AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

3 ข้อดีของ การกอดลูก สิ่งอุ่นใจที่สุดที่พ่อแม่ควรมอบ!

3 ข้อดีของ การกอดลูก สิ่งอุ่นใจที่สุดที่พ่อแม่ควรมอบ!

ทำไม การกอดลูก อ้อมกอดจากแม่ จึงเป็นสิ่งที่อุ่นใจที่สุดของลูกน้อย และเด็กที่ไม่เคยได้รับการกอดจากพ่อแม่จะเป็นอย่างไร นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มีคำตอบของเรื่องนี้มาฝาก

การกอดลูก สำคัญไฉน?

Q: มีข้อสงสัยว่า เพราะอะไรลูกถึงไม่ค่อยยอมให้อุ้ม อุ้มแล้วร้องไห้ แต่ตอนให้นมแม่ไม่ร้องค่ะ พอลูกร้องบ่อยๆ แม่เริ่มใจไม่ดี ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบแล้ว ตัวเองเป็นคุณแม่เต็มเวลา มีพี่เลี้ยงช่วยค่ะ

A: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ให้คำแนะนำเรื่อง การกอดลูก ว่า…

เด็กอายุขวบปีแรกทุกคนต้องการความรัก ความอบอุ่น และอิ่ม สามอย่างนี้สำคัญเท่าๆ กัน แม้จะมีหลักฐานให้เห็นเสมอๆ ว่าไม่เท่ากัน

ลูกลิงที่ไม่มีแม่ลิงอุ้มเลย แม้ว่าจะได้อาหารทางสายยางหรือป้อนเพียงพออย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่าลูกลิงจะผอมลงเรื่อยๆ จนตายไปในที่สุด ปรากฏการณ์นี้พบในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเช่นกัน ทารกหนึ่งขวบปีแรกที่อาหารพอเพียงแต่ขาดคนอุ้ม ในที่สุดก็จะโตช้าหรือไม่โตเอาเสียเลย หลายคนผอมลงเรื่อยๆ และไม่มีพัฒนาการ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าสมัยใหม่จึงเรียกร้องให้มีอาสาสมัครเข้าไปช่วยอุ้มทารก เล่นกับเด็ก และคอยอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟัง

ข้อดีของ การกอดลูก

จะเห็นว่าเรื่องอิ่มท้องนั้นสำคัญแน่แต่ก็อาจจะไม่สำคัญเท่ากับความอบอุ่น ความอบอุ่นเกิดได้จากผ้าห่มและการอุ้มกอด ความอบอุ่นจากผ้าห่มเป็นเรื่องสำคัญ เด็กอายุขวบปีแรกมีหน้าที่สำคัญคือเรียนรู้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นที่ไว้ใจได้ ทำให้ท้องอิ่มและปลอดภัย ท้องอิ่มหมายความว่ายามหิวก็มีนมมาให้ ปลอดภัยหมายความว่ายามร้อนก็มีพัดลมมา ยามหนาวก็มีผ้าห่มคลุม เวลามดกัดก็มีคนหยิบมดออกไป นี่คือสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย

1. ทารกหนึ่งขวบปีแรกจำเป็นต้องมั่นใจว่าสิ่งแวดล้อมปลอดภัย เมื่อมั่นใจแล้วจึงจะยอมพัฒนาการต่อไป

นั่นคือคว่ำ แล้วก็คลานไปข้างหน้า ตามด้วยนั่ง ยืนและเดินตอนต้นของขวบปีที่สอง ในทางตรงข้ามสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยย่อมทำให้มนุษย์คนหนึ่งพร้อมจะอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรและไม่ไปไหน ทารกก็มิใช่ข้อยกเว้น

ความอบอุ่นจากผ้าห่มว่าสำคัญแล้ว ความอบอุ่นจากการอุ้มกอดยิ่งสำคัญกว่า ผ้าห่มนั้นอุ่นกาย แต่อ้อมกอดแม่นั้นอุ่นใจ มีรายงานวิจัยทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าพ่อหรือแม่ที่เปลือยท่อนบนอุ้มกอดทารกที่เปลือยเช่นกันสามารถสงบทารกลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ  กล่าวคือ พื้นที่ที่เนื้อของพ่อหรือแม่สัมผัสกับเนื้อของลูกจะแปรผันตรงกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

2. การกอดลูก ช่วยให้จิตใจของทารกสงบลง

3. ส่งผลให้พฤติกรรมเลี้ยงยาก ร้องไห้งอแง แม้กระทั่งเด็กเล็กที่ดื้อมากสามารถสงบพฤติกรรมของตนเองลงได้เสมอ

การอุ้มกอดที่มีประสิทธิภาพคือการอุ้มกอดที่อุ่นใจ ผมคงให้ความมั่นใจแก่คุณแม่ได้ว่าการกอดเป็นการกระทำที่ทรงคุณค่าและไม่มีปัญหาอะไรหากเป็นการกอดที่ทำให้อุ่นใจ เคยเห็นคลิปคู่สมรสกอดกันแต่มือข้างหนึ่งเช็คสมาร์ทโฟนอยู่บ้างมั้ยครับ การกอดที่ใจเราอยู่ที่อื่นย่อมทำให้ความอุ่นใจที่อีกฝ่ายได้รับลดลงไม่มากก็น้อย

ผมได้แต่เชียร์คุณแม่ให้สำรวจตนเองสักครั้งว่าใจของเราเองสงบพอสำหรับการเลี้ยงลูกหรือเปล่า เวลาเราอยู่กับลูก เล่นกับลูก รวมทั้งอุ้มกอดลูก ใจของเราอยู่ที่เขาพอเพียงหรือไม่ หรือที่แท้แล้วใจของเราไปอยู่ที่อื่น เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญมากน้อยไม่เท่ากันในแต่เด็กแต่ละคน เด็กบางคนพอใจเพียงแค่คุณพ่ออุ้มเดินไปมา ส่วนเรื่องคุณพ่อจะอุ้มไปดูฟุตบอลไปโดยไม่กอดเลยเขาไม่ว่า ในขณะที่เด็กบางคนไม่พอใจเท่านั้น เขาต้องการการอุ้มกอดที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กคนอื่น คุณพ่อจะอุ้มด้วยดูหนังด้วยไม่ได้ ต้องอุ้มด้วยกอดด้วยร้องเพลงด้วยและทุ่มใจให้เขาด้วยถึงจะเพียงพอ

ผมแนะนำว่าให้อุ้มกอดต่อไปเรื่อยๆ อาจจะต้องสละเวลาอุ้มกอดเขามากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป อย่าปล่อยให้ความรู้สึก “ใจไม่ดี” มาทำให้ท้อถอยหรือเสียความมั่นใจ  เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้วจะยิ่งทำให้คุณภาพของการอุ้มการกอดลดลง ขอให้มั่นใจได้ครับว่าการอุ้มการกอดของคุณแม่สำคัญและดีที่สุด ชนะแน่นอน

ขอบคุณบทความโดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์
แผนกจิตเวชโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

อ่านต่อ >> “7 วิธีสร้างสัมพันธ์หากลูกเบบี๋ไม่ให้กอด” คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การกอดลูก ทำได้ตอนไหนบ้าง?

การกอดลูก ทั้งอ้อมกอดและการจุ๊บ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างอารมณ์ในทางบวก ทำให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง และเพิ่มความมั่นใจในตัวเองได้มากขึ้น ทีมแม่ ABK จึงอยากให้คุณแม่เพิ่มเติมความรักด้วย การกอดลูก กันค่ะ โดยสามารถกอดลูกได้ในช่วง

• ยามลูกเสียใจ

ดร.เคนเน็ธ รูบิน ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการมนุษย์จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ คอลเลจ  พาร์ค  อธิบายว่า “ส่วนใหญ่แล้วความพ่ายแพ้มักจะให้บทเรียนชีวิตกับเด็กๆ ได้มากกว่าชัยชนะ ดังนั้นเมื่อลูกทำผิดพลาดขอให้คุณเข้าใจและพร้อมจะอยู่กับลูกด้วยอ้อมกอดและความรัก”

• กอดเมื่ออยากกอด

ทุกช่วงเวลาที่ดี หรือแม้แต่เวลาเครียดๆ หรือหลังการทะเลาะครั้งใหญ่เวลาก่อนออกจากบ้านไปทำงาน ก่อนนอน หรือเวลาลูกเสียใจ หรือตอนลูกทำให้คุณหัวเราะได้ระหว่างรับประทานมื้อเย็น  ทุกช่วงขณะล้วนเป็นเหตุผลที่คุ้มค่าของการกอดแล้วละ หรือจะกอดในรถระหว่างรถติดไฟแดงก็ได้ ไม่มีข้อห้ามใดๆ เลย

• ปรับเปลี่ยนวิธีแสดงความรัก

ถ้าหากว่าลูกเริ่มรู้สึกเขินๆ เวลาถูกกอดหรือจูงมือ  คุณแม่อาจจะเปลี่ยนวิธีการแสดงออกเป็นการขยี้ผมยุ่งๆ ลูบหัวเบาๆ ชวนลูกเต้นรำ หรือยิ้มให้บ่อยขึ้นก็ได้เหมือนกัน

7 วิธีสร้างสัมพันธ์ หากลูกเบบี๋ไม่ให้กอด

อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กเล็กๆ ท่าทางไร้เดียงสา น่ามันเขี้ยว น่าฟัดน่าหอมทั้งนั้น แต่บางคนก็ไม่ชอบให้ใครมาถูกหรือสัมผัสตัวมากๆ (แม้แต่พ่อแม่!) ถ้าเข้าไปกอดเขาตอนนั้น เขาอาจจะแอ่นหลัง ดิ้น หรือแสดงท่าทางสีหน้าว่ารำคาญจนสังเกตเห็นได้ คุณแม่บางคนที่เจอแบบนี้อาจเสียความรู้สึกนิดๆ ว่า ถูกลูกปฏิเสธ แต่เรื่องนี้แก้ไม่ยากเพราะยังมีเทคนิคให้คุณสร้างความใกล้ชิดผูกพันกับลูกได้อีกหลายวิธี เช่น

1. ทดลองเปลี่ยนวิธีสัมผัสหรือกอด เด็กทารกบางคนอาจไม่ชอบการสัมผัสที่แผ่วเบาอ่อนโยนเป็นจังหวะ เพราะพื้นนิสัยเป็นเด็กขี้รำคาญ ลองเปลี่ยนวิธีสัมผัสให้มีการลงน้ำหนักมือมากขึ้น เช่น ลองลูบเนื้อตัวขณะที่สวมเสื้อผ้าให้เขา หรือเปลี่ยนมาเป็นการนวดสัมผัสแบบต่างๆ ดูก็ได้ เผื่อลูกจะชอบ

2. นอนเล่นด้วยกันบนพื้น แค่คุณนอนข้างๆ เขา แล้วพูดคุย หรือร้องเพลง เป่าปาก สายสัมพันธ์แม่ลูกก็แน่นแฟ้นขึ้นได้นะ

3. ฉวยโอกาสกอดเล่นขณะทำกิจกรรมอื่น เช่น ช่วงขณะเปลี่ยนผ้าอ้อมหรืออาบน้ำ เป็นโอกาสให้ได้ทั้งสัมผัสและเล่นกัน หากลูกไม่ชอบให้กอดอย่างเป็นทางการ ฉวยจังหวะนี้แหละเอาคืนเสียเลย

4. เต้น การกอดเฉยๆ อาจทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หากเคลื่อนที่ไปด้วยอาจช่วยได้ เช่น กอดและเต้นไปด้วยพร้อมกับร้องเพลงสนุกๆ ไปพลาง พอให้ลูกรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวบ้าง อาจช่วยลูกให้อึดอัดน้อยลงก็ได้

5. อ่านหรือเล่านิทาน การได้เห็นภาพและได้ยินเสียงของแม่ แม้อยู่ในอ้อมแขนคุณ จะช่วยให้เขาสบายใจ และลดความรู้สึกอึดอัดลงได้

6. ห่อผ้า การห่อผ้าทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย คราวนี้ใครจะกอดละก็ พอหยวนๆ ยอมกันได้

7. เปลี่ยนท่า บางทีท่าอุ้มทั่วไปที่ลำตัวด้านหน้าหรือด้านข้างของเขาหันเข้าหาตัวคุณแม่อาจทำให้เด็กอึดอัด (เพราะพุงเกิดชนพุง) ลองอุ้มหันหน้าออกให้ลูกสำรวจโลกรอบตัวบ้าง เขาอาจจะชอบแถมสัมผัสแม่ลูกก็ไม่จืดจางด้วย

เพราะการกอดลูก หนึ่งในการแสดงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีได้ทั้งสมอง ร่างกายและจิตใจ จึงถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกที่สำคัญ หากลูกไม่ชอบให้กอด พ่อแม่ก็สามารถสร้างสัมพัมธ์มอบความรักในแบบอื่นกับลูกดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ เพื่อให้ลูกได้รับรู้ถึงความรักที่พ่อแม่มีให้

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก : 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids