อาการ แพ้โปรตีนนมวัว เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับโปรตีนบางชนิดในนมวัว อาจเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่ เพราะคุณแม่ดื่มนมวัวบำรุงครรภ์ หรือเข้าสู่ร่างกายหลังจากคลอดแล้ว ซึ่งทารกยังมีข้อจำกัดเรื่องการย่อยอาหาร และภูมิคุ้มกันในลำไส้ที่ไม่แข็งแรง
โปรตีนในนมวัวเมื่อเข้าไปสู่ในกระแสเลือด อาจไปกระตุ้นร่างกายของทารกที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติแพ้นมวัวในครอบครัว หรือแม่ดื่มนมวัวขณะตั้งครรภ์ สร้างภูมิต่อต้านชนิดผิดปกติขึ้นในร่างกาย ไวต่อสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ซากแมลงสาบ เกสรหญ้า ดอกไม้ รังแค สุนัข แมว นก ภูมิแพ้จากอาหาร เช่น นมวัว ถั่ว ไข่ อาหารทะเล
พญ.ภาสุรี แสงศุภวานิช กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากสถิติเด็กไทยเกิดปีละประมาณ 8 แสนคนต่อปี การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน เพียงร้อยละประมาณ 20 % เพราะฉะนั้นจะมีเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยนมวัวประมาณ 6 แสนคน และมีเด็กแพ้นมวัวสูงถึงปีละ 20,000 ราย
อาการแพ้นมวัว
ถ้าได้รับนมวัว หรือสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ภูมิต้านทานจะทำปฏิกิริยาทันที เกิดการเจ็บป่วยในรูปแบบต่างๆ ได้แก่
1.อาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง แพ้เหงื่อ เป็นผื่นแดงเม็ดเล็กคล้ายเม็ดทรายหยาบๆ บนใบหน้า แขน ขา ลำตัว สะเก็ดชันตุที่หนังศีรษะ คันเป็นๆ หายๆ หรือเรื้อรัง น้ำเหลืองเยิ้ม ผื่นลมพิษ
2.อาการแพ้ทางเดินหายใจ เช่น คันตา คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล เลือดกำเดาไหล มีเสมหะครืดคราดในลำคอ นอนกรน อ้าปากหายใจเสียงดังวี้ด หรือหอบหืด ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมอดีนอยด์อักเสบจนปิดกั้นทางเดินหายใจ กระพริบตาตลอดเวลา
3.อาการแพ้ทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องผูก แหวะนม ท้องอืด ปวดท้อง โคลิค ทำให้นอนน้อย นอนหลับยาก เลี้ยงยาก น้ำหนักขึ้นน้อย ลำไส้ไม่ดูดซึมอาหาร ท้องเสียบ่อยๆ ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ้าเป็นทารกคลอดก่อนกำหนดอาจติดเชื้อแทรกซ้อน ลำไส้เน่า ลำไส้ทะลุ ติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตในที่สุด
4.อาการแพ้อื่นๆ เช่น ช็อกรุนแรง ปากบวม หน้าบวม ตัวเขียว หายใจลำบาก ความดันตก และเสียชีวิต อาการเหล่านี้พบไม่บ่อย เป็นอาการซ่อนเร้น ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกกังวล และอาจใช้เวลานาน
เมื่อเด็กแพ้โปรตีนนมวัวจะส่งผลให้สมองพัฒนาการช้า เรียนไม่รู้เรื่อง ง่วงซึม ขี้หงุดหงิด ก้าวร้าว กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น และซุกซน
อาการแพ้ทางผิวหนังแสดงออกมาเมื่ออายุยังน้อย เมื่อโตขึ้นอาจไม่แสดงอาการ ทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดว่าลูกหายแพ้นมวัวแล้ว จึงให้ลูกดื่มนมวัวใหม่ แต่ที่จริงแล้วบางคนอาจยังแพ้อยู่ แต่เปลี่ยนเป็นอาการแพ้ทางเดินหายใจแทน พ่อแม่ควรฉุกคิดสักนิด และหยุดให้ลูกดื่มนมวัว อาการป่วยก็จะดีขึ้นเอง
อ่านต่อ “วิธีรับมือเมื่อลูกแพ้นมวัว” คลิกหน้า 2
วิธีรับมือเมื่อลูกแพ้นมวัว
เมื่อพบว่าลูกแพ้นมวัว ควรรีบปรึกษาแพทย์ อย่าพึ่งรักษาด้วยยา ให้หลีกเลี่ยงนมวัวก่อนเป็นอันดับแรก สุขภาพของลูกเป็นสิ่งสำคัญ แล้วลองหานมที่ลูกสามารถดื่มได้โดยไม่แพ้
1.ให้ลูกดื่มนมแม่ ป้องกันโรคแพ้นมวัว
ในนมแม่มีภูมิคุ้มกัน ช่วยจับสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร ทำให้ไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ลดการติดเชื้อในลำไส้ แม่ไม่ควรดื่มนมวัวมากเกินไปในระยะตั้งครรภ์ และให้นมลูก เพราะจะทำให้ลูกแพ้นมวัวได้
2.นม HA ย่อยโปรตีนนมวัวไปบางส่วน
นมชนิดนี้อาจมีโอกาสที่ลูกจะแพ้โปรตีนในนมได้ จึงไม่แนะนำในการรักษาลูกที่แพ้นมวัว ถ้าไม่มีการย่อยโปรตีนอย่างละเอียดเท่านั้น เด็กที่แพ้นมวัว ต้องดื่มนมสูตรพิเศษที่ย่อยโปรตีนในนมได้ ราคาประมาณ 300-400 บาท/กระป๋อง อาจจะมีราคาแพงเกินไป และนมวัวที่มีการย่อยโปรตีนไปบางส่วนจะทำให้นมมีรสเปรี้ยว และขม ลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไปอาจไม่ยอมรับ
3.นมถั่วเหลือง และนมแพะ
นม 2 ชนิดนี้ลูกอาจมีโอกาสแพ้ได้ 30% อาการที่แสดงคือ เบื่อนม และท้องผูก จึงควรสังเกตเมื่อลูกดื่มนม 2 ชนิดนี้ ในทางการแพทย์จึงไม่แนะนำใช้นมถั่วเหลือง และนมแพะรักษาอาการแพ้นมวัว
4.นมจากเนื้อไก่แก้ไขโรคแพ้โปรตีนนมวัว
ลองให้ลูกรับประทานเนื้อไก่ และเติมสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นกับทารกจนได้เนื้อนมที่ละเอียดมาก นำมาแช่แข็ง -72 องศาเซลเซียส แล้วนำมาละลายให้ลูกรับประทาน ทารกสามารถดูดนมจากเนื้อไก่นี้จากจุกนมปกติได้
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ตรวจวัดคุณค่าสารอาหารต่างๆ พบว่า นมจากเนื้อไก่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนได้มาตรฐานสำหรับทารก
เครดิต: breastfeedingthai.com, manager.co.th, หมอชาวบ้าน, สหภัณฑ์นมผง, พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
Save
Save