ไวรัสโรตา / ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของโรคลำไส้อักเสบในทารกและเด็กเล็ก พบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน – 2 ขวบ ทำให้เกิดอาการอาเจียนและท้องร่วงรุนแรง เสี่ยงต่อการขาดน้ำ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้องลูกน้อยด้วย วัคซีนโรต้า ตั้งแต่อายุ 2 เดือน
ในประเทศไทยพบว่าเด็กอายุ 1 ขวบ เป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าร้อยละ 60 และเด็กอายุ 2 ขวบ เป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าถึงร้อยละ 80 – 90 ซึ่งโรคนี้พบได้ทุกฤดู โดยเฉพาะฤดูหนาวในประเทศเขตอบอุ่น และเขตร้อน เช่น ประเทศไทย
ไวรัสโรตา เป็นเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายมาก ชอบแฝงตัวอยู่ตามของเล่นหรือสิ่งของ เมื่อเด็กจับแล้วนำมือเข้าปากก็ติดเชื้อได้แล้ว ซึ่งเชื้อไวรัสโรต้าค่อนข้างทน และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน ซึ่งหากลูกน้อยนำสิ่งของหรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคเข้าทางปากก็จะทำให้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าไปได้อย่างง่ายดาย
อาการที่บ่งบอกว่าลูกน้อยติดเชื้อ ไวรัสโรต้า
- หลังจากลูกน้อยได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการเริ่มต้นด้วยการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และอาเจียนซึ่งอาจมากถึง 7 – 8 ครั้งต่อวัน กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาการไข้และอาเจียนมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
- อาการที่พบได้บ่อยคือ อาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นฟองหลายๆ หน บางคนอาจมีน้ำมูกไหลและไอร่วมด้วย อาการท้องเสียอาจเป็นนานได้ถึง 7-10 วัน
ไวรัสโรต้า ไม่มียาหรือการรักษาโดยเฉพาะ เพียงดูแลตามอาการก็จะดีขึ้นจนหายไปได้เอง หากอาการรุนแรง จนทำให้กินอาหารไม่ได้ ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะช็อก และเสียชีวิตได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีช่วยเหลือลูกเบื้องต้นก่อนพาลูกไปหาหมอ
- ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ที่เหมาะสำหรับเด็กท้องเสีย อาจจะเป็นชนิดน้ำสำเร็จรูปหรือผงเกลือแร่ละลายน้ำต้มสุกก็ได้
- ให้ลูกจิบหรือดื่มน้ำเกลือแร่ทีละน้อยแต่บ่อยๆ ไม่ควรให้ลูกดื่มครั้งละมากๆ เพราะจะอาเจียนหรือถ่ายเหลวออกมาหมด
- ไม่ควรใช้น้ำอัดลมและน้ำเกลือแร่ชนิดขวดสำหรับนักกีฬาผสมให้ลูกดื่ม เพราะปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่ไม่เหมาะสมกับเด็ก
- ถ้าลูกมีภาวะขาดน้ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง คือ นอนซึม ไม่เล่น ไม่ร่าเริงเหมือนตามปกติ ปากแห้งมาก ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม เบ้าตาโหล ให้รีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที
วิธีการป้องกันลูกน้อยจากเชื้อไวรัสโรต้าที่สำคัญ คือ
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะติดเชื้อไวรัสโรตาก็จะไม่มีอาการหรือมีน้อย เพราะภูมิคุ้มกันในนมแม่ช่วยในการกำจัดเชื้อได้
- ล้างมือให้ลูกน้อยบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- รักษาสุขอนามัยของสมาชิกในบ้าน และบริเวณที่ลูกชอบเล่น รวมถึงหมั่นล้างของเล่นเสมอๆ
- เตรียมอาหารของลูกน้อยให้สุก สะอาด ถูกสุขลักษณะ โดยการผ่านความร้อน
- การรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความปลอดภัยสูง สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
อ่านต่อ>> วัคซีนโรต้า มีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร ต้องรับวัคซีนเมื่อไหร่บ้าง คลิกหน้า 2
ชนิดของ วัคซีนโรต้า
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า มี 2 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนชนิด Live attenuated human rotavirus vaccine มีชื่อการค้าว่า RotarixTM
ผลิตจากเชื้อไวรัสโรต้าที่มีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง โดยเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวที่ได้จากมนุษย์ ทั้งนี้วัคซีน Rotarix สามารถเรียกว่าเป็น Monovalent vaccine (วัคซีนจากเชื้อชนิดเดียว) ได้ เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ผลิตจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวที่แยกได้จากมนุษย์
รูปแบบวัคซีนนี้เป็นยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน (Oral suspension) ขนาด 1.5 มิลลิลิตรต่อโดส/ต่อการใช้ 1 ครั้ง บรรจุในหลอดยาพร้อมใช้ (Prefilled syringe)
- วัคซีนชนิด Bovine-human reassortant rotavirus vaccine มีชื่อการค้าว่า RotaTeqTM
ผลิตโดยการผสมกัน(Reassortment) ระหว่างเชื้อไวรัสโรต้าที่มีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงที่มีที่มาจากมนุษย์และจากวัว ทั้งนี้วัคซีน RotaTeq สามารถเรียกว่าเป็น Pentavalent vaccine เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ผลิตขึ้นจากเชื้อไวรัสโรต้าจำนวน 5 ชนิดที่ได้จากมนุษย์และจากวัว รูปแบบวัคซีนนี้ เป็นยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน (Oral suspension)เช่นกัน ในขนาด 2 มิลลิลิตรต่อโดส บรรจุในหลอดพลาสติก
ได้มีการศึกษาถึงประสิทธิผลของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพบว่า ทั้ง RotarixTM และ RotaTeqTM มีประสิทธิผลที่ดีในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า และมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ไม่แตกต่างกัน
กลไกการทำงานของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ คือ วัคซีนฯ จะเสริมสร้างให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ ที่เรียกว่าเป็นภูมิคุ้มกันแบบ Active immunization วัตถุประสงค์ของการให้วัคซีนนี้ คือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า และถึงแม้ว่าวัคซีนนี้จะป้องกันโรคนี้ไม่ได้ทั้งหมดในเด็กทุกคนที่ได้รับวัคซีนนี้ แต่ก็ทำให้ความรุนแรงของโรคนี้ลดลงได้
ผลข้างเคียงจากวัคซีนโรต้า อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้ภายหลังเด็กได้รับวัคซีนนี้ เช่น มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร ท้องเสียเล็กน้อย อาเจียนไม่รุนแรง งอแง มีลมในท้องมาก ซึ่งอาการจะหายไปเองภายใน 1-2 วันหลังได้รับวัคซีน แต่ถ้าอาการเหล่านี้รุนแรง ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลด่วน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตารางการรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า
- วัคซีนชนิด RotarixTM หยอดทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์
- ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน
- ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน
- วัคซีนชนิด RotaTeqTM หยอดทั้งหมด 3 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์
- ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน
- ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน
- ครั้งที่ 3 เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน
กรณีมารับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด หรือรับวัคซีนไม่ครบ
กรณีเด็กได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครั้งที่ 1 แล้ว แต่ไม่สามารถรับวัคซีนฯครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด การได้รับวัคซีนฯเข็มที่ 2 หรือ ที่3 ที่ล่าช้า มีหลักการให้ ดังนี้
- หากนึกขึ้นได้ว่าต้องได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครั้งที่ 2 หรือ 3 ในช่วงที่เด็กอายุยังน้อยกว่า 8 เดือน สามารถให้วัคซีนครั้งที่ 2 หรือ ที่3 ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นรับวัคซีนใหม่ตั้งแต่ครั้งแรก
- หากนึกขึ้นได้ว่าต้องได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครั้งที่ 2 หรือ 3 ในช่วงที่เด็กอายุเกินกว่า 8 เดือนแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนครั้งที่ 2 หรือ 3 ที่ลืมไป เนื่องจากไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้วัคซีนนี้ในช่วงอายุเกินกว่า 8 เดือน ทั้งนี้อาจขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแลเด็กพิจารณา
อ่านต่อ บทความแนะนำ>> ตารางวัคซีน ตั้งแต่แรกเกิด-12 ขวบ ปี 2559
วัคซีนนี้จะช่วยป้องกันเฉพาะโรคอุจจาระร่วง/ท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากสาเหตุอื่นได้ ภายหลังให้วัคซีนไวรัสโรต้าแก่เด็ก เด็กบางคนก็ยังอาจเกิดโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่รุนแรง
อ่านต่อ>> ตัวอย่างราคาวัคซีนโรต้า รพ.รัฐ และรพ.เอกชน คลิกหน้า 3
วัคซีนโรต้า อยู่ในประเภทวัคซีนเสริม คุณแม่มักจะสงสัยว่า วัคซีนโรต้าจำเป็นหรือไม่? คุณแม่บางท่านที่เลี้ยงลูกเองอยู่กับบ้านอาจมองว่าไม่จำเป็นเพราะมั่นใจดูแลความสะอาดภายในบ้านเป็นอย่างดีแล้ว โอกาสได้รับเชื้อมีน้อย ในขณะที่คุณแม่บางท่านที่ต้องส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่อาจมองว่าจำเป็นเนื่องจากเด็กหลายคนอยู่รวมกัน เล่นของเล่นร่วมกัน โอกาสได้รับเชื้อมีมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละครอบครัวในการพิจารณาว่าจะให้ลูกรับวัคซีนโรต้าหรือไม่ค่ะ
ตัวอย่างราคาวัคซีนโรต้า
Amarin Baby & Kids นำตัวอย่างราคาวัคซีนโรตามาฝากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนโรต้าให้แก่ลูกน้อย ดังนี้
- คลินิกจุฬาคิดส์คลับ รพ.จุฬาลงกรณ์
หยอด 2 ครั้ง ราคา 760 บาทต่อครั้ง
ราคา ณ วันที่ 12 พ.ย.59
วัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส Rotarix 2 doses เหมาจ่าย 2,200 บาท
วัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส Rotateq 3 doses เหมาจ่าย 2,500 บาท
(ไม่รวมค่าเวชภัณฑ์ ค่าแพทย์ และค่าบริการพยาบาลและค่าบริการผู้ป่วยนอก)
หมดเขต 30 มิ.ย. 60
แพคเกจไวรัสโรต้า (Rotarix) หยอด 2 ครั้ง ราคา 2,100 บาท (ไม่รวมค่าแพทย์ และค่าบริการโรงพยาบาล)
หมดเขต 30 ธ.ค. 59
2,400 บาท/แพ็กเกจ (ไม่รวมค่าแพทย์ ค่ายา และค่าธรรมเนียมอื่นๆ)
หมดเขต 31 ธ.ค. 59
แพคเกจไวรัสโรต้า (Rotarix) 2 ครั้ง
ราคา 2,190 บาท (ไม่รวมค่าแพทย์ และค่าบริการโรงพยาบาล)
หมดเขต 31 ธ.ค. 59
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก
ลูกจำเป็นต้องรับวัคซีนเสริมหรือไม่?
วัคซีนพื้นฐาน 6 ชนิดที่ลูกน้อยต้องได้รับ
เคล็ดลับ ปราบอาการเจ็บของลูกหลังฉีดวัคซีน
ขอบคุณข้อมูลจาก thaihealth.or.th, คุณหมอพรเทพ สวนดอก, haamor.com