AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกกินนมแม่ แต่ทำไมมีผื่นแพ้??

ลูกกินนมแม่ แต่มีผื่นแพ้ จะเป็นไปได้อย่างไร?? มาดูเคสจริงจากปัญหาของคุณแม่ท่านหนึ่งกันค่ะ

Q: ลูกชายอายุ 3 เดือน กินนมแม่ แต่แก้ม หน้าผาก และข้อพับมีผื่นแดง และผิวแห้งสากไม่รู้ว่าลูกแพ้อะไรพอแม่ไปทำงานให้นมสำหรับเด็กที่แพ้นมสลับกับน้ำนมแม่ลูกก็ไม่หายลูกเป็นภูมิแพ้ หรือมีโอกาสแพ้นมวัวใช่หรือไม่คะ?

ลักษณะอาการที่คุณแม่บรรยาย น่าจะเข้าได้กับ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง อาการที่สำคัญคือ คัน มีผื่นแดงแห้งเป็นขุย มักจะไม่มีตุ่มน้ำ ผื่นเหล่านี้จะติดเชื้อได้ง่ายกลายเป็นตุ่มหนอง และมีน้ำเหลืองไหลตำแหน่งที่เกิดโรคมักจะเป็นบริเวณ แก้ม คอ ข้อพับ ผื่นของเด็กมักจะเกิดที่ศีรษะ หน้า มีอาการกำเริบได้เป็นระยะๆ

ภาพ: scotdir.com

สาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  1. พันธุกรรม มีคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบ หรือมีอาการภูมิแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ เช่น แพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือ หอบหืด
  2. ความผิดปกติของชั้นผิวหนัง ขาดไขมันในชั้นผิวหนัง
  3. สารเคมีระคายเคือง เช่น สบู่ น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก
  4. อาหารกลุ่มเสี่ยง เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง แป้งสาลี ไข่อาหารทะเล ผลไม้รสเปรี้ยว
  5. อุณหภูมิน้ำที่ใช้อาบ ไม่อาบน้ำอุ่นอุณหภูมิห้องไม่ร้อนเกินไปจนเหงื่อออก ไม่หนาวเกินไปจนทำให้ผิวแห้ง ฝุ่นไรฝุ่น ขนสัตว์

อ่านต่อ “การดูแลรักษาเมื่อลูกทารกเป็นผื่น” คลิกหน้า 2

การรักษา ทำได้โดย

  1. ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง โดยเลือกครีม หรือโลชั่นที่เหมาะสมทาผิวเพื่อเพิ่มสารไขมันในชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวหนังทำงานได้ดีขึ้นโดยทำหน้าที่เป็นชั้นป้องกัน คงความชุ่มชื้นไม่ให้สูญเสียน้ำผ่านผิว และป้องกันไม่ให้สารระคายเคือง และสารก่อภูมิแพ้ผ่านผิวหนังเข้าไปทำให้เกิดการกำเริบของผื่น จะช่วยลดการใช้สเตียรอยด์ลงได้
  2. ลดอาการคัน โดยการกินยาแก้แพ้ แก้คัน
  3. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบ เช่น อากาศร้อน อากาศหนาวน้ำอุ่น สารเคมี อาหารกลุ่มเสี่ยง ฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์
  4. ลดการอักเสบของผิวหนัง โดยใช้ยาสเตียรอยด์ (ห้ามซื้อยาสเตียรอยด์ใช้เองเพราะมีผลข้างเคียงมาก ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณาเท่านั้น) หรือ ยาที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
  5. รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จากการเกาเพราะคัน

การเป็นผื่นผิวหนังอักเสบไม่จำเป็นต้องเกิดจากการแพ้อาหารเท่านั้น ถ้าสงสัยว่าอาจเกิดจากการแพ้อาหารอะไร ระหว่างที่ยังไม่ได้ปรึกษาแพทย์อาจลองหยุดเพื่อดูอาการเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ถ้าดีขึ้น ก็อย่าเพิ่งปักใจ

ให้ลองกลับไปกินแล้วดูอาการว่าเป็นอีกไหม ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อการรักษาที่ถูกต้องที่สุดค่ะ แต่หากเป็นการแพ้อาหารแบบรุนแรง ถึงแม้ว่าอาการดีขึ้นแล้วอย่าทดลองกลับไปกินอาหารที่สงสัยว่าแพ้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์นะคะ เพราะอาจแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ

 

เรื่อง : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ภาพ : thecambodiaherald.com, webmd.com, Shutterstock