้อาการยิ่งแย่ลงนะคะ

2.ท้องเสีย (ท้องร่วง หรืออุจจาระร่วง หรือลำไส้อักเสบ)

อีกหนึ่งอาการของระบบขับถ่ายในลูกน้อยคือ อาการท้องเสีย และทำให้ ลูกถ่ายเหลวมีมูก ซึ่งลำไส้ของเด็กอายุ 1-2 ปีแรก จะไวต่อการติดเชื้อมาก จึงเกิดอาการท้องเสียได้ง่ายเลยค่ะ

⇒ Must read : โรคอุจจาระร่วงในเด็ก ประสบการณ์ตรงที่แม่อยากแชร์

ลักษณะอาการท้องเสีย

อาการท้องเสีย คือ ถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติมาก โดยอาจถ่ายเป็นน้ำถ่ายมีมูก หรือมูกปนเลือด อาจจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง อาเจียน ปวดท้อง ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยกระสับกระส่าย ตาโบ๋ ปากแห้ง และหายใจเร็ว โดยหากลูกน้อยถ้ามีอาการแบบนี้ ต้องรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุดนะคะ เพราะแสดงว่าลูกน้อยมีอาการขาดน้ำมากแล้ว และเป็นอันตรายอย่างมากค่ะ

สาเหตุของอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อไวรัสต่างๆ แต่ที่พบบ่อยคือเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) ซึ่งมักจะเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น จึงมักจะมีการหยิบจับสิ่งของ ของเล่น เข้าปาก อันเป็นช่องทางที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ ส่วนเชื้อแบคทีเรียก็เป็นอีกหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เช่น เชื้ออีโคไล (E.Coli) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสียบ่อยที่สุด ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว แต่อาการมักไม่รุนแรง เพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานอยู่บ้างแล้ว

วิธีดูแลเมื่อลูกท้องเสีย

  1. ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส สูตรขององค์การเภสัชกรรมหรือองค์การอนามัยโลก ให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ในปริมาณที่เท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่
    • หากลูกอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรให้ดื่มครั้งละ ¼ – ½ แก้ว โดยใช้ช้อนค่อยๆ ป้อนที่ละ 1 ช้อนชา ทุก 1-2 นาที ไม่ควรให้ดูดจากขวดนม เพราะเด็กจะดูดกินอย่างรวดเร็วเนื่องจากกระหายน้ำ ซึ่งจะทำให้ร่างกายดูดซึมไม่ทันและอาจทำให้อาเจียนและถ่ายมาก แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือนมแม่ ควรให้อาหารเหลวบ่อยครั้ง เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด และนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม อาจผสมนมให้เข้มข้นเหมือนเดิมแต่ลดปริมาณลง และให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่
    • หากลูกอายุมากกว่า 2ปี ควรให้ดื่มครั้งละ½ – 1 แก้ว ให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นจึงให้หยุดดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ซึ่งจะทำให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็ว
  2. ไม่จำเป็นต้องหยุดนมแม่ เด็กที่กินนมผสมหลังดื่มสารละลายเกลือแร่ 4-6 ชั่วโมงแล้วให้กินนมตามปกติ ไม่จำเป็นต้องชงนมเจือจาง แต่ควรให้กินนมในปริมาณที่น้อยลงและถี่กว่าปกติ
  3. เด็กอายุมากกว่า 6 เดือนที่เริ่มทานอาหารเสริมแล้ว ควรให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊กแต่ควรเพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้นอีก 1 – 2 มื้อ งดอาหารย่อยยากโดยเฉพาะอาหารไขมันสูง งดน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะอาจจะทำให้ถ่ายบ่อยขึ้น

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก :


บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids