AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หลังคลอด แม่ยังผมร่วงไม่หยุด เป็นเพราะอะไร?

ตอนนี้ลูกสาวอายุ 5 เดือน และตัวคุณแม่เองก็มีอาการผมร่วงมาเป็นเดือนแล้ว เข้าเดือนที่สองก็ยังร่วงไม่ยอมหยุด ผู้ใหญ่บอกว่าเป็นเพราะลูกเริ่มจำหน้าแม่ได้ แต่เพื่อนบางคนให้ความเห็นว่าอาจเป็นเพราะแพ้ยาคุมกำเนิด (แบบฉีด) จริงๆ แล้วเป็นเพราะสาเหตุใดกันแน่

สาเหตุของอาการผมร่วงมากหลังคลอด (ทั้งคุณแม่และลูกน้อย) คือการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเนื่องจากการตั้งครรภ์และการคลอด โดยปกติคนเราจะมีผมหลุดร่วงไม่เกินวันละประมาณ 100 เส้น แต่ในช่วงตั้งครรภ์ซึ่งคุณแม่มีฮอร์โมนเอสโทรเจนสูงมาก หรือในคุณแม่ที่ใช้ยาคุมกำเนิดซึ่งมีฮอร์โมนเอสโทรเจน (ทั้งแบบกินและแบบฉีด) การหลุดร่วงของผมที่ครบกำหนดแล้วจะชะลอตัวลง ในช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงที่ใช้ยาคุมนี้ คุณแม่จึงมีผมที่ดกหนาและสวยงามเป็นพิเศษ

จนกระทั่งคลอดลูกแล้วหรือหยุดใช้ยาคุม ฮอร์โมนดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงจนอยู่ในระดับต่ำสุดในช่วงประมาณ 3 – 6 เดือน หลังคลอด ซึ่งผมของคุณแม่จะร่วงเป็นจำนวนมากจนบางผิดตา (เทียบกับช่วงที่ตั้งครรภ์) แต่จะไม่น้อยไปกว่าช่วงก่อนท้องค่ะ ยกเว้นคุณแม่บางคนที่ภาวะโภชนาการไม่ดีอยู่แล้ว หลังคลอดร่างกายจะยิ่งทรุดโทรมลง และไม่ได้บำรุงโดยการกินอาหารที่มีประโยชน์เพราะมีความเชื่อผิดๆ หรือกลัวจะแสลง ได้กินแต่ข้าวต้มกับเกลือแถมยังต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเลี้ยงลูก และไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียดสูงจนผมร่วงมากผิดปกติ วิธีแก้ไขคือคุณแม่ควรปรับตัวให้มีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้นและพักผ่อนให้เพียงพอ

ส่วนในกรณีที่ผมร่วงจากอิทธิพลของฮอร์โมน การร่วงจะลดลงจนเป็นปกติภายใน 1 ปี (ก็ไม่ได้ร่วงมาตั้ง 9 เดือน ช่วงนี้เลยทยอยร่วงเท่านั้นเอง) ไม่ต้องกินยาหรือบำรุงอะไรเป็นพิเศษ แต่อาจตัดให้สั้นลง จะได้ดูแลง่ายขึ้นและทำให้ผมไม่พันกันมาก จำนวนผมที่ร่วงเพราะเส้นผมถูกกระตุกขณะหวีจะได้ลดลง

แต่หากคุณแม่มีปัญหาผมร่วงมากหลังคลอดนานกว่า 1 ปี หรือผมบางผิดปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาหนังศีรษะล้านเป็นหย่อมๆ คงต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อแก้ไขค่ะ

สำหรับหนังศีรษะของลูกที่อาจแหว่งหายไปเป็นหย่อมๆ คล้ายหนูแทะตอนที่ผมร่วงหลุดไป หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว จะเริ่มมีผมเส้นใหม่ขึ้นมาแทนที่เอง ไม่ต้องกังวล และที่กล่าวกันว่าเป็นเพราะลูกจำหน้าแม่ได้นั้น เป็นเพราะผมมักจะร่วงมากในช่วง 3 – 6 เดือนหลังคลอด ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกมีพัฒนาการมากขึ้นเริ่มยิ้ม คุย และมีปฏิสัมพันธ์กับคุณแม่ได้แล้วนั่นเอง

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ภาพ: shutterstock