คุณพ่อ คุณแม่หลายคนคงมีปัญหาเมื่อลูกติดจุกนมหลอก โดยเฉพาะตอนนอน และกังวลว่าลูกน้อยจะฟันไม่สวย การใช้จุกนมหลอกเป็นการทดแทนการดูดนม ช่วยบริหารกล้ามเนื้อปาก และป้องกันไม่ให้ลูกดูดนมมากเกินไป แต่ในข้อดีย่อมมีข้อเสีย เรามาดู ข้อดีข้อเสียของจุกนมหลอก
คุณพ่อ คุณแม่หลายคนใช้จุกหลอก เพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้งอแง และป้องกันลูกน้อยนำของเข้าปาก เช่น เส้นด้าย เสื้อผ้า หรือสิ่งของต่างๆ ที่มีภายในบ้าน จึงซื้อจุกหลอกมาให้ลูกดูดแทน โดยไม่รู้เลยว่าการดูดจุกหลอกมากเกินไปทำให้ขาดพัฒนาการ เพราะในวัยเด็กเล็ก เป็นวัยที่เรียนรู้ การกัด การแทะ การหยิบของเข้าปากด้วยตัวเอง เมื่อให้ลูกใส่จุกหลอก ก็กลายเป็นการปิดกั้นพัฒนาการของลูกน้อย
จุกนมหลอกคืออะไร?
จุกนมหลอกคืออุปกรณ์ที่ทำขึ้นมาเลียนแบบหัวนมของแม่ เพื่อให้ลูกน้อยผ่อนคลาย มีคุณพ่อ คุณแม่มากมายใช้จุกหลอกในการช่วยไม่ให้ลูกน้อยงอแง อายุวัยลูกน้อยที่เริ่มใช้งานมีตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงเด็กเล็ก โดยคุณพ่อ คุณแม่สามารถใช้จุกนมหลอกในช่วงที่ลูกยังปรับตัวไม่ได้ คือ 3 เดือนแรก เพื่อตอบสนองความต้องการเรื่องการดูดโดยไม่มีนมหรือลมเข้าท้องมากเกินไป
ข้อดีของการใช้จุกนมหลอก
1.ช่วยให้ลูกน้อยไม่งอแง หลับได้ง่าย บรรเทาความเจ็บปวดได้ คุณพ่อ คุณแม่มักใช้เมื่อลูกร้องไห้ไม่หยุด
2.มีประโยชน์กับทารกคลอดก่อนกำหนด สามารถเปลี่ยนการรับอาหารทางสายยางเป็นการดูดขวดแทนได้
3.จุกหลอก ช่วยป้องกันการตายเฉียบพลันในทารก (SIDS) แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน
4.เป็นการทดแทนความต้องการเรื่องการดูด และได้บริหารกล้ามเนื้อปาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “ข้อเสียของจุกหลอก และวิธีเลิก” คลิกหน้า 2
ข้อเสียของการใช้จุกนมหลอก
1.เพิ่มโอกาสการติดเชื้อในช่องหู เพราะจะเริ่มการติดเชื้อในช่องปากไปยังช่องคอ และเข้าสู่หูชั้นกลาง คุณพ่อ คุณแม่จึงควรให้ลูกใช้เฉพาะเวลาร้องงอแงเท่านั้น
2.อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อในช่องท้อง และบริเวณอื่นๆ ทำให้ลูกอาเจียน มีไข้ ท้องเสีย เป็นโคลิก ทำให้ต้องไปหาหมอบ่อยกว่าที่ควร
3.การใช้จุกหลอกนานๆ อาจทำให้เกิดปัญหาที่ฟัน สมาคมสุขภาพช่องปากของอังกฤษ (British Dental Health Foundation) แนะนำว่า ไม่ควรใช้จุกหลอกหรือให้ลูกดูดนิ้ว เพราะจะสร้างปัญหาให้ฟันที่งอกออกมา อาจต้องดัดฟันเมื่อโตขึ้น
4.ทำให้เกิดปัญหาในการพูด ทำให้ลูกไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการพูด ทำให้ลูกไม่กล้าพูด ทั้งที่ควรพูดได้แล้ว
5.การใช้จุกหลอกทุกวันอาจเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีแนวโน้มว่าลูกจะหย่านมเร็วขึ้น ทำให้คุณแม่มีน้ำนมไม่พอเมื่อลูกใช้จุกหลอก และอาจทำให้ลูกน้อยติดจุกหลอกจนไม่ยอมดูดนมแม่
ถ้าจะเลิกจุกนมหลอกต้องทำอย่างไร?
แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ แนะนำว่า เมื่อลูกเริ่มรู้เรื่อง ขยับแขนขาอย่างมีจุดหมาย และเริ่มเล่นอย่างอื่นเป็นแล้ว เราควรหยุดใช้ แต่ควรใช้วิธีเล่นกับลูก พาเขาเดินเที่ยวชมนกชมไม้ และตอบสนองความต้องการให้ถูกต้อง ไม่ใช่พอร้องปุ๊บก็เอาจุกหลอกใส่ปากปั๊บ เพราะอีกหน่อยลูกจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ถูกต้อง กลายเป็นว่าต้องพึ่งจุกนมหลอกตลอด ไม่ว่าจะหิว ง่วง เหงา หรือเบื่อ
ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ประเมินดูแล้วพบว่าตอนนี้ลูกวัย 3 เดือนเริ่มเลี้ยงง่ายแล้ว ก็ควรเลิกใช้ แล้วให้เวลาเล่นกับลูกมากขึ้น พาเข้านอนโดยการอุ้มหรือร้องเพลงกล่อมแทนการใช้จุกนมหลอก เดี๋ยวเขาก็ลืมได้เอง
เครดิต: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด, powder_MAMA
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่