โรค IPD เป็นโรคติดเชื้อที่รุนแรงในเด็กเล็ก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยในแต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตจากโรค IPD มากถึง 476,000 คนทั่วโลก ซึ่งการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และลดการเสียชีวิตได้ 2 – 3 ล้านคนต่อปี
IPD โรครุนแรง อันตรายถึงชีวิต
โรคนี้มีความรุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนี้ ถ้ารอดชีวิตมาได้ อาจจะมีความพิการ และมีความผิดปกติทางระบบประสาทหลงเหลืออยู่ หรืออาจมีปัญหาในการได้ยิน ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการ และการพูดในอนาคตได้
ไอพีดีคืออะไร?
โรคไอพีดี หรือ Invasive Pneumococcal Disease คือโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง อาศัยอยู่ในโพรงจมูก และคอของคนทั้งไป ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งในผู้ใหญ่โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ มีเพียงอาการไอ จาม แต่ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจติดเชื้อได้ง่าย อาการรุนแรง ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้
นอกจากนี้ โรค IPD ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเล็กป่วยเป็นโรคปอดบวมที่รุนแรง กรมอนามัยโลกพบว่า โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งในแต่ละปี จะมีเด็กทั่วโลกเสียชีวิตจากปอดอักเสบปีละมากกว่า 2 ล้านคน โดยจะมีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคปอดบวมทุกๆ 20 วินาที
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “เชื้อนิวโมคอคคัส” (Streptococcus pneumoniae) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค IPD เชื้อชนิดนี้พบได้ในทางเดินหายใจส่วนต้น (โพรงจมูกและคอหอย )
โดยในเด็กไทยปกติพบเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้น เฉลี่ยประมาณร้อยละ 35 โดยพบมากที่สุดในเด็กทารกและเด็กเล็กในช่วงอายุ 2-3 ปี
ส่วนในผู้ใหญ่พบเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่าในเด็กมาก เฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 ซึ่งปกติเชื้อที่อยู่ในลำคอจะไม่ก่อโรค แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เช่น เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะสามารถรุกรานเข้าไปในร่างกายทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่รุนแรงหรือที่เราเรียกกันว่า “IPD” ได้
- หากเชื้อแพร่ไปที่สมองจะทำให้เกิด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีอาการ ไข้สูง ชัก ซึมมาก อาเจียนบ่อย ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
- หากเชื้อแพร่ไปที่เลือด จะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว อาจมีภาวะช็อคและเสียชีวิตได้
- หากเชื้อแพร่ไปที่ปอด ก็จะทำให้เกิดปอดบวมหรือเรียกอีกอย่างว่าปอดอักเสบ เด็กจะมีอาการ ไข้ ไอ หอบเหนื่อย
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “เด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD สูงมาก ยิ่งเด็กยิ่งเสี่ยง จากข้อมูลพบว่า อุบัติการณ์เกิดโรค IPD ของคนทั่วไปอยู่ที่ 3.6 ต่อแสนประชากร แต่เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มีอุบัติการณ์เกิดโรค IPD อยู่ที่ 11.1 ต่อแสนประชากร และอุบัติการณ์เกิดโรคจะสูงขึ้นไปอีกในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี อยู่ที่ 33.8 ต่อแสนประชากร นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือดจาก IPD มีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 23%
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สาเหตุของโรคไอพีดี
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เด็กเป็นโรคปอดอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ปอดอักเสบที่รุนแรงมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อก่อโรคไอพีดี สามารถติดเชื้อได้ทั้งจากการสูดดม สำลักเชื้อที่อยู่บริเวณคอ หรือโพรงจมูก แล้วเข้าไปในหลอดลมส่วยปลาย หรือถุงลมปอด หรือแพร่กระจายทางกระแสเลือด เชื้อมีการแบ่งตัว ทำลายเนื้อปอด เกิดโรคปอดอักเสบ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์เสียสมดุล จึงทำให้ขาดออกซิเจน
โรคติดเชื้อไอพีดี ที่มีอาการรุนแรง คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจึงควรได้รับการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนดีกว่าการรักษา เพราะเชื้ออาจดื้อยาได้ และถ้ารักษาไม่ทัน อาจคร่าชีวิตลูกน้อยได้ใน 2 วัน ซึ่งอาการของโรคที่แสดงออกมามีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิด และสายพันธุ์ของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ เด็กที่มีโอกาสเป็นโรคปอดอักเสบ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรืออยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กจำนวนมาก มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคปอดร่วมด้วย
อ่านต่อ “ อาการ การรักษาโรคไอพีดี และการป้องกัน” คลิกหน้า 2
อาการของโรคไอพีดี
1.การติดเชื้อในระบบประสาท ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ซึม อาเจียน คอแข็ง เด็กทารกจะมีไข้สูง ซึม ร้องกวน กระหม่อมโป่งตึง และชัก ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิต การวินิจฉัยโรคต้องมีการตรวจเพาะเชื้อจากการเจาะกรวดน้ำไขสันหลัง
2.การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง ร้องกวน เชื้อสามารถกระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด อาจเกิดการช็อก และเสียชีวิตได้
3.การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอดอักเสบ เด็กมีไข้ ไอ หอบ ถ้ารุนแรงมากอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากภาวการณ์หายใจล้มเหลว
4.การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน คือ คออักเสบ หูน้ำหนวก (หรือหูชั้นกลางอักเสบ) และไซนัสอักเสบ ถ้ารักษาไม่ถูกต้องเชื้ออาจลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงและสมองได้
ลูกใกล้คนสูบบุหรี่ ยิ่งอาการรุนแรง
เด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากคนรอบข้าง จะทำให้ติดเชื้อไอพีดีรุนแรง ลุกลาม และแพร่กระจายมากขึ้น ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง และติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ สาเหตุที่ทำให้ลูกพิการ หรือเสียชีวิตนั้น อาจเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ทราบว่าลูกติดเชื้อไอพีดี เพราะเชื้อชนิดนี้แสดงออกมาเหมือนโรคทั่วไป จึงคิดว่าลูกน้อยเป็นไข้หวัดธรรมดา จึงปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา ซึ่งทำให้เด็กเสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว หรือเกิดพิการ ปัญญาอ่อนได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การรักษาโรคไอพีดี
สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง เช่น คออักเสบ น้ำหนวก หรือไซนัสอักเสบ สามารถรับประทานยาได้ แต่ถ้าติดเชื้อรุนแรง ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด พร้อมทั้งรักษาตามอาการ เช่น การหายใจ ยากันชัก เป็นต้น
การรักษาอาการรุนแรง จำเป็นต้องรักษาให้ทันท่วงที เช่น การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง อาจทำให้เด็กชัก เกิดความพิการทางสมอง ปัญญาอ่อนได้ หรืออาจเกิดการดื้อยา ทำให้ยากต่อการรักษา ทำให้เกิดความพิการ และเสียชีวิตได้
เด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคไอพีดี
1.เด็กที่มีสุขภาพดีอายุน้อยกว่า 2 ปี
2.เด็กที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคตับเรื้อรัง
3.เด็กที่ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานไม่ดี
4.เด็กที่อยู่สถานเลี้ยงเด็กกลางวัน
5.เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
6.เด็กที่มีน้ำไขสันหลังรั่ว
การป้องกันโรคไอพีดี
1.สอนให้ลูกน้อยมีสุขภาพอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ และปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งเมื่อไอ หรือจาม
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนที่ป่วย หรือเป็นไข้หวัด และให้ลูกกินนมแม่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด
3.ควรฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ยังเล็ก โดยแบ่งช่วงระยะในการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ คือ 2, 4 , 6 และ 12-15 เดือน สำหรับเด็กที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีมากกว่า 2 ขวบ ขึ้นไป ควรได้รับการฉีด 1 ครั้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไอพีดีที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง
เครดิต: สยามรัฐ, ผู้จัดการออนไลน์, ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
ตารางวัคซีน 2564 ปีนี้มีปรับรายละเอียด? ลูกต้องฉีดอะไร ตอนไหนบ้าง เช็กเลย!
รู้จักไอพีดี ภัยในเด็ก กับการป้องกันดีกว่าการรักษา
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Save
Save