AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคหน้าฝนในเด็ก ที่พ่อแม่ควรระวัง

โรคหน้าฝนในเด็ก

จากสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตก กระจายความเปียกชื้นไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ถือเป็นฤดูร่าเริงของเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด โรคหน้าฝนในเด็ก เพราะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากภูมิต้านทานร่างกายยังไม่แข็งแรง อาจติดเชื้อได้ง่าย

โรคหน้าฝนในเด็ก ที่พ่อแม่ควรระวัง

นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงโรคหน้าฝนที่เด็กๆ เสี่ยงมากที่สุดเอาไว้ ดังนี้

1.ไข้หวัดใหญ่

โรคหน้าฝนในเด็ก โรคนี้พบบ่อยในทุกเพศทุกวัย เกือบทั้งปี เพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ซึ่งเป็นมากในช่วงหน้าฝน เด็กจะมีอาการตัวร้อน 2 – 3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่น แตกต่างจากหวัดธรรมดาตรงที่อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน และอันตรายถึงชีวิต

ประเทศไทยพบไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นโรคที่กลายพันธุ์มาจากไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ได้รับเชื้อจากสัตว์ เช่น นก หรือหมู ความรุนแรงของโรคไม่ต่างกันมากนัก

อาการ มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ เด็กอายุน้อยวกว่า 5 ขวบ หรือมีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน มีโอกาสเสี่ยงอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น

การป้องกัน ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรฉีด 1-2 เดือน ก่อนฤดูกาลระบาดของโรคทุกๆ ปี สามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ถ้าเป็นแล้วให้หลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย สวมหน้ากาก ล้างมือ ทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย จะช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้

 

2.มือ เท้า ปาก

เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะฤดูฝน พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน – 3 ปี อาการมักหายไปเอง 3 – 10 วัน ติดต่อทางการไอ จาม น้ำลาย อุจจาระ มีระยะฟักตัว 3-6 วัน พบเชื้อทางน้ำลาย 2 – 3 วัน ก่อนมีอาการจนถึง 1 – 2 สัปดาห์หลังมีอาการ

อาการ มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางคนอาจมีผื่นที่ขา เมื่อเป็นแล้วเด็กบางคนจะรับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ เพราะเจ็บปากมาก แม่แต่น้ำลายก็ไม่กลืน ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ อย่าให้มีไข้สูงเกินไป เพราะอาจชักได้ บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คุณพ่อ คุณแม่ต้องสังเกตอาการ รีบพาไปหาหมอทันที

การป้องกัน ดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ไม่ควรให้ลูกอยู่ในสถานที่แออัด ควรมีกระติกน้ำ หรือแก้วส่วนตัวเอาไว้ไปใช้ที่โรงเรียน ฝึกให้ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน

3.ไข้เลือดออก

ยุงลาย เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ระบาดได้ทั้งปี โดยเฉพาะหน้าฝน เพราะน้ำขังมาก

อาการ ถ้าได้รับเชื้อแล้วไข้จะสูงเกิน 3 วันขึ้นไป กินยาลดไข้เท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง ตาแดง ปากแดง ส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้ปวดท้อง โดยเฉพาะชายโครงด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ เพราะตับโต จะมีอาเจียนร่วมด้วย พร้อมทั้งภาวะขาดน้ำ

การป้องกัน อย่าให้ยุงกัด จำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่ารอให้เกิดอาการรุนแรงแล้วรักษา เช่น ไข้สูงเกินไป ช็อก หรือเลือดออกง่าย ให้รีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที

อ่านต่อ “ไข้เลือดออก และอีสุกอีใส” คลิกหน้า 2

4.อีสุกอีใส

โรคนี้เกิดขึ้นบ่อย และเป็นกันบ่อย เมื่อเป็นแล้วจะติดกันเป็นทอดๆ

อาการ มีไข้ เป็นผื่นแดง มีตุ่มน้ำใสตามตัว โดยเฉพาะท้อง ต้นแขน ขา ใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ด และแผลเป็นขึ้นได้ มักหายไปเอง 2 – 3 สัปดาห์

การป้องกัน ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันอย่าให้ลูกเข้าใกล้ผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ หรือฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส เริ่มฉีดตั้งแต่ 1 ขวบ และกระตุ้นอีกครั้งตอน 4 ขวบ ซึ่งเป็นวัคซีนเสริม

5.ท้องเสีย ท้องร่วง

เกิดขึ้นเพราะลำไส้อักเสบ ติดเชื้อโรต้าไวรัส มาจากของเล่น อาหาร ของใช้ที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่ชอบเอาของเข้าปาก จากนั้นจะถูกขับออกมาทางอุจจาระ เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย เด็กแรกเกิด – 5 ขวบเกือบทุกคนเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว โรคนี้ทำให้เด็กป่วยและเสียชีวิตมาแล้ว 6 แสนคน

อาการ ท้องเสีย อาเจียน บางคนเป็นไข้สูง กินน้อย งอแง เกิดภาวะขาดน้ำ เด็กทารกควรดื่มนมแม่จะช่วยได้ระดับหนึ่ง ดูแลลักษณะการกิน การเล่น ต้องสะอาดปลอดภัย ไม่ควรพาไปเนอสเซอรี่เร็วเกินไป เพราะอยู่ด้วยกันเยอะๆ ยิ่งแพร่เชื้อได้ง่าย

การป้องกัน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน 2 ชนิด คือ วัคซีนที่มีเชื้อโรต้า 1 สายพันธุ์ และ 5 สายพันธุ์ เป็นวัคซีนแบบหยอดรับประทาน ใช้ได้ตั้งแต่ทารก 6-12 สัปดาห์

 

6.ไอพีดี และปอดบวม

เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงจากแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ปอดบวม ปอดอักเสบ (ปอดบวมคร่าชีวิตเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ อันดับ 1 ของโลก – WHO) ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด และเยื่อหุ้มสมอง มีความรุนแรงทำให้พิการ และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ

อาการ ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะงอแง ซึม และชัก ถ้าติดเชื้อในกระแสเลือด จะมีไข้สูง งอแง อาจช็อก และเสียชีวิต

การป้องกัน ฉีดวัคซีนให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ควรฉีดเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไม่เมื่อ 4, 6 และ 12-15 เดือน เด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ ที่มีโรคประจำตัว หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความเสี่ยงสูงการฉีดวัคซีนจึงสำคัญ ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สร้างอนามัยที่ดีให้ลูก ก็จะช่วยได้

ในหน้าฝนถ้าลูกมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ กินอาหารน้อย อาเจียน อ่อนเพลีย ขาดน้ำ มีปัญหาการหายใจ เช่น ไอบ่อย หายใจเร็ว ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที และป้องกันด้วยการล้างมือก่อนกินอาหารเพื่อสุขอนามัยที่ดี

เครดิต: ผู้จัดการออนไลน์

Save

Save