พ่อจ๋าแม่จ๋าสังเกตให้ดี อาการที่ต้องพาลูกไปหาหมอ ลูกเจ็บป่วยแบบไหนควรรีบไปโรงพยาบาล
อาการที่ต้องพาลูกไปหาหมอ ช่วงโควิด
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีตัวเลขพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลตัวเองและคนในครอบครัวมากเป็นพิเศษ แต่ด้วยอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความหนาวเย็นในบางวัน แดดจ้าในบางวัน ทำให้ลูกเจ็บป่วยได้ง่าย แต่จะพาลูกไปโรงพยาบาล ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างรุนแรงเช่นนี้ ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่กังวลใจอยู่ไม่น้อย
พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ และเวชบำบัดวิกฤติ หรือคุณหมอแพมจากเพจหมอแพมชวนอ่าน จึงได้สรุปอาการที่ต้องพาลูกมาโรงพยาบาล เพื่อให้พ่อแม่ใช้เป็นเกณฑ์ในการสังเกตอาการของลูกรัก โดยโพสต์ตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลคือ สถานที่เสี่ยงกับการติด COVID-19 (มีข้อมูลจากจีน เคสปอดอักเสบ 138 ราย พบว่า 41% ผู้ป่วยได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล)
ความน่ากลัวของคนไข้เด็กอยู่ที่การเป็นตัวกลางแพร่เชื้อให้คนอื่นในครอบครัว เพราะเด็กแสดงอาการน้อยมาก และเด็กอยู่ไม่ได้โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ ถ้าเชื้อจากเด็กไปติดผู้สูงอายุ จะทำให้เกิดเคสอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นมา เพราะฉะนั้น ให้ลูกอยู่บ้าน ดีที่สุด ถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้านจริง ๆ ตกลงกับลูกให้เข้าใจว่า ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอด และต้องล้างมือ อย่าเอามือไปจับสิ่งต่าง ๆ และห้ามจับใบหน้า
เมื่อไหร่ที่เราต้องพาลูกที่ป่วยไปหาหมอ แยกตามอาการสำคัญ
1.โรคทางเดินหายใจ
โรคทางเดินหายใจ ร้อยละ 90 ของเด็กเล็กเกิดจากไวรัส มักมีอาการหวัดก่อน ซึ่งไข้จะไม่สูงมาก มีน้ำมูก ไอเล็กน้อยเพราะน้ำมูกกับเสมหะหยดลงคอ กลางวันเล่นได้ กินได้ ไข้ต่ำ พอกลางคืน เริ่มซม ไข้สูงขึ้น ซึ่งอาการจะหนักในช่วงวันที่ 2-4 หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นแต่ ถ้ามีอาการดังนี้ก็ควรพามาหาหมอ
- ไข้สูงตลอดเวลา กลางวันจากที่เคยเล่นได้กินได้ ก็ซมพอๆกับกลางคืน
- กินนม กินอาหาร กินน้ำได้ลดลง (กินได้น้อยกว่า 50%ของ baseline)
- หายใจแรง ตอนหลับหายใจอกกระเพื่อมแรง อกบุ๋ม แบบนี้ระวังว่าการติดเชื้อลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง
- เป็นหวัด โดยที่อาการไม่ดีขึ้นเลย นานเกิน 7 วัน (ย้ำว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยมีแต่ทรงกับทรุดเกิน 7 วัน) มีภาวะแทรกซ้อนของหวัด เช่น หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมในร่างกาย
- หายใจลำบาก
2.ไข้สูงอย่างเดียว ไม่มีอาการอื่นร่วม
นิยามของไข้ในเด็ก คืออุณหภูมิมากกว่า 37.5 C ถ้าไข้อยู่ในช่วง 37.6-38 C แต่ยังเล่นได้ ยังกินอาหารได้ปกติ ให้เช็ดตัวลดไข้ กินยาลดไข้ไป และดูอาการไปก่อน แต่ถ้าเป็นดังต่อไปนี้ควรมาพบแพทย์
- เด็กอายุน้อยกว่า 1 เดือน ที่แม่วัดว่ามีไข้ > 37.5C ติดต่อกัน 2 ครั้ง โดยที่ไม่ได้เกิดจากการห่อตัวที่หนาเกินไป หรือห้องอุณหภูมิร้อนเกินไป (ทารกยังปรับอุณภูมิกายไม่เก่ง สิ่งแวดล้อมสำคัญ) ต้องพามาพบกุมารแพทย์
- เด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ที่ไข้สูงลอย แม้จะกินยาลดไข้ หรือเช็ดตัว (อย่างเต็มที่) ก็ไม่สามารถทำให้อุณภูมิกาย < 38 C ได้เลย
- เด็กมีไข้ ร่วมกับ ซึมมาก จากที่เคยเล่นไม่เล่น เคยกิน ไม่กิน
- เด็กทุกอายุ เป็นไข้สูงอย่างเดียว นานเกิน 72 ชั่วโมง สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก (ด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม)
3.ระบบทางเดินอาหาร
- เด็กที่ถ่ายเหลว หรืออาเจียน โดยที่ผู้ดูแล ไม่สามารถป้อนน้ำเกลือแร่ ได้ทันกับที่เด็กถ่ายเหลวหรืออาเจียน ทำให้มีภาวะขาดน้ำปานกลาง ถึงรุนแรง คือ ซึม ตาโหล ฉี่เข้มมาก ปากแห้ง น้ำลายเหนียว ต้องมาให้น้ำเกลือแร่ทดแทนเข้าทางเส้นเลือด
- เด็กที่ปวดท้องด้านขวาล่าง ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับมีไข้ อาเจียน ท้องอืดขึ้น กินอาหารได้น้อยลง พามาตรวจเพื่อยืนยันว่ามีภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการผ่าตัดหรือไม่ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
- เด็กที่ปวดท้อง อาเจียน (กินอะไรก็อาเจียน บางครั้งอาเจียนออกมาเป็นน้ำดี คือ น้ำสีเหลือง ๆ) ท้องอืดมากขึ้นเรื่อย ๆ พามาตรวจประเมินภาวะลำไส้อุดตัน
4.ระบบประสาท
- เด็กที่มีภาวะชัก ครั้งแรก ไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่มีไข้ (เด็กชักจากไข้สูง ที่พ่อแม่ “เก่งเรื่องการดูแล”แล้ว ไม่ต้องพามา ให้กินยาลดไข้ รักษาตามอาการ ยกเว้นมีอาการที่เข้าได้กับคำแนะนำที่หมอบอกว่าให้มาตรวจ)
- เด็กที่มีการชักนานเกิน 15 นาที หรือ ชักไม่นาน แต่ชักซ้ำๆหลายรอบใน 1 วัน
- มีการเปลี่ยนแปลงของระดับสติสัมปชัญญะ ที่เรารู้สึกว่า ไม่ได้มาจากแค่ไข้อย่างเดียว
5.อื่น ๆ
เด็กที่มีโรคประจำตัว กลุ่มนี้คุณพ่อคุณแม่มักมีความชำนาญ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูกได้ ถ้ารู้สึกว่าอาการลูกแย่ลง
- อาการแย่มาก ไปพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินได้ตลอดเวลา
- อาการรอได้ ลองโทรหาคลินิกที่รักษาประจำก่อนเบื้องต้น พยาบาลจะปรึกษาหมอให้ว่าควรทำอะไร
แต่โดยส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้ติดตามการรักษาที่คลินิกเฉพาะทาง เพราะฉะนั้น ต้องถามข้อมูลว่าคุณหมอประจำออกตรวจมั้ย หรือ จะพบคุณหมอ ได้วันไหนบ้าง
วิธีดูแลลูกให้ห่างไกลโควิด
นอกจากต้องคอยสังเกตอาการของลูก เพื่อหลีกเลี่ยงการพาลูกไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นแล้ว การดูแลลูกให้ห่างไกลโควิด-19 ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำแนวทางดูแลลูกรัก ห่างไกลโควิด ดังนี้
- จัดหาอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลากหลายชนิดให้ลูก
- ดูแลความสะอาดร่างกาย อุปกรณ์ของใช้ในบ้าน
- ชวนลูกเล่น / ดูแลการพักผ่อนนอนหลับ
- สอนลูกไม่ให้ใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น
- สอนลูกล้างมือด้วยสบู่และน้ำ
- ลูกอายุ 2 ปีขึ้นไป ฝึกให้ลูกใส่หน้ากากผ้า
- หลีกเลี่ยงการพาลูกไปสถานที่แออัดหรือมีคนจำนวนมาก ถ้าไปเว้นระยะห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร
- หากลูกมีอาการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ไอ จามมีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย ให้พบแพทย์ทันที
- ถ้าคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคโควิด หรือกลับจากพื้นที่เสี่ยง ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลจะเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่ถ้าลูกมีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย เข้าข่ายอาการที่ต้องกังวล ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาล โดยสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเด็กอายุ 1-2 ปี บางคนสามารถถอดหน้ากากเองได้เมื่อรู้สึกอึดอัด จึงต้องคอยสังเกตและให้ใส่เพียงเวลาไม่นาน ส่วนเด็กทารกแรกเกิดถึง 1 ปี พ่อแม่ไม่ควรสวมหน้ากากให้ เพราะเด็กเล็ก ระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ เนื่องจากทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถในการหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้ เมื่อมีการขาดอากาศหรือออกซิเจนจะมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารกได้ และในกรณีการใช้วัสดุพลาสติก บังหน้าทารก ความคมของพลาสติกอาจทำให้บาดใบหน้า และดวงตาของทารกได้
นอกจากนี้ ต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ทั้งพ่อแม่ลูก ให้ดีที่สุดควรใช้สบู่ถูนานกว่า 20 วินาที แต่ถ้าไม่มีให้ใช้เจลแอลกอฮอล์ พร้อมกับต้องระวังคอยทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19
อ้างอิงข้อมูล : เพจหมอแพมชวนอ่าน, facebook.com/amarinnews และ anamai.moph.go.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
สาวไทยรีวิวฉีด วัคซีนโควิด-19 ฟรีที่แคนาดา ผลข้างเคียงเป็นยังไง
เล่นอะไรให้ลูกฉลาด หมอแนะ! วิธีเล่นกับลูกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี
ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด สิทธิบัตรทอง ใครได้บ้างเช็คเลย!