AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รู้ทัน…ไวรัสลงกระเพาะและลำไส้ในเด็ก

ไวรัสลงกระเพาะทารก วิธีสังเกตุและดูแลลูก

คุณพ่อคุณแม่หลายคนที่มีลูกน้อยเคยเป็นโรค “ไวรัสลงกระเพาะ” อาจสงสัยว่าถ้าเป็นแล้ว ลูกจะมีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่ หรือมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไวรัสลงกระเพาะได้หรือไม่? มาดูคำตอบจากคุณหมอกันค่ะ

Q : ตอนนี้ลูกอายุจะ 1 ขวบแล้วค่ะ ตอนช่วง 7-8 เดือน เขาเคยท้องเสียและอาเจียนด้วย หมอบอกว่าเป็นไวรัสลงกระเพาะ  แต่ช่วงนี้ลูกท้องเสียบ่อยอีก จะกลับมาเป็นโรคเดิมได้หรือไม่ และถ้าจะให้ลูกได้รับวัคซีนไวรัสโรต้าจะช่วยได้หรือไม่คะ

ในกรณีที่มีอาการอาเจียนหรือถ่ายเหลวรุนแรง ปวดท้องมาก หมอจะตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคดูว่าอาจเป็นโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันหรือไม่ เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคลำไส้อุดตัน โรคลำไส้กลืนกัน โรคแพ้นมวัว เป็นต้น

บางครั้งการอาเจียนท้องเสียบ่อยๆ อาจเกิดจากการแพ้อาหารที่ลูกกิน เรียกว่าเป็นการแพ้แบบแอบแฝงหรือว่าแพ้สะสม โดยลูกเคยกินอาหารชนิดนั้นมาก่อน วันดีคืนดี วันร้ายคืนร้ายก็จะสำแดงอาการแพ้ออกมาเป็นอาการอาเจียน ท้องเสีย พอได้รับการรักษาตามอาการ  อาการก็ดีขึ้น พอกลับไปกินอาหารที่แพ้อีกก็แสดงอาการผิดปกติได้อีก  หากงดอาหารที่แพ้ได้ตลอดอาการก็จะหายไปไม่เป็นอีก ส่วนใหญ่อาการแพ้อาหารจะดีขึ้นเมื่อโตขึ้น

ส่วนโรคไวรัสลงกระเพาะและลำไส้ (viral gastroenteritis) ก็อาจมีโอกาสเป็นอีกได้ ถ้าหากได้รับเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่เคยเป็น เพราะมีเชื้อไวรัสหลายสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคนี้ โดยการติดต่อของเชื้อไวรัส เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ จากการคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยตรงหรือการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่แล้วเอามือเข้าปาก โดยหลังการสัมผัสเชื้อโรคจนกระทั่งแสดงอาการอาจใช้เวลาสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 2 วัน

อาการของโรค

เริ่มจากอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือมีไข้สูงก็ได้ เบื่ออาหาร ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีมูกแต่ไม่มีเลือด กลิ่นไม่เหม็นคาว ส่วนใหญ่มีอาการ 3 – 7 วัน แต่บางรายอาจนานถึง 2 สัปดาห์ ความรุนแรงขึ้นอยู่กับระดับภูมิต้านทาน บางคนรุนแรงน้อย อาเจียนไม่กี่ครั้ง ให้ยากินระงับอาเจียนก็ดีขึ้น แต่บางคนต้องฉีดยาหรือนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด

อ่านต่อ “สาเหตุของโรคไวรัสลงกระเพาะและลำไส้ และวิธีดูแลลูก” คลิกหน้า 2

สาเหตุของโรค

เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรค เชื้อที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันมากและเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในเด็กเล็ก คือ เชื้อไวรัสโรต้า ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้าที่เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน ช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคหรือลดความรุนแรงลงได้ เริ่มให้ครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ แต่อย่างช้าไม่เกินอายุ 14 สัปดาห์ 6 วันและต้องได้รับวัคซีนครบทุกโด๊สเมื่ออายุไม่เกิน 8 เดือน หากเกินกว่านี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่องความปลอดภัย กรณีนี้ลูกคุณแม่อายุ 1 ขวบแล้ว จึงรับวัคซีนโรต้าไม่ได้แล้วค่ะ นอกจากนี้ เด็กที่กินนมแม่จะมีภูมิต้านทานช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้ครอบคลุมหลายสายพันธุ์ ขณะที่วัคซีนโรต้าช่วยลดความรุนแรงเฉพาะกรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้าเท่านั้น

ทำอย่างไรเมื่อลูกป่วย

1. การดูแลเบื้องต้น คือ ให้ยาระงับอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาขับลม

2. ให้อาหารอ่อนย่อยง่ายครั้งละน้อยๆ เช่น ข้าวต้มครั้งละ 5 – 6 คำแต่ให้บ่อยๆ ไม่เลี่ยนมัน หากลูกกินนมผสม ให้ชงนมจางกว่าปกติ ให้ดื่มครั้งละไม่เกินครึ่งหนึ่งของปริมาณปกติ เพื่อไม่ให้ลำไส้ทำงานหนัก

3. ให้จิบน้ำเกลือแร่ ORS จะได้ไม่มีอาการอ่อนเพลียจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ไม่ให้น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือน้ำเกลือแร่สำหรับผู้เสียเหงื่อจากการเล่นกีฬา เพราะน้ำตาลที่เข้มข้นมากเกินไปจะทำให้ท้องเสียมากขึ้น เนื่องจากน้ำตาลที่ระดับความเข้มข้นไม่เหมาะสมจะดึงน้ำออกจากเซลล์เยื่อบุลำไส้มากขึ้น

อ่านต่อ “วิธีดูแลลูกเมื่อป่วยด้วยโรคไวรัสลงกระเพาะและลำไส้” คลิกหน้า 3

4. งดของแสลงเวลาที่ท้องเสีย จนกว่าอาการจะดีขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ นมวัว แล้วเปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลืองหรือนมวัวสูตรพิเศษที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทส หากลูกไม่ยอมเปลี่ยนนม อาจลองชงนมเดิมที่กินอยู่ แต่ให้เจือจางกว่าปกติเท่าตัว (มักหายช้ากว่าเปลี่ยนเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทส)

สำหรับเด็กที่กินอาหารเสริมแล้ว หากชงนมผสมเจือจางแล้วยังมีอาการถ่ายเหลวไม่หยุด แต่ไม่ยอมกินนมถั่วเหลือง ให้เน้นกินข้าวต้มหรือโจ๊กใส่เนื้อสัตว์เล็กน้อย และน้ำข้าวต้มใส่เกลือเล็กน้อย แล้วงดนมวัวไปได้เลย เมื่ออาการดีขึ้นต้องค่อยๆ กลับไปกินอาหารตามปกติ อย่ารีบร้อนเปลี่ยนกลับทันที เพราะอาจกลับไปท้องเสียใหม่ได้ ในกรณีที่ลูกดูดนมแม่ สามารถให้ได้ตามปกติ ไม่ต้องงดค่ะ

5. คอยระวังก้นแดงจากการถ่ายบ่อย ต้องคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีอย่าแช่นาน และควรพาไปล้างก้นด้วยน้ำธรรมดา ไม่ต้องอุ่นและไม่ต้องใช้สบู่ เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งเป็นผื่นง่าย อาจทาวาสลีนหรือปิโตรเลียมเจลเคลือบผิวบริเวณก้น เพื่อช่วยบรรเทาการระคายเคืองจากเศษอุจจาระ จะช่วยป้องกันไม่ให้ก้นแดงได้

6. ห้ามให้ยาหยุดถ่ายในเด็ก เพราะทำให้เชื้อโรคคั่งในร่างกายจนเป็นอันตรายหรือมีอาการปวดมวนท้องมากขึ้น

อาการไหน ควรพาลูกไปหาหมอ?

  1. ลูกยังอาเจียนอยู่ทั้งที่รับประทานทานยาแก้อาเจียนแล้ว
  2. ไม่อาเจียนแล้ว แต่รับประทานอาหารไม่ได้
  3. มีอาการซึม อ่อนเพลีย มีอาการของการขาดน้ำและปัสสาวะออกน้อย
  4. ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด หรือกลิ่นแรงเหม็นคาว หรือถ่ายรุนแรงมากเป็นน้ำตลอดเวลา กรณีนี้ควรนำอุจจาระไปโรงพยาบาลด้วยเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและเพาะเชื้อต่อไป

อ่านต่อ “การรักษา+การป้องกันโรคไวรัสลงกระเพาะและลำไส้” คลิกหน้า 4

การรักษา

  1. หมอจะฉีดยาแก้อาเจียนเข้ากล้ามเนื้อต้นขาหรือสะโพก สังเกตอาการประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วให้ลองจิบน้ำ ถ้าไม่มีอาเจียนอีกให้กลับไปดูอาการต่อที่บ้านได้ ยาฉีดจะออกฤทธิ์นาน 6 ชั่วโมง เมื่อใกล้หมดฤทธิ์ยาฉีด ให้ยาแก้อาเจียนกินต่อเนื่องอีกประมาณ 1 – 2 วัน แต่ถ้าฉีดยาแล้วยังมีอาเจียนอีก หรือไม่อาเจียนแล้วแต่ไม่ยอมกินอะไรเลย หมอจะรับตัวไว้ในโรงพยาบาลแล้วให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ และพลังงาน
  2. หมอจะตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินภาวะขาดน้ำและพลังงาน หากพบว่ามีภาวะขาดน้ำและพลังงานขั้นรุนแรงจะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล
  3. หมออาจสั่งยา Infloran ซึ่งเป็นเชื้อ lactobacilli ช่วยปรับสภาพลำไส้ในกรณีที่มีภาวะท้องเสียเรื้อรังเนื่องจากการดูดซึมบกพร่อง

การป้องกัน

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก
  2. กินแต่อาหารที่ปรุงสุก ไม่มีแมลงวันตอม
  3. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้เป็นโรค และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสโรค
  4. ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของโรคนี้ในเด็กเล็ก เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน
  5. ให้ลูกดื่มนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารต้านไวรัสและแบคทีเรียรวมถึงลดโอกาสการปนเปื้อนจากภาชนะที่ไม่สะอาด

 

เรื่อง : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ภาพ : Shutterstock