ลูกตาเหลือง …Q: ลูกแรกเกิด 7 วัน มองเห็นว่าตาขาวของลูกมีสีออกเหลือง เป็นอาการที่ผิดปกติหรือไม่ จะหายได้เองไหม หรือควรต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์คะ?
แม่สงสัย? แรกเกิด ลูกตาเหลือง
ใช่อาการตัวเหลืองหรือไม่?
วิธีสังเกตอาการตัวเหลือง
การสังเกตอาการตัวเหลืองจากการดูด้วยตาต้องทำในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ โดยกดผิวหนังให้เลือดถูกไล่ออกไปจนเห็นสีผิวหนัง เวลาเหลืองจะไล่จากศีรษะจรดเท้าโดยไล่จากใบหน้า ลำตัว แขนขาฝ่ามือฝ่าเท้า
-
ถ้าเหลืองแค่ที่ตาโดยประมาณ คือ 2 มก./ดล.
-
ถ้าเหลืองแค่ที่หน้า คือ 5 มก./ดล.
-
ถ้าถึงหน้าอก คือ 10 มก./ดล
-
ถ้าถึงท้อง คือ 12 มก./ดล.
-
ถ้าถึงฝ่ามือฝ่าเท้า คือ 15 มก./ดล.
จากกรณีข้างต้น ของทารก อายุ 7 วัน หากผิวหนังส่วนอื่นไม่เหลือง เห็นเหลืองเฉพาะที่ตา แปลว่าเหลืองไม่มาก ประมาณ 2 มก./ดล.เท่านั้น ไม่ต้องกังวลค่ะ ไม่เป็นอันตราย จะหายได้เองภายใน 1 เดือน
แต่ถ้าดูเองไม่เป็นว่าผิวหนังส่วนอื่นเหลืองด้วยหรือไม่ แนะนำให้พาลูกไปพบแพทย์ค่ะ เพราะหากเหลืองมากแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สารเหลืองที่มากผิดปกติจะเป็นอันตรายกับสมอง ทำให้พัฒนาการช้าได้
อ่านต่อ >> “ทารกแรกเกิดตัวเหลืองเกิดจากอะไร?” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ทารกแรกเกิดตัวเหลืองเกิดจากอะไร?
ตัวเหลืองภายในสัปดาห์แรก เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน ซึ่งเป็นของเสีย ร่างกายต้องกำจัดออกทางตับ แต่ตับของทารกแรกเกิดยังทำงานไม่เต็มที่ กว่าจะเปิดสวิตช์ทำงาน ต้องสัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไป
โดยอาการเริ่มจากใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ก่อนลามไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ท้อง แขน ขา และอาจมีสีเหลืองชัดขึ้นเมื่อใช้ปลายนิ้วกด รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้ ดังนี้
- ตาขาวเป็นสีเหลือง
- เหงือกเหลือง
- ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเหลือง
- ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ปกติปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะไม่มีสี
- อุจจาระมีสีขาวซีดเหมือนสีชอล์ก ผิดจากปกติที่ควรเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม
ทั้งนี้ ภาวะตัวเหลืองที่รุนแรงอาจแสดงถึงปัญหาสุขภาพหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการมีสารบิลิรูบินในเลือดมากเกินไปได้ ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที หากสังเกตพบอาการต่อไปนี้
- มีไข้สูง
- ไม่ยอมดูดนม น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
- แขน ขา และท้องเหลือง
- เซื่องซึม เฉื่อยชา
- ร้องไห้เสียงแหลม
- ตัวเหลืองมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ตัวเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์
- มีอาการอื่น ๆ ที่น่าวิตกกังวล
เด็กบางคนเหลืองมากกว่าเด็กคนอื่น พบได้ในกรณี กรุ๊ปเลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน หรือเป็นพาหะของทาลัสซีเมีย หรือขาดเอนไซม์ G6PD หรือตับทำงานช้ากว่าชาวบ้านเขา เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือ ทารกมีปัญหาติดเชื้อ
สาเหตุของเด็กตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากระดับสารบิลิรูบินหรือสารสีเหลืองในเลือดที่สูงมากเกินไป โดยสารนี้เกิดขึ้นเมื่อเม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายแตกตัว ในภาวะปกติ บิลิรูบินในกระแสเลือดจะถูกส่งไปที่ตับและขับออกทางอุจจาระ แต่ในเด็กแรกเกิด ตับจะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถกำจัดสารนี้ได้รวดเร็วพอ นอกจากนี้ภาวะเด็กตัวเหลืองอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน มีดังนี้
- คลอดก่อนกำหนด ทารกอาจตัวเหลืองหากคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การได้รับนมแม่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตัวเหลืองได้ โดยสาเหตุนั้นไม่แน่ชัด บางทฤษฎีคาดว่าในน้ำนมแม่อาจมีสารบางอย่างที่ส่งผลให้กระบวนการเปลี่ยนสารบิลิรูบินที่ตับบกพร่อง อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรหยุดให้นม เนื่องจาก นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด และภาวะตัวเหลืองปกติจะหายไปได้เองในเวลาไม่กี่สัปดาห์
- ภาวะหรือปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น
- หมู่เลือดระบบเอบีโอเข้ากันไม่ได้ แม่และเด็กที่มีหมู่เลือดต่างกัน อาจทำให้เลือดผสมกันระหว่างอยู่ในครรภ์หรือขณะคลอด และเป็นสาเหตุให้เด็กตัวเหลืองได้
- หมู่เลือดระบบอาร์เอชต่างกัน กรณีที่แม่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบและลูกมีหมู่เลือดอาร์เอชบวก ภูมิต้านทานที่แม่สร้างขึ้นจะทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกจนแตกออก ส่งผลให้เด็กมีภาวะตัวเหลืองตามมา โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 หรือคนที่ 3 เท่านั้น ดังนั้น หญิงที่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบควรปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะนี้ในเด็กแรกเกิด
- ภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) เด็กที่มีภาวะขาดไทรอยด์ เนื่องจากไม่มีต่อมไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง อาจส่งผลให้มีภาวะตัวเหลือง รวมทั้งอาจมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ เช่น หน้าบวม ลิ้นยื่น หรือสำลักบ่อย
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก ส่งผลให้เด็กมีภาวะตัวเหลือง อาเจียน งอแง ร้องไห้บ่อย ไม่ยอมดูดนม และมีไข้สูง
- ท่อน้ำดีอุดตันหรือถุงน้ำดีผิดปกติ เช่น โรคท่อน้ำดีอุดตันแต่กำเนิด อาจก่อให้เกิดภาวะความเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปเด็กมักมีอาการตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด มีไข้ น้ำหนักตัวลด รู้สึกคัน คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการปวดท้องด้านบนขวาร่วมด้วย
- ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD หรือโรคแพ้ถั่วปากอ้า เป็นโรคที่ร่างกายขาดเอนไซม์ G6PD ซึ่งช่วยทำให้เม็ดเลือดแดงและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายแข็งแรง ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกตัวเร็วเกินไป จนมีสารบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น
- Crigler-Najjar Syndrome เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เด็กที่ป่วยด้วยภาวะนี้จะขาดเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนรูปร่างหรือโครงสร้างของบิลิรูบิน เพื่อให้ร่างกายกำจัดออกได้ง่าย ระดับบิลิรูบินในเลือดจึงสูงและมีอาการตัวเหลืองตามมา
- การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กที่ติดเชื้อในกระแสเลือดจะมีภาวะตัวเหลือง รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง อุณหภูมิร่างกายต่ำ ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็ว อาเจียน เป็นต้น
- ตับทำงานบกพร่อง อาจทำให้ไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินออกได้
- ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เป็นภาวะที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้มีปริมาณบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น
- มีเลือดออกภายในร่างกาย เช่น เลือดออกใต้กะโหลกศีรษะ เด็กที่มีภาวะนี้อาจรู้สึกเจ็บปวด งอแง ตัวเหลือง และอาจเกิดภาวะช็อกได้ หากมีเลือดออกมาก
อ่านต่อ >> “การรักษาหรือแก้ไขอาการตัวเหลือง” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การวินิจฉัยเด็กตัวเหลือง
โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจหาภาวะตัวเหลืองภายใน 72 ชั่วโมง หลังเด็กคลอด โดยดูจากสีผิว สีของตาขาว สีเหงือก รวมถึงสีปัสสาวะหรืออุจจาระ หากสงสัยว่าเด็กอาจมีภาวะตัวเหลือง แพทย์จะตรวจวัดระดับบิลิรูบินในเลือด เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับการรักษาหรือไม่ ซึ่งวิธีตรวจที่อาจนำมาใข้ มีดังนี้
- การใช้เครื่องมือวัดระดับบิลิรูบินผ่านทางผิวหนัง (Bilirubinometer) เป็นการคัดกรองภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด โดยใช้เครื่องมือนี้ส่องไฟลงบนผิวหนังของเด็ก จากนั้นเครื่องจะช่วยคำนวณระดับของบิลิรูบินในร่างกายด้วยการวิเคราะห์แสงที่ถูกดูดซับหรือสะท้อนออกจากผิวหนัง
- การตรวจเลือด กรณีที่เด็กมีอาการตัวเหลืองภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด หรือมีค่าบิลิรูบินสูงมากจากการตรวจด้วยเครื่องมือวัดผ่านทางผิวหนัง แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดจากส้นเท้าของเด็กเพื่อวัดระดับบิลิรูบินในเลือดและนำผลที่ได้มาประกอบการตัดสินใจว่าเด็กควรได้รับการรักษาหรือไม่
- การตรวจอื่น ๆ หากเด็กตัวเหลืองนานกว่า 2 สัปดาห์ หรือมีภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์อาจต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- ตรวจความเข้ากันของหมู่เลือดระบบอาร์เอช
- ตรวจความเข้ากันของหมู่เลือดระบบเอบีโอ
- ตรวจภาวะโลหิตจาง
- ตรวจสารก่อภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านหมู่เลือดและเม็ดเลือดแดงของลูก
- ตรวจหาการติดเชื้อ
- ตรวจหาภาวะขาดไทรอยด์
ทั้งนี้ ภาวะตัวเหลืองอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์กว่าอาการจะแสดงออกมา ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของทารก โดยตรวจดูสีของดวงตา หรือใช้นิ้วกดเบา ๆ บนปลายจมูกหรือหน้าผากเพื่อตรวจว่าผิวเป็นสีเหลืองหรือไม่ รวมถึงสังเกตสีของอุจจาระและปัสสาวะของทารก หากสงสัยว่าเด็กอาจมีภาวะตัวเหลือง ควรไปพบแพทย์ทันที
จะรักษาหรือแก้ไขอาการตัวเหลืองได้อย่างไร?
การขับสารเหลืองออกจากร่างกายทางหนึ่ง คือ การขับออกทางอุจจาระ หากใครตัวเหลืองแล้วได้กินนมแม่ จะทำให้อึบ่อย ตัวเหลืองจะลดลงได้เร็ว หากกินนมผง จะท้องผูก สารเหลืองจะขับออกได้ช้ากว่า หากกินน้ำ จะทำให้อิ่มน้ำ ไม่อยากกินนมแม่ ทำให้มีฉี่ออก แต่ไม่มีอึ จะไม่ช่วยลดค่าเหลืองค่ะ
วิธีการรักษาภาวะตัวเหลือง
ภายในสัปดาห์แรก เด็กครบกำหนด หากเหลืองเกิน 13, 17, 20 ภายใน วันแรก วันที่สอง และวันที่สามตามลำดับ จะรักษาโดยการถ่ายเลือดค่ะ เพราะเหลืองมากจะทำให้สารเหลืองซึมเข้าสู่สมอง มีผลทำให้สมองทำงานผิดปกติ เน้นอีกครั้งค่ะ กรณีเหล่านี้ เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มากผิดปกติอย่างมาก เช่น กรุ๊ปเลือดหมู่เล็กไม่เข้ากัน (หมู่ Rh) หากระดับอยูที่ 8, 12, 15 ในวันที่ 1, 2 และ 3 หลังคลอด รักษาโดยการส่องไฟ หากต่ำกว่านั้น กลับบ้านไปตากแดดที่บ้านได้ และเน้นย้ำให้กินนมแม่ให้มากที่สุด ให้อึบ่อยที่สุด การเหลืองจะลดเร็วที่สุดค่ะ นอกจากนี้ ควรสังเกตเด็กแรกเกิดในช่วง 5 วันแรกหลังคลอดอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเด็กมีอาการตัวเหลืองควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที …อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่านคะ ไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล ถ้าเรารู้ในเรื่องนั้นๆ มากพอค่ะ
อ่าน “บทความดี ๆ น่าสนใจ” ได้ที่นี่!
- เด็กตัวเหลืองหลังคลอด อันตรายอย่าป้อนน้ำเด็ดขาด!!
- ลูกตัวเหลือง เพราะกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากับแม่ (เรื่องจริงจากแม่)
- ลูกตัวเหลือง อันตรายใกล้ตัว!! ที่คุณแม่อาจไม่รู้
- 20 อาการปกติของ ทารกแรกเกิด ที่พ่อแม่ควรรู้มีอะไรบ้าง?
บทความโดย: พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
และข้อมูลจาก : www.pobpad.com