ข้าวตุ๋นกับผักบดและการป้อนอาจไม่ใช่คำจำกัดความของอาหารตามวัยมื้อแรกอีกต่อไป เด็กเพิ่งจะหัดกิน ฟันก็ยังไม่มี แถมไม่ต้องป้อน ให้วางอาหารที่หยิบกินเองแล้วปล่อยให้หยิบกินเอง เด็กที่ไหนจะกินได้ …จะเป็นไปได้อย่างไรกัน
จิลล์ ราเพลย์ หนึ่งในผู้เขียน Baby-Led Weaning คิดว่าเป็นไปได้ เพราะมีพ่อแม่ที่กังวลเรื่องลูกกินน้อยมาบ่นให้เธอฟังในทำนอง “ลูกพยายามจะคว้ากล้วยจากมือฉัน แต่ไม่ยอมกินกล้วยบด” อยู่บ่อยๆ เธอจึงมีแนวคิดใหม่ คือไม่เริ่มด้วยอาหารบด แต่ให้เริ่มด้วยอาหารที่ลูกหยิบกินเองได้ตั้งแต่มื้อแรกเลย และนักวิจัยก็เห็นด้วย เพราะผลวิจัยชี้ว่าการหยิบกินเองช่วยลดโอกาสที่ทารกจะเติบโตเป็นเด็กเลือกกินและน้ำหนักเกินได้ด้วย สมาคมกุมารแพทย์อเมริกันยังส่งเสริมให้พ่อแม่เริ่มอาหารตามวัยตอนลูกอายุ 6 เดือนด้วย แนวคิดนี้จึงยิ่งเป็นไปได้มากขึ้น
คำสำคัญของวิธีนี้คือ ลูกจะเป็นคนกำหนดเองว่าเขา “พร้อม” จะกินเองแล้วหรือยัง
สัญญาณความพร้อม
ตามปกติแล้ว พ่อแม่จะต้องตัดสินใจว่าควรเริ่มอาหารเสริมเมื่อไร แต่สำหรับแนวคิดของราเพลย์ ลูกจะเป็นคนกำหนดเองว่าพร้อมแล้วหรือยัง “จังหวะเวลาที่เหมาะสมของทารกแต่ละคนจะเร็วช้าต่างกัน” ราเพลย์อธิบาย “หน้าที่ของพ่อแม่คือถ้าตั้งใจว่าจะไม่ป้อนหรือแม้แต่ช่วยหยิบ ก็ต้องให้โอกาสและจัดเตรียมอาหารไว้ให้พร้อมลูกก็จะหยิบมากินเอง”
ทีนี้ก็มาช่วยกันสังเกตความพร้อมของลูกโดยดูว่า
- เขานั่งเองได้หรือยัง การล้มหงายหลังโดยมีอาหารอยู่ในปากเป็นเรื่องอันตราย คุณจึงควรจะรอให้เขานั่งเองได้อย่างมั่นคงก่อน
- เขาหยิบเป็นหรือยัง เขาควรจะหยิบอาหารได้โดยไม่ต้องให้คุณช่วย โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะในการใช้นิ้วหยิบเพราะตอนอายุ 6 เดือน ทักษะการใช้นิ้วหยิบอาจเร็วเกินไป เพียงเขาหยิบโดยใช้ทั้งมือเลยได้ ก็ใช้ได้
- เขาใช้มือหยิบของเข้าปากเก่งหรือยัง ถ้ายัง เขาก็หยิบอาหารกินเองไม่ได้
- เขากัดแทะของเล่นหรือยัง พฤติกรรมนี้บ่งชี้ว่ากล้ามเนื้อขากรรไกรของเขาพร้อมที่จะบดเคี้ยวอาหารแล้ว และเขาก็จะใช้เหงือกบดเคี้ยวอาหารก่อน ฟันจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น
เริ่มอย่างไรดี
“ถึงจะไม่ใช่กฎที่เคร่งครัด แต่คุณก็น่าจะเริ่มที่อาหารนิ่มๆ อย่างกล้วยและมะละกอสุก ลูกจะได้ฝึกเคี้ยวก่อนลิ้มลองอาหารที่แข็งขึ้น พอเคี้ยวเก่งแล้ว คุณจะให้เขากินอะไรก็ได้ แค่เลี่ยงอาหารรูปร่างกลมๆ ผิวเรียบลื่นหรือแข็งๆ อย่างองุ่นทั้งลูก ข้าวโพดคั่ว และถั่วเปลือกแข็งก็พอ เขาจะได้ไม่สำลัก และให้นึ่งผักอย่างบรอคโคลีและเซเลอรีก่อน แต่อย่านึ่งจนสุกเกินไป แค่นึ่งให้นิ่มลงเล็กน้อย ลูกจะกินง่ายขึ้น ถ้าจะให้ดีกว่านั้นอีก ก็นำไปอบให้น้ำตาลออกมาเคลือบที่ผิวนอกจนเหนียวหนึบ จะได้ถือกินง่ายขึ้น” ราเพลย์ ให้ภาพ
ราเพลย์ยังแนะนำต่อว่าคุณควรจะเตรียมอาหารให้ลูกโดยหั่นเป็นชิ้นยาวๆ ไม่ใช่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ คือให้หั่นเป็นชิ้นยาวราว 3 นิ้ว เขาจะได้ถือปลายข้างหนึ่งขณะเคี้ยวปลายอีกด้าน
เมื่อลูกอายุ 8 เดือน คุณจะให้เขากินอาหารชิ้นเล็กๆ ก็ได้เพราะเขาจะได้ฝึกทักษะในการใช้นิ้วหยิบอย่างเมล็ดถั่วลันเตา ลูกเกด หรือเนื้อไก่หรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ฉีกฝอยผักและผลไม้อบแห้งก็เป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน เพราะน้ำลายของเขาจะเปียกชุ่มอาหารและช่วยทำให้นิ่มลง
ถ้าอยากให้ลูก “กินดี” ไปตลอดชีวิต หน้าที่ของพ่อแม่คือ
- ให้เขากินอาหารที่หลากหลาย ซึ่งมีส่วนผสมของสมุนไพรและเครื่องเทศ เพราะจะช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสด้านการรับรส แต่ก็อาจจะต้องลองกินหลายๆครั้ง เขาถึงจะยอมรับอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ ฉะนั้นคุณก็ต้องพยายามต่อไปเรื่อยๆ ตัวเลือกที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นก็คือ โหระพา ผักชีลาว ทาร์รากอน ยี่หร่า กระเทียม ปาปริกาและอบเชย
- จัดวางให้น่ากิน สีสันและเนื้อสัมผัสที่หลากหลายจะช่วยเพิ่มอรรถรสในการกินอาหาร
- เป็นแบบอย่างที่ดี ทุกวิชาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กเห็นพ้องต้องกันและเห็นจริงในเรื่องของการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ “เพราะเด็กๆ จะคอยสังเกตว่าพวกผู้ใหญ่กินอะไรกันถ้าเห็นพ่อแม่กินอะไร ลูกก็เชื่อว่าตัวเองควรจะกินสิ่งนั้นด้วย”
มื้อนี้มีตัวช่วย
ถ้าคิดจะเริ่มอาหารเสริมมื้อแรกโดยให้ลูกหยิบกินได้ตามใจ อุปกรณ์เหล่านี้ก็ช่วยได้มากทีเดียว
- ชามปราบเซียน ไม่ว่าลูกจะอยากคว่ำหรือขว้างทิ้ง ชามก็ยังเกาะหนึบอยู่กับที่เพราะก้นชามเป็นแผ่นดูดสุญญากาศ และถ้าเลือกแบบที่ฝาปิดล็อคแน่นหนาก็จะพกไปไหนมาไหนได้ ไม่ต้องกลัวหก
- ผ้ากันเปื้อนแบบพิเศษ คือมีที่รองรับอาหารที่ลูกอาจจะทำหล่นเพราะยังหยิบจับอะไรไม่ค่อยเก่ง และทำจากวัสดุคุณภาพดีที่ทำความสะอาดง่าย จะช่วยให้คุณเบาแรงขึ้น
- เก้าอี้นั่งกินข้าว ให้เลือกแบบที่เตี้ยกว่าเก้าอี้ส่วนใหญ่ ทุกการเคลื่อนไหวบนโต๊ะอาหารจะได้อยู่ในระดับสายตาของลูก
- กล่องเก็บอาหาร (ที่ลูกกินเหลือ) ควรเป็นกล่องซึ่งทำจากวัสดุคุณภาพดี วางซ้อนกันได้และมีป้ายชื่อให้ระบุชนิดอาหารได้ง่ายๆ
- ที่ปอกและหั่นอเนกประสงค์ แค่นี้การเตรียมผักและผลไม้ให้ลูกกินก็กลายเป็นเรื่องง่าย แถมยังได้ขนาดพอดีมืออีกต่างหาก
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง