นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลให้ประชาชน เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วย การเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พบโรคไข้หวัดใหญ่สูงที่สุด
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 เมษายน 2559 พบผู้ป่วย 44,383 ราย จากทั่วประเทศ เสียชีวิต 3 ราย ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร พะเยา และลำปาง
- หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปีทุกคน
- ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น
- ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
- รวมถึงบุคลากรทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครทำลายสัตว์ปีกป้องกันโรคไข้หวัดนก
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปลอดภัย-ประสิทธิภาพดี
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดฉีด ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้วโดยผ่านกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยวัคซีนนี้ต้องฉีดซ้ำทุก 1 ปี ก่อนเข้าสู่ฤดูการระบาด
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
อาจมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดเมื่อย มักจะเริ่มไม่นานหลังฉีด อาการดังกล่าวควรหายภายใน 1-2 วัน การแพ้ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตมีน้อยมาก ถ้าหากเกิดขึ้นจะปรากฏภายใน 2 -3 นาที ถึง 2- 3 ชั่วโมงหลังฉีด โดยอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ
ที่สำคัญหลังรับการฉีดวัคซีนควรเฝ้ารอสังเกตอาการข้างเคียงในสถานพยาบาล อย่างน้อย 30 นาที และหากมีอาการข้างเคียง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง
การดูแลรักษาอาการข้างเคียง หากปวด บวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบด้วยผ้าเย็น หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม หากมีอาการรุนแรง หรือเป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันทีและแจ้งอาการให้ทราบโดยละเอียด