AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ปัญหา “ผิวหนัง” ยอดฮิตของลูกเบบี๋ รับมือได้

ปัญหาผิวหนังของทารก

วัยทารกเป็นช่วงที่ระบบต่างๆ ของร่างกายลูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ลูกจึงป่วยหรือมีปัญหามากมาย ให้คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกต และดูแลอยู่บ่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ ปัญหาผิวหนัง บทความนี้เราจะมาเจาะลึกโรค และปัญหาผิวที่พบบ่อยของลูกวัยเบบี๋ และเทคนิคดูแลลูกน้อยให้มีผิวสวย

แก้ ปัญหาผิวหนัง ให้ลูกน้อย

1.โรคสะเก็ดขุย หรือสะเก็ดน้ำเหลืองที่หนังศีรษะ

มักจะนิยมเรียกว่า ผื่นฮอร์โมน โดยมีชื่อเป็นทางการว่า Seborrheic Dermatitis ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด

อาการ มีขุยมันสีขาว หรือสะเก็ดเหนียวสีเหลืองกระจายทั่วหนังศีรษะ หรือเป็นกระจุกอยู่บริเวณกระหม่อมด้านหน้า โดยไม่มีอาการผมร่วง บางรายอาจกระจายมาที่ไรผม ใบหน้า คิ้ว หรือหลังหูได้ มักมีอาการตั้งแต่อายุ 3 – 12 สัปดาห์ และหายภายในไม่กี่สัปดาห์ หรือเมื่ออายุ 3 – 4 เดือน

การรักษา สามารถใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันมะพร้าวทานวดบริเวณที่เป็นขุย ทิ้งไว้ 10 – 15 นาที แล้วสระผมด้วยแชมพูอ่อนสำหรับเด็ก จะช่วยทำให้สะเก็ดหลุดลอกออก ถ้ามีผื่นแดงบริเวณสะเก็ด หรือมีสะเก็ดมาก ควรพาไปพบแพทย์เพื่อใช้โลชั่นที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่มีฤทธิ์อ่อนๆ ทาได้

การป้องกัน ผื่นชนิดนี้ไม่มีแนวทางป้องกันใดๆ ที่เห็นผลอย่างชัดเจน

2.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

เป็นโรคผื่นแพ้ทางผิวหนังที่เรื้อรังที่สุดในเด็ก สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน และจากปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะด้านภูมิแพ้ในครอบครัวเป็นปัจจัยหลัก ร่วมกับการมีปัจจัยกระตุ้นทางด้านอื่นๆ เช่น อาหาร สภาพอากาศ อากาศร้อนหรือเย็น ไรฝุ่น สาร หรือสิ่งระคายเคือง การติดเชื้อ เป็นต้น

อาการ จะมีอาการคันมาก ร่วมกับมีผิวแห้ง และมีการกระจายตัวของผื่นแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ในวัยทารกจะเริ่มมีอาการช่วงอายุ 2 – 3 เดือนขึ้นไป ผื่นจะกระจายตัวตามบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขนและขาที่สัมผัสสารระคายเคือง อาจพบผื่นที่ใบหู หนังศีรษะ และตามตัวด้านหน้าได้ ส่วนในวัยเด็กโต ผื่นจะขึ้นตามคอ ข้อพับ แขนและขา

การรักษา เบื้องต้นควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และควรวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นๆ รวมทั้งหาสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ผื่นเห่อมากขึ้น ซึ่งส่วนมากเมื่อได้รับคำวินิจฉัยแล้ว แพทย์มักจะต้องให้ยา 3 กลุ่มหลักคือ 1) ยาทาที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์ 2) ยาลดอาการคัน และ 3) ยาปฏิชีวนะ ถ้ามีอาการแสดงของการติดเชื้อร่วมด้วย

การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผื่นกำเริบ โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีประวัติชัดเจน เช่น การแพ้อาหาร แพ้เหงื่อหรือสารเคมีอื่นๆ และควรหลีกเลี่ยงการขัดถูผิว หรือการอาบน้ำบ่อยเกินไป ไม่ควรอาบน้ำที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป เพราะทำให้ผิวหนังแห้งมากขึ้น และควรทำให้ผิวหนังทั่วตัวชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยการทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวทันทีหลังอาบน้ำ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “ปัญหา “ผิวหนัง” ยอดฮิตของลูกเบบี๋ รับมือได้” คลิกหน้า 2

3.ผื่นผ้าอ้อม

เป็นผื่นที่พบได้บ่อยในเด็กทารกอายุ 3 – 18 เดือน โดยพบถึงร้อยละ 20 ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยสาเหตุหลักที่พบบ่อยคือ ผิวหนังสัมผัสสารระคายเคือง โดยเฉพาะการสัมผัสกับปัสสาวะ และ / หรืออุจจาระเป็นเวลานาน ร่วมกับมีภาวะเปียกชื้น ทำให้ผิวหนังถูกทำลายได้ง่ายเมื่อมีการเสียดสีจากการใส่ผ้าอ้อม

อาการ ลักษณะของผื่นในระยะแรกจะมีสีแดงตามส่วนนูนที่สัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกชื้น คือบริเวณต้นขาด้านใน ก้น ท้องน้อยช่วงล่าง และบริเวณอวัยวะเพศ โดยผิวหนังในซอกลึกหรือตามรอยพับจะไม่มีผื่น แต่ถ้าผื่นเป็นมากขึ้นจะมีอาการผิวหนังถลอก ถ้าเป็นมากผิวหนังจะหลุดลอกคล้ายโดนน้ำร้อนลวก และผื่นจะขยายขนาดกว้างขึ้น

การรักษา ถ้าเป็นผื่นไม่มากสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวที่เหมาะสมได้ เช่น สารเคลือบผิวที่มีส่วนประกอบของซิงค์ (Zinc) หรือโปรวิตามินบี 5 (Provitamin B5) แต่ถ้าผื่นไม่ดีขึ้นใน 2 – 3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับยา และตรวจว่ามีการติดเชื้ออื่นร่วมด้วยหรือไม่

การป้องกัน วิธีที่ดีคือ การทำความสะอาด และรักษาผิวหนังบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมให้แห้งอยู่เสมอ หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อเกิดความเปียกชื้น ควรเลือกผ้าอ้อมที่มีการดูดซับดี และเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ

4.ผดผื่นที่เกิดจากอากาศร้อน หรืออับชื้น

โรคผดผื่นร้อนพบได้บ่อยในเด็กทารก เพราะต่อมเหงื่อและผิวหนังเด็กโดยเฉพาะวัยทารกยังพัฒนาไม่ดีนัก ทำให้ต่อมเหงื่ออุดตัน และมีการรั่วของเหงื่อที่ผิวหนังได้

อาการ ทารกอาจมีผื่นได้ตั้งแต่อายุได้ 1 – 2 สัปดาห์ ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ หน้าผาก คอ รักแร้ ข้อพับแขนและขา

การรักษาและป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อน อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี ใส่เสื้อผ้าโปร่งบางเบาสบาย การเช็ดตัว หรืออาบน้ำบ่อยๆ จะทำให้ผื่นลดลงได้

5.การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง

เด็กทารกมีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กโต เนื่องจากภูมิคุ้มกันทั้งทางร่างกายและทางผิวหนังยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เชื้อแบคทีเรียบางชนิดเมื่อติดเชื้อแล้ว สามารถปล่อยทอกซินเข้ากระแสเลือดได้ เชื้อบางชนิดอาจเป็นการติดเชื้อที่บริเวณชั้นหนังกำพร้า หรือเกิดตามหลังแมลงสัตว์กัดต่อยได้

อาการ สามารถเป็นได้หลายแบบ ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของเชื้อ เช่น เป็นตุ่มแดงแตกแห้งกลายเป็นสะเก็ดน้ำเหลือง หรืออาจเป็นตุ่มน้ำขนาดใหญ่ทั่วตัว โดยมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

การรักษา ในเบื้องต้นควรฟอกผิวหนังที่มีการติดเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ใช้ยาปฏิชีวนะทาเฉพาะที่นาน 5 – 7 วัน แต่ถ้ารักษาเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีผื่นเพิ่มมากขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ผิวหนังเด็ก

6.การติดเชื้อราที่ผิวหนัง

ในวัยทารกมักจะพบการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องจากบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมเป็นบริเวณที่ผิวอับชื้น เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อรา ส่วนปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ ได้แก่ ความอ้วน อากาศร้อน ทำให้มีเหงื่อออกมาก การได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน เป็นต้น

อาการ ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อราจะเป็นตุ่มนูนแดงหรือตุ่มหนอง และมักมีผื่นเม็ดเล็กๆ กระจายรอบผื่นใหญ่ ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ รักแร้และขาหนีบ อาจพบผื่นที่ผิวหนังร่วมกับการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุช่องปาก เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม หรือเพดานอ่อน

การรักษา ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “วิธีการดูแลผิวลูกน้อยให้สวยและแข็งแรง” คลิกหน้า 3

วิธีการดูแลผิวลูกน้อยให้สวยและแข็งแรง

ผิวของลูกน้อยบอบบางกว่าผิวของผู้ใหญ่ เพราะโครงสร้างยังพัฒนาไม่เต็มที่ และขาดชั้นกรดไขมันจำเป็นซึ่งช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เราจึงควรใส่ใจดูแลผิวลูกน้อยเป็นพิเศษด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

1.อาบน้ำให้ลูกน้อย เพื่อให้ผิวสะอาด ไม่เกิดผดผื่นคันและการติดเชื้อ ควรเลือกสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวลูก มีค่าพีเอช 5.5 ใช้ส่วนประกอบจากธรรมชาติ ไม่ควรมีวัตถุกันเสียและน้ำหอม

2.ทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิว เพื่อให้ผิวลูกชุ่มชื้นอยู่เสมอ ไม่จำเป็นว่าผิวลูกจะต้องแห้งจึงจะทาครีม เนื่องจากการทาครีมเปรียบเสมือนเราให้อาหารผิวแก่ลูก

3.ป้องกันลูกจากแสงแดดจ้า สำหรับลูกทารกควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า แต่สามารถพาไปเดินเล่นรับแสงแดดอ่อนได้ แต่เมื่อลูกโต การเล่นกลางแจ้งนั้นมีประโยชน์ จึงควรทาครีมกันแดดให้ลูก สามารถเลือกครีมกันแดดที่ทำจากสารธรรมชาติ เช่น มีส่วนประกอบของซิงค์ออกไซด์ และมีค่าเอสพีเอฟ 30 ขึ้นไป ทาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนออกกลางแจ้ง และทาซ้ำทุก 2 – 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ควรให้ลูกใส่เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์กันแดด ดื่มน้ำบ่อยๆ และหลังออกแดดควรทาครีมบำรุงเสมอ

4.ดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ น้ำช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ร่วมกับการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทารกควรดื่มนมแม่เพราะช่วยป้องกันผื่นภูมิแพ้

5.หลีกเลี่ยงสารหรือสิ่งระคายเคืองต่อผิว เลี่ยงฝุ่นควันหรือมลพิษทางอากาศ ไรฝุ่นจากที่นอน หมอน ผ้าห่ม รวมทั้งแมลงสัตว์กัดต่อย

พญ.นวลรัตน์ หาญศิริพันธุ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็ก และโรคผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3

นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือนเมษายน 2559

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Save