AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แก้ปัญหาลูกเบบี๋ติดดูดนิ้ว

ลูกสาววัย 8 เดือนติดดูดนิ้วมาก ถ้าดึงออกก็ร้องไม่ยอมหยุด เขาจะติดไปจนโตหรือเปล่าและมีวิธีใดบ้างที่จะทำให้เขาเลิกดูดนิ้วเสียที

การติดดูดนิ้ว เป็นภาวะปกติที่พบได้ในเด็กบางคน ซึ่งดูดนิ้วเพื่อทำให้ตัวเองสบายใจและเพลิดเพลิน (self comfort) บางคนดูดทั้งกลางวันและกลางคืน แต่บางคนก็ดูดเฉพาะตอนกลางคืน เพื่อกล่อมให้หลับง่ายๆ มีผลการศึกษาที่ระบุว่าเด็กที่ดูดนิ้วไม่ค่อยมีปัญหาตื่นขึ้นมาร้องไห้ตอนกลางดึก เพราะสามารถหลับต่อเองได้โดยการดูดนิ้วของตัวเอง

เด็กส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 85-99 จะเลิกดูดนิ้วได้เองก่อนอายุ 4-5 ขวบ จึงไม่มีปัญหาต่อการพัฒนาของเหงือกและฟันแท้ อย่างไรก็ดี การติดนิสัยดูดนิ้วอาจทำให้มีปัญหาอื่นๆ เช่น มีโอกาสได้รับเชื้อโรคเพิ่มขึ้น ผิวหนังบริเวณที่ถูกดูด อักเสบ เป็นแผล เสียบุคลิก และถูกล้อเลียน

เด็กที่ติดดูดนิ้วไปจนโตมักเป็นเพราะผู้เลี้ยงพยายามดึงนิ้วออก เด็กจึงต่อต้าน การฝึกไม่ให้ติดดูดนิ้วจึงไม่ควรใช้วิธีดึงนิ้วออก แต่ควรใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ พยายามหากิจกรรมที่ต้องใช้มือหรือหาของเล่นมาให้เด็กถือเพื่อให้มือไม่ว่าง เขาจะได้เอานิ้วออกมาจากปากเอง

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูดนิ้วบางคนแนะนำว่า ถ้าลูกติดการดูดอะไรสักอย่าง ก็ให้เขาดูดจุกหลอกดีกว่า เลิกง่ายกว่าติดดูดนิ้วเยอะเลยเพราะนิ้วอยู่กับตัวลูกตลอดเวลา จะเอาไปซ่อนก็ไม่ได้ คุณแม่ลองใช้วิธีต่อไปนี้ดูนะคะ

1. ใส่ถุงมือแบบหนา

ชนิดที่ใช้ในเมืองหนาว แบบบางๆไม่เวิร์คค่ะ หมอลองดูแล้ว ลูกยังดูดได้อย่างเมามัน แต่ถ้าลูกดูดนิ้วผ่านถุงมือหนาแล้วไม่ได้รสชาติเค็มๆ แบบเดิม อาจเลิกดูดก็ได้

2. ทาบอระเพ็ดหรือน้ำส้มสายชู

บางคนเลิกได้ แต่บางคนก็ดูดต่อจนจืด ถ้าเป็นเด็กโตที่พอจะพูดรู้เรื่องแล้ว อาจใช้วิธีให้รางวัลเป็นสติ๊กเกอร์สะสมแต้มในวันที่เขาไม่ได้ดูดนิ้ว ชมเชย ให้กำลังใจ หาพลาสเตอร์มาพันนิ้วไว้เพื่อเตือนสติ หรือให้คุณครู คุณหมอหรือหมอฟันช่วยพูดแนะนำให้เลิกดูด และอย่าลืมให้ความสนใจและใกล้ชิดลูกมากขึ้นกว่าปกติ ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น อย่าปล่อยให้เขาเหงาหรือเบื่อ ช่วยหาวิธีให้เข้านอนได้โดยไม่ต้องดูดนิ้ว เช่น อ่านนิทานให้ฟัง ร้องเพลงกล่อม หรือนวดตัวให้ งดกิจกรรมที่พบว่าลูกมักดูดนิ้วขณะทำกิจกรรมนั้น เช่น ตอนดูทีวี และชวนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เช่น ขี่จักรยาน เป็นต้น

สำหรับคนที่ติดดูดนิ้วจนมีปัญหาต่อการพัฒนาของเหงือกและฟันแล้ว ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้ใส่เครื่องมือพิเศษครอบฟันไว้ จะได้ดูดนิ้วไม่สะดวกเหมือนเคยค่ะ

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด