AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ปัญหา และการดูแล “เด็กคลอดก่อนกำหนด”

ปัญหา และการดูแล "เด็กคลอดก่อนกำหนด"

เด็กคลอดก่อนกำหนด คือภาวะที่คุณพ่อ คุณแม่ทุกคนไม่ขอพบเจอ ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ แล้วคลอดลูกน้อยก่อน 37 สัปดาห์ นั่นถือว่ามีภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของลูกน้อย ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว มีผลแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ต่อลูกน้อย และเสี่ยงตายอีกด้วย

เด็กคลอดก่อนกำหนด คืออะไร?

คลอดก่อนกำหนดคือ ทารกที่คลอดออกมาก่อน ซึ่งน้อยกว่า 37 สัปดาห์ หรือ น้อยกว่า 259 วัน นับตั้งแต่วันแรกของวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย โดยปกติแล้ว เมื่อฝากครรภ์กับคุณหมอ คุณหมอจะคาดคะเนวันคลอดเอาไว้ให้ ซึ่งอายุครรภ์จะต้องครบ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน การคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาสำคัญที่พบในปัจจุบัน

ในประเทศไทยมีรายงานจากโรงพยาบาลศิริราช พบว่า มีทารกคลอดก่อนกำหนดสูงถึง 12.9% และ 6 – 7 คน ใน 100 คน จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ซึ่งส่วนใหญ่จะตัวเล็ก อวัยวะต่างๆ ทำงานไม่สมบูรณ์ เช่น ปอดไม่เติบโตพอที่จะหายใจ ตับยังทำงานไม่สมบูรณ์ ตัวเหลือง หรือดูดนมไม่เก่ง เป็นต้น

ปัญหาและการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

อันตรายของการคลอดก่อนกำหนด

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเพียงเล็กน้อย เช่น คลอดประมาณสัปดาห์ที่ 35 – 36 ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ทารกที่มีปัญหามากๆ คือเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมากๆ ทำให้มีน้ำหนักตัวน้อย หรือทารกที่คลอดประมาณ 32 – 33 สัปดาห์ ยิ่งมีปัญหามากขึ้น เพราะอวัยวะต่างๆ ยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงมากถึง 3 เท่า และพบว่าเกือบ 3 ใน 4 ของทารกแรกเกิด เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ด้วย

การคลอดก่อนกำหนด เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต และพิการสูง โดยมีปัญหาที่พบมากมาย เช่น น้ำหนักตัวน้อย การขยายตัวของปอดไม่สมบูรณ์ ทำให้มีปัญหาในการหายใจ มีปัญหาเลือดออกในสมอง เกิดการติดเชื้อ พัฒนาการด้านร่างกายไม่ดี สมองอาจมีความพิการได้ง่าย นอกจากจะต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานแล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ยังพบว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบการทำงานต่างๆ ในระยะยาวด้วย เช่น มีปัญหาด้านสติปัญหา สายตา สุขภาพไม่แข็งแรง แม้ว่าจะผ่านช่วงปัญหาเฉียบพลันมาแล้วก็ตาม เด็กก็มักจะอ่อนแอ ดูแลยาก รับประทานอาหารแล้วย่อยได้ยาก และเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กปกติ ถึงแม้ว่าจะสามารถเลี้ยงเด็กให้รอดมาได้ และส่วนใหญ่ก็ปกติดี แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่พิการ ปัญญาอ่อน สมองเสื่อม หูหนวก ตาบอด กลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “ปัญหาของเด็กคลอดก่อนกำหนด” คลิกหน้า 2

ปัญหาของเด็กคลอดก่อนกำหนด

1.ปอดไม่สมบูรณ์ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด ยิ่งอายุครรภ์น้อย ยิ่งเกิดได้มาก ทำให้หายใจน้อยลง

2.เลือดออกในสมองเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด เนื่องจากสมองของทารกก่อนกำหนดจะนิ่มมาก บวกกับขณะคลอดต้องผ่านการเขย่า เจอแสงสว่าง ความตกใจ ความร้อน-เย็นที่ต่างกัน ทำให้ความดันเลือดผันผวน อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก เกิดขึ้นได้ประมาณ 30% ของทารกก่อนกำหนดที่น้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม และไม่มีทางป้องกัน ถ้าเลือกออกมากก็จะเสียชีวิต

3.การติดเชื้อ ทารกคลอดก่อนกำหนดบางส่วนจะคลอด เพราะคุณแม่มีการติดเชื้อในช่องคลอด หรือน้ำเดิน ถุงน้ำแตก ทารกจึงมีภาวะติดเชื้อตั้งแต่เกิด ทำให้เสียชีวิตได้ กรณีนี้เกิดได้ไม่บ่อย แต่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายในช่วงขวบปีแรก เพราะกลไกป้องกันยังไม่สมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันยังอยู่ในระดับต่ำ คุณแม่จึงต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดให้มากเป็นพิเศษ

4.น้ำหนักตัวน้อย เด็กที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวน้อย คุณหมอจะดูแลอย่างใกล้ชิด ให้อาหารทางสายยาง รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยพัฒนาระบบสมอง และร่างกายของลูกน้อยได้

5.พัฒนาการช้า เด็กจะมีพัฒนาการช้าในช่วงแรก หลังจากนั้นพัฒนาการจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ การนั่ง คลาน จะเหมือนเด็กทั่วไป แต่อาจเดินได้ช้ากว่าประมาณ 2 เดือน และจะมีพัฒนาการเป็นปกติเมื่อมีอายุครบ 2 ขวบ คุณแม่ควรดูแลเรื่องสารอาหารให้ครบถ้วน เพราะทารกจะต้องการพลังงานมากกว่าปกติ เพื่อช่วยเสริมสร้างในการเจริญเติบโต

6.การมองเห็น เพราะความไม่สมบูรณ์ของเส้นเลือดจอประสาทตา ทำให้เปราะบาง และแตกง่าย อาจมีเลือด หรือแผลเป็นในจอประสาทตา เกิดการดึงรั้ง หรือจอประสาทตาหลุด ส่งผลให้บกพร่องในการมองเห็น ทารกที่อายุครรภ์น้อยกว่า 35 – 36 สัปดาห์ หรือน้ำหนักน้อยกว่า 2,000 กรัม จึงต้องตรวจตาก่อนออกจากโรงพยาบาล และตรวจซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 7 – 9 หลังคลอด

ปัญหาและการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

7.การได้ยิน ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินสูงกว่าปกติ จึงต้องได้รับการตรวจก่อนออกจากโรงพยาบาล และตรวจซ้ำเมื่ออายุ 3 – 6 เดือน เพราะมีผลต่อพัฒนาการด้านการพูด และภาษาได้

8.โลหิตจาง เพราะทารกมีธาตุเหล็กสะสมไว้น้อย และถูกนำออกมากทดแทนระดับฮีโมโกบินที่ลดลงจากการเจริญเติบโต ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง รุนแรง และยาวนานกว่าทารกทั่วไป

9.การหยุดหายใจในทารกแรกเกิด ในขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ ไม่จำเป็นต้องหายใจ หรือหายใจเองบ้าง แต่เมื่อคลอดออกมาใหม่ๆ บางครั้งทารกก็นอนเงียบเฉยๆ ขณะนอนหลับทารกจะหยุดหายใจ เสี่ยงต่อการเป็นโรคไหลตาย คุณพ่อ คุณแม่ต้องคอยดู และปลุกลูกให้หายใจเป็นระยะ

10.ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรก เพราะระบบทางเดินหายใจ และปอด ยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้หายใจเสียงดัง โดนเฉพาะขณะนอนหลับ อาจหายใจไม่สม่ำเสมอ อัตราการหายใจเปลี่ยนแปลงมากในขณะตื่น หรือนอนหลับ

11.โรคปอดเรื้อรัง เมื่อโรคปอดในระยะแรกหายแล้ว แต่ยังหายใจเองไม่ได้ ไอไม่เป็น หรือไม่ค่อยแรง เสมหะจึงออกมาไม่ได้ ทำให้ต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจไปจนกว่าทารกจะไอเองได้ บางครั้งอาจทำให้ปอดของทารกมีปัญหา เช่น โดนออกซิเจนไม่ได้ เพราะจะทำให้ไอเรื้อรัง แต่เมื่อนำเครื่องช่วยหายใจออก จะหายไปเองภายใน 1- 2 ปี เด็กที่มีปัญหามาก เมื่ออายุ 9 – 10 ขวบ ก็อาจจะเป็นโรคหอบได้

12.ลำไส้เน่าตายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นประมาณ 10% ของทารกที่เกิดมาตัวเล็ก ยิ่งตัวเล็กมากก็ยิ่งมีโอกาสสูง และยังไม่ทราบสาเหตุ และวิธีป้องกัน โดย 50% จะมีอาการเพียงเล็กน้อย คือ ลำไส้ขาดเลือดเพียงชั่วคราว ท้องอืด กินนมแม่ไม่ได้ประมาณ 7 – 10 วัน อีก 25% มีลำไส้ตาย แต่ไม่ทะลุ ต้องรอจนกว่าลำไส้จะรักษาตัวเองได้ และอีก 25% ที่เหลือ ลำไส้จะทะลุ แล้วทารกเสียชีวิต

13.เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการแทรกซ้อนตามมา เช่น หายใจลำบาก อุณหภูมิต่ำ หรือตัวเย็น หัวใจวาย เพราะเส้นเลือดหัวใจปิดไม่สนิท เกิดอาการชัก เกร็ง ตัวเหลือง ซีด และอื่นๆ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด” คลิกหน้า 3

การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

ขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล คุณหมอจะดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะมีน้ำหนักตัวมากกว่า 1.8 – 2 กิโลกรัม หรือสามารถลดการใช้ตู้อบ มีการดูดกลืนได้ดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ คุณหมอจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ และยังคงนัดเพื่อตรวจสุขภาพอีกครั้ง เมื่ออายุประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เมื่อกลับมาอยู่บ้าน คุณพ่อ คุณแม่ต้องดูแลลูกน้อย ดังนี้

1.การดูแลรักษาความสะอาด เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระวังให้มาก รวมถึงสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น ขวดนม ควรนึ่งหรือต้มทุกครั้งก่อนใช้ ทุกครั้งที่ให้นม หรือชงนม คุณพ่อ คุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาด เพราะทารกคลอดก่อนกำหนดมักมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป

2.จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ควรมีอากาศถ่ายเท ไม่อับชื้น เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายของลูก ไม่ร้อน หรือเย็นจนเกินไป ถ้าลูกน้อยมีอาการตัวร้อน ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

3.ให้ลูกกินนมแม่ คุณหมอจะแนะนำให้กินนมแม่เป็นหลัก เพราะย่อยง่าย และมีสารอาหารที่จำเป็น ลูกจะได้รับภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับช่วงที่อยู่ในครรภ์ คุณแม่อาจจะเสริมด้วยนมสูตรพิเศษสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ลูกน้อยน้ำหนักเป็นไปตามเกณฑ์ นมสูตรนี้ จะให้พลังงาน และเพิ่มสารโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ มากกว่าสูตรปกติ และเมื่อลูกน้อยอายุเกิน 2 สัปดาห์แล้ว ควรรับประทานวิตามินรวมเพิ่มด้วย โดยเฉพาะธาตุเหล็ก และแคลเซียม เพราะทารกคลอดก่อนกำหนดมักจะขาดแร่ธาตุเหล่านี้

4.การอาบน้ำ ให้คุณแม่ อาบน้ำให้ลูกน้อยเพียงวันละ 1 ครั้ง ถ้าวันไหนที่อากาศเย็น ก็ไม่ต้องอาบ ไม่ควรอาบน้ำบ่อยๆ เพื่อเป็นการรักษาพลังงานที่อยู่น้อยเอาไว้ จนกว่าลูกน้อยจะสามารถดูดนมได้มากกว่า 100 ซีซี และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 3 กิโลกรัมขึ้นไป จึงจะอาบน้ำได้ปกติ เหมือนเด็กทั่วไป

การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

5.ใส่ใจกับการชงนม เวลาชงนม คุณแม่ไม่ควรชงนมให้ข้นมากจนเกินไป เพียงแต่พยายามให้ลูกน้อยกินนมให้มากขึ้น โดยชงตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งโดยเฉลี่ยเด็กจะกินนมวันละ 150 – 180 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

6.ส่งเสริมพัฒนาการ ระบบสมองของทารกโดยทั่วไปจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 6 – 7 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด อาจมีพัฒนาการล่าช้า ส่วนใหญ่คุณหมอ จะคอยตรวจสอบพัฒนาการต่างๆ อยู่เสมอ เช่น การได้ยิน การมองเห็น คุณพ่อ คุณแม่อาจกระตุ้นให้ลูกน้อยได้ ด้วยเสียงดนตรีเบาๆ พูดคุยกับลูกบ่อยๆ รวมถึงการใช้สี และแสงอย่างเหมาะสม

7.ระบบหายใจ การหายใจของทารกอาจมีปัญหา เช่น มีน้ำมูก เสมหะอุดตัน อาจทำให้หายใจไม่สะดวก อกบุ๋ม หายใจดังครืดคราด คุณแม่ต้องพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เวลาอุ้มให้นมควรอุ้มให้สูงขึ้น เพื่อระวังการสำลักนม

8.สังเกตอาการที่บ่งบอกว่าไม่สบาย เช่น ถ้าลูกมีไข้ ตัวร้อน หรืออุณหภูมิสูงผิดปกติ คอยเช็ดตัวให้ลูกน้อยอยู่เสมอ สังเกตการติดเชื้อ น้ำมูกเขียวข้น หายใจเร็วเหมือนหอบ โดยเฉพาะถ้าไอ หรือมีน้ำลายฟูมปาก หน้าซีดขาว มีเสียงร้องเบาผิดปกติ ท้องอืด ท้องแข็งกะทันหัน ชัก ดูดนมน้อยลง น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น ตาเหลือง ตัวเหลือง ถ้ามีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

เครดิต: https://medthai.com, http://www.enfababy.com/

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!

สาเหตุและวิธีป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

ลูกดูดนมแม่ไม่ได้ ปัญหาใหญ่ของทารกป่วย/คลอดก่อนกำหนด

ทำไมทารกคลอดก่อนกำหนด ต้องเข้าตู้อบ และส่องไฟ?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

Save

Save