AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลำไส้กลืนกัน ความเจ็บปวดของลูกน้อยที่บอกไม่ได้

อาการทารกลำไส้กลืนกัน

ลำไส้กลืนกัน เป็นภาวะที่ลำไส้ส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวเข้าไปในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า พบในเด็กอายุ 4 -12 เดือน และมักเกิดขึ้นในเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน เป็นอาการเฉียบพลัน เริ่มจากปวดเกร็ง ร้องไห้งอแงกระสับกระส่าย เพราะปวดท้อง บางครั้งมีอาเจียนร่วม

คุณแม่ท่านหนึ่งในสังคมออนไลน์ เล่าประสบการณ์ ลำไส้กลืนกัน ของลูกน้อยให้ฟังดังนี้

11 โมงเช้าวันอาทิตย์ น้องบ่นปวดท้อง แล้วก็กุมท้องตัวเอง แต่จะปวดเป็นพักๆ น้องจะเกร็งนิดๆ แล้วก็หายไปเอง เราเลยนึกว่าน้องคงหิวเพราะใกล้เวลากินข้าว

12.30 น. น้องทานข้าวปกติดี ช่วงทานก็ไม่ปวด ทานเสร็จก็แปรงฟันขึ้นนอนกลางวัน

13.30 น. น้องนอนได้ไม่ถึงครึ่งชม. ก็ร้อง บ่นปวดท้องอีกทีนี้ปวดมากขึ้น เริ่มดิ้น เกร็งตัว บิดตัวอยู่สักพักก็หาย เป็นแบบนี้เรื่อยๆ ทุก 10-15 นาที เราเริ่มกังวลเลย บอกสามีให้โทรนัดหมอ แต่เนื่องจากเป็นวันอาทิตย์หมอแถวบ้านจะหยุดต้องไปไกล แถมต้องนัดเวลา กว่าจะได้เวลานัดก็ตอน 17.00 น.

17.00 ไปหาหมอ

19.00 กลับมาบ้าน แฟนบอกหมอตรวจแล้วบอกว่ามีก๊าซในกระเพาะเยอะ ต้องให้น้องตดหรือเรอ ไล่ลมออกมา ให้ยาพารากับยาช่วยย่อย ระหว่างนี้น้องก็ปวดเป็นพักๆ ตลอด แต่ก็ยังไหว

20.00 น้องยังปวดเป็นพักๆ แต่ทีนี้ร่วมอาเจียนร่วมด้วย ครั้งหรือสองครั้ง ไม่บ่อย

21.00 ปวดท้องถี่ขึ้น อาเจียนทุกครั้งที่ปวด อาเจียนจนไม่มีอะไรออกมาเลย เพราะตอนเย็นน้องปวดท้องเลยกินอาหารได้น้อย เราเริ่มกังวลคิดว่าไม่น่าจะใช่ปวดท้องเพราะก๊าซในท้อง แต่คืนนั้นอยู่คนเดียวกับลูกๆ สามีไปทำงาน คนโตหลับ เราก็ปรึกษาเพื่อน 2 คนตลอด พยายามช่วย เอาโค้กให้ดื่มเพื่อไล่ลม นวดท้อง เอาน้ำมันเขียวย่านางให้กิน น้องเรอออกมาได้ แต่ก็ไม่ดีขึ้นเลย

22.30 เราเริ่มแน่ใจแล้วว่าไม่ใช่แค่ก๊าซ เลยโทรตามสามีให้กลับบ้านเพื่อพาน้องไปรพ. แต่กว่าสามีจะถึงก็เกือบเที่ยงคืน ระหว่างรอ น้องปวดบิด ตัวงอ แล้วก็อาเจียนตลอด

อ่านต่อ “ลำไส้กลืนกัน ความเจ็บปวดของลูกน้อยที่บอกไม่ได้” คลิกหน้า 2

23.15 น้องเริ่มซึม แล้วหลับนานขึ้น เราก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น คิดว่าน้องคงหายแล้ว โค้กกับยาที่ให้คงช่วยไล่ลมออกมาหมดแล้ว น้องถึงไม่ปวดอีก

เที่ยงคืน สามีกลับถึงบ้าน น้องหลับแล้วแต่สามีไม่วางใจเลยพาไปรพ.

ตี 1 แฟนเล่าให้ฟังว่า น้องซึม เพลียมาก แต่หมอก็ตรวจเร็ว เจาะเลือดหาน้ำตาลในเลือดผลก็ปกติดี เอ็กซ์เรย์ลำไส้พบอุจจาระตกค้างหมอเลยสวนก้นให้ จากนั้นก็รอดูอาการสักพัก น้องไม่ปวดอีกเลยให้กลับบ้าน

ตี 5 ครึ่งกลับบ้านนอน ปกติไม่ตื่นมาปวด

11 โมงเช้า น้องตื่น สักพักก็ปวดท้องอีก ทีนี้ปวดหนัก เหยียดตัว หน้าแดง เกร็งมาก เรารู้สึกแย่กลัวว่าจะติดเชื้อในกระเพาะหรือไวรัสลงกระเพาะ เลยให้สามีพาไปอีก เรารออยู่บ้านเพราะคนโตไป ร.ร. เราต้องรอรับกลับบ้าน

13.30 พาน้องไปรพ.

17.00 สามีโทรมาบอกว่า น้องไม่ได้มีก๊าซในกระเพาะ แต่เป็น “ลำไส้กลืนกัน” ตรวจพบเพราะอัลตร้าซาวด์3 มิติ ต้องรักษาเบื้องต้นทำให้ลำไส้ที่กลืนกันหลุดออก ถ้าไม่ได้ก็ต้องผ่าตัดให้เราเตรียมตัวไปเจอกันที่รพ. ไม่มีเวลาอธิบายมาก

17.40 เจอกับสามี แล้วขับรถตามสามีไปรพ. ที่ไม่ได้ไปกับรถรพ. เพราะต้องรอคิวประมาณชม. นึงถึงจะได้รถ สามีเลยไม่รอขอขับรถพาไปเอง ระหว่างทางน้องก็ปวดท้องตลอด ทีนี้ปวดมากก็ดิ้น บางทีก็ร้องกรี๊ด

18.00 ถึงรพ. หมอพยาบาลรับตัวน้องตรวจทันที

18.30 พยาบาลกับสามีพาน้องไปห้องเอ็กซเรย์เพื่อฉีดสารทึบรังสีเข้าไปแล้วใช้เครื่องฉีดความดันเข้าไปทำให้ลำไส้พองแล้วคลายตัวหลุดออกจากกัน ฉีดไปแล้วเอ็กซ์เรย์ไปด้วยดูว่าสารทึบรังสีผ่านไปได้มั้ย หมอทำอยู่ 3 รอบถึงจะผ่านได้ สรุปคือน้องไม่ต้องผ่าตัด

20.00 ออกจากห้องเอ็กซเรย์ รอห้องว่าง ระหว่างนั้นน้องหลับสนิท ทั้งฤทธิ์ยาและอ่อนเพลีย

22.00 เพิ่งได้ห้อง นอนรพ. อยู่ 1 คืนก็กลับบ้านได้แล้วค่ะ

อ่านต่อ “อันตรายของลำไส้กลืนกัน” คลิกหน้า 3

อันตรายของลำไส้กลืนกัน

รศ.นพ. รวิศ เรืองตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า อาการลำไส้กลืนกัน จะมีอาการปวดท้อง กลับมาสงบอยู่ชั่วขณะ และปวดท้องขึ้นมาอีก พร้อมกับอาการอาเจียน ในระยะหลังจะมีสีน้ำดีปน เนื่องจากมีการอุดตันของลำไส้ อาการปวดท้องจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ เมื่อลำไส้กลืนกันมากขึ้น จะเริ่มขาดเลือด ทำให้ถ่ายเป็นเลือด มีลักษณะสีคล้ำปนมูก และมีไข้ พร้อมทั้งมีอาการซึม

วิธีวินิจฉัยโรคมี 2 วิธี คือ อัลตร้าซาวด์ และสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี โรคนี้เป็นโรคที่พบค่อนข้างบ่อย อันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากเมื่อลำไส้กลืนกันนานๆ ก็จะเกิดลำไส้ขาดเลือด จนมีการเน่าตายของลำไส้ จึงต้องรักษาอย่างเร่งด่วน

การรักษาลำไส้กลืนกัน

1.การดันลำไส้ ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไปให้ออกมา โดยใช้แรงดันผ่านทวารหนัก อาจใช้การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี หรือก๊าซเป็นตัวดัน ถ้าทำสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด สามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1-2 วัน หลังจากสวนลำไส้ และกลับบ้านได้ภายใน 2-3 วัน โดยไม่มีอาการลำไส้กลืนกันอีก

2.การผ่าตัด ศัลยแพทย์จะใช้มือบีบดัดลำไส้ส่วนที่กลืนให้คลายตัวออกจากกัน มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีการเน่าตาย หรือแตกทะลุลำไส้ จำเป็นต้องผ่าตัดลำไส้ที่เน่าออก และต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน

โรคลำไส้กลืนกัน เป็นโรคร้ายแรง และเฉียบพลัน ปัญหาที่พบบ่อยคือ คุณพ่อ คุณแม่ ไม่ทราบว่าลูกป่วยเป็นโรคนี้ เมื่อเห็นลูกปวดท้อง อาเจียน มีไข้ ก็นึกว่าเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ ติดเชื้อ หรือโรคบิด ไปซื้อยามารับประทานเอง จนลำไส้เริ่มขาดเลือด ถ่ายเป็นมูกเลือด จึงพามาหาคุณหมอ ทำให้ได้รับการรักษาช้าเกินไป ดังนั้นถ้าลูกมีอาการเหล่านี้แล้ว รับพาไปหาคุณหมอเพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงทีนะคะ

เครดิต: Bee Favre, รศ.นพ. รวิศ เรืองตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, http://dynamic.psu.ac.th