ไขข้อข้องใจแม่! นมไม่เท่ากัน ทั้งสองข้างตั้งแต่เริ่มให้นมลูกโดยคุณหมอชื่อดังอย่าง “คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ “
คุณแม่อาจจะกำลังสงสัยหรือข้องใจว่า ตอนยังสาว ๆ ยังไม่มีลูกเต้านมของเราก็ดูสวยดี เต่งตึงไม่หย่อนไม่ยาน อาจจะมีบ้างที่ดู ๆ ไปแล้วหน้าอกหรือ นมไม่เท่ากัน แต่ก็ยังไม่เด่นชัดเหมือนตอนที่มีลูกแล้ว! ยิ่งอยู่ในช่วงระหว่างให้นมลูกด้วยนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เหมือนว่าปัญหาการที่หน้าอกหรือ นมไม่เท่ากัน นั้นดูเด่นชัดมากขึ้น คราวนี้จะเป็นอย่างไร เป็นความปกติหรือว่าเป็นอะไรกันแน่!! ทีมงาน Amarin Baby and Kids เชื่อว่าต้องมีคุณแม่มากกว่า 20 คนที่กำลังประสบกับปัญหาและต้องการหาขอเท็จจริงนี้ และเผลอ ๆ อาจจะกำลังค้นหาคำแนะนำนี้ด้วยเช่นกัน ว่าแต่…การให้นมแม่กับลูกนั้นจะส่งผลกับหน้าอกของคุณแม่ได้จริงอย่างที่สงสัยหรือไม่นั้นเราไปหาคำตอบนี้จากคุณหมอสุธีราไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
คุณแม่ทราบหรือไม่คะว่า จริง ๆ แล้วหน้าอกหน้าใจของเราไม่เท่ากันอยู่แล้วค่ะ ต่อให้จะมีลูก ไม่มีลูกก็ตาม สาเหตุที่หน้าอกหน้าใจหรือนมของคุณแม่ไม่เท่ากันนั้นเป็นเพราะความถนัดของการใช้แขนนั่นเองค่ะ หลายท่านอาจจะไม่ได้สังเกต หรืออาจจะมาเริ่มสังเกตถึงความแตกต่างตอนเริ่มให้นมลูกละก็ ทีมงานอยากให้ลองอ่านบทความของคุณหมอสุธีราที่ได้โพสต์คำถามของคุณแม่ท่านหนึ่งที่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
ดิฉันให้ลูกดูดนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด จนปัจจุบันลูกอายุ 6 เดือนกว่าแล้ว
แต่หน้าอก 2 ข้างของแม่มีขนาดที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ควรทำอย่างไรดี?
คุณหมอสุธีราได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ขณะให้นมลูก วิธีป้องกันไม่ให้หน้าอก 2 ข้างมีขนาดไม่เท่ากันคือ
- ให้ผลัดกันเป็นข้างแรกของการดูดแต่ละครั้ง เพราะข้างแรกจะถูกดูดแรงกว่า นานกว่า และดูดจนเกลี้ยงเต้า จึงได้รับการกระตุ้นมากกว่าและสร้างน้ำนมได้มากกว่า ขนาดเลยใหญ่กว่า ขณะที่อีกข้างซึ่งดูดทีหลัง จะถูกดูดเบาลงและดูดไม่หมดเต้า น้ำนมจึงไม่ถูกผลิตเพิ่ม หากคุณแม่ไม่ทราบหลักการนี้ ก็อาจทำให้การเอาลูกเข้าเต้าข้างแรกเป็นไปตามความถนัดและความเคยชิน หรือคุณแม่อาจมีหัวนมข้างหนึ่งสั้นหรือ บอด ทำให้ยากต่อการพยายามเอาลูกเข้าเต้า… เต้านมที่ถูกดูดข้างแรกจึงเป็นข้างเดิมตลอด ทำให้คุณแม่มีขนาดเต้านมไม่เท่ากันเหมือนนางมณโฑนั่นเอง
- การยึดหลักการ “ให้เริ่มดูดจากข้างที่เสร็จทีหลังในการดูดคราวที่แล้ว” นั้นอาจจะไม่ถูกต้อง เพราะบางครั้งลูกอาจดูดแค่ข้างเดียวก็อิ่มแล้ว ดังนั้นครั้งต่อไปก็ต้องกลับไปดูดที่ข้างเดิมและไม่ได้ดูดอีกข้างเลย
นมไม่เท่ากัน แก้ไขอย่างไร?
คุณหมอกล่าวว่า ในกรณีที่เกิดปัญหาหน้าอก 2 ข้างไม่เท่ากันไปแล้ว วิธีแก้ไขคือ
- พยายามให้ลูกดูดข้างที่เล็กกว่าเป็นข้างแรกก่อนเสมอ ซึ่งเขามักยอมดูดถ้าไม่หิวจัดมาก แต่ถ้าหิวมากก็อาจไม่ยอมดูดและร้องไห้โวยวาย คุณแม่อาจเริ่มที่ข้างใหญ่กว่าก่อนก็ได้ แต่อย่าให้ดูดนานนัก พอได้จังหวะก็รีบย้ายมาดูดอีกข้างให้เกลี้ยงเต้า เพื่อให้มีการส่งสัญญาณให้สร้างน้ำนมเพิ่ม
- ถ้าลูกดูดไปโวยวายไป ก็ย้ายไปดูดข้างที่ใหญ่กว่า (ซึ่งมีน้ำนมมากกว่า) เป็นระยะ ๆ แล้วกลับมาดูดข้างที่ต้องการกระตุ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถ้ายังไม่ถึงเวลาดูดนมของลูก คุณแม่ควรพยายามกระตุ้นข้างที่เล็กกว่าโดยการปั๊มนมบ่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้เต้านมกลับมามีขนาดเท่ากันหรือใกล้เคียงกันได้อีก แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็ไม่ต้องกังวล เพราะพอหยุดให้นมแล้ว ในที่สุด เต้านม 2 ข้างก็จะกลับมามีขนาดเท่าหรือใกล้เคียงกันเหมือนตอนก่อนให้นมลูกแน่นอน ในระหว่างที่มีขนาดต่างกันมากจนใส่เสื้อผ้าแล้วยังเห็นได้ชัด คุณแม่อาจเสริมฟองน้ำในข้างที่เล็กกว่า เพื่อให้ดูสมดุลสวยงามได้ค่ะ
ในบางกรณีเต้านมที่ขนาดไม่เท่ากันก็อาจเกิดจากการมีเนื้องอกซ่อนเร้นอยู่ด้วยก็เป็นได้นะคะ ให้คุณแม่ลองสำรวจเต้านมของตัวเองว่ามีก้อนผิดปกติหรือไม่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการสำรวจด้วยตัวเองในเบื้องต้นก็ไม่ยากค่ะ คุณแม่สามารถอ่านต่อวิธีสำรวจเต้านมของตัวเองได้ที่หน้าถัดไป
วิธีการสำรวจเต้านมด้วยตัวเอง
หากคุณแม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอแล้วแต่ยังมีความไม่เท่ากันอยู่ละก็ ทีมงานขอแนะนำให้คุณแม่ลองสำรวจเต้านมด้วยตัวเองง่าย ๆ กันก่อนค่ะ ซึ่งวิธีการมีดังนี้
- ให้สำรวจตัวเองผ่านหน้ากระจก ซึ่งวิธีการก็คือ ให้ยืนตัวตรง มือแนบลำตัว แล้วลองสังเกตลักษณะของเต้านมทั้ง 2 ข้างอย่างละเอียด เปรียบเทียบดูขนาด รูปร่างของหัวนม และการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในทุกส่วนของเต้านม เช่น รอยนูนที่ขึ้นผิดปกติ รอยบุ๋ม หัวนมบอด ระดับของหัวนมที่ไม่เท่ากัน มีแผล หรือมีเส้นเลือดใต้ผิวมากขึ้นผิดปกติหรือไม่ ซึ่งการสังเกตก็ให้เปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้างว่าแตกต่างไปจากเดิม หรือผิดปกติไปจากอีกข้างหรือไม่ จากนั้นให้หันตัวเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นด้านข้างของเต้านมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วให้สังเกตความเปลี่ยนแปลง หลังจากนั้นให้ยกมือขึ้นทั้งสองข้าง เพื่อสังเกตความผิดปกติของรอยบุ๋มผิวหนังบริเวณเต้านมที่เกิดจากการดึงรั้ง เอามือเท้าสะเอวเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกตึงตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อสังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนัง เมื่อไม่พบความผิดปกติจากการสังเกตที่เต้านมแล้ว ให้ทำในขั้นตอนถัดไป
- การคลำเต้านมในท่านั่ง วิธีนี้เป็นการตรวจให้ทั่วพื้นที่ของบริเวณเต้านมโดยรอบ เริ่มต้นให้ใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง บริเวณที่ค่อนไปทางปลายนิ้ว เพราะเป็นจุดที่ไวต่อการสัมผัส ให้คุณแม่คลำเต้านมในลักษณะคลึงเป็นก้นหอยเล็ก ๆ ไปตามเต้านม เนื่องจากตำแหน่งของเต้านมที่อยู่บนผนังหน้าอกเป็นตำแแหน่งที่สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งเต้านมได้ ต่อมาให้ลองสังเกตความผิดปกติว่ามีของเหลว หรือมีเลือดออกมาจากหัวนมในขณะที่กดบริเวณปานนมหรือไม่ แนะนำว่าการบีบบริเวณหัวนมควรทำอย่างเบามือ เพราะถ้าพบว่ามีความผิดปกติจริงจะมีน้ำ หรือเลือดออกจากหัวนมเมื่อมีการกดได้โดยไม่ต้องบีบเค้น จากนั้น ให้ใช้นิ้วมือคลำบริเวณเต้านมส่วนที่อยู่ใต้รักแร้ว่ามีก้อน หรือต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติหรือไม่ โดยให้ห้อยแขนลงมาเพื่อให้กล้ามอกหย่อนลง จะได้คลำรักแร้ได้อย่างชัดเจน
- การตรวจท่านอนราบ นอนในท่าสบาย สอดหมอน หรือม้วนผ้าไว้ใต้หัวไหล่ขาว (หาก ตรวจเต้านมด้านขวา) ยกแขนขวา เหนือ ศีรษะ เพื่อให้เต้านมขยาย ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง (ของมือซ้าย) คลำทั่วทั้งเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งความจริงไม่ใช่ ถ้าต้องการตรวจเต้านมด้านซ้ายให้เริ่มต้นทำซ้ำอีกครั้ง
- การตรวจในท่านั่ง ใช้นิ้วมือคลำบริเวณเต้านม ส่วนที่อยู่ใต้รักแร้ว่ามีก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติหรือไม่ โดยการห้อยแขนลงมาเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกหย่อนลง เนื่องจากหากกล้ามเนื้อตึงเกินไปจะไม่สามารถคลำรักแร้ได้อย่างชัดเจน
ซึ่งถ้าหากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าที่หน้าอกหรือ นมไม่เท่ากัน นั้นเป็นเพราะให้นมหรือว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นละก็ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อจะได้ทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งนึงค่ะ
ขอบคุณที่มา: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด